ไม่ว่าผ่านมากี่ยุคกี่สมัย เรื่องไวรัส เรื่องกลลวงต่างๆ บนคอมพิวเตอร์ก็ยังคงกลายเป็นสิ่งที่แพร่ระบาดไม่เสื่อมคลาย ล่าสุดแนวโน้มมาตกอยู่กับเฟซบุ๊ก บริการโซเชียลยอดนิยมที่มีผู้ใช้งานหลายล้านคน และเป็น “ตลาดใหญ่” สำหรับ Hacker เลยก็ว่าได้
จะว่าไปมันก็ไม่เชิงไวรัส แต่เป็นแอพฯ บนเฟซบุ๊กที่ส่วนใหญ่แล้วจะหลอกล่อด้วยข่าวที่เป็นกระแส หรือกระตุ้นต่อมความอยากรู้อยากเห็นของคน ให้คลิกเข้าไปเพื่อใช้งานแอพฯ หลังจากนั้นมันจึงแอบโพสต์ข่าวของตัวมันเองบนหน้า Wall ของผู้ใช้ เพื่อกระจายตัวมันไปยังเพื่อนๆ ของเราที่เห็นเหมือนกับว่าเราเป็นคนโพสต์หรือแชร์ข่าว และดำเนินไปเรื่อยๆ จนแพร่กระจายในที่สุด
หลายๆ คนอาจจะบอกว่า เปลี่ยนรหัสผ่านสิ วิธีการนี้เคยใช้ได้ผล แต่นั่นหมายถึงกรณีที่คุณมักเอาอีเมล์และรหัสผ่านไปกรอกตามเว็บต่างๆ แล้วโดนแอบล็อกอินเข้ามาใช้งานเพื่อส่งข้อความไปหาเพื่อน ซึ่งเป็นคนละรูปแบบกัน เพราะคราวนี้เป็นแอพฯ ที่อยู่ในเฟซบุ๊กของคุณเองต่างหาก
แล้วจะแก้ไขอย่างไรดีล่ะ เรามีวิธีการมาฝากครับ ไม่ยากอย่างที่คิด
แรกเริ่ม ระวังตัว
ก่อนที่จะติด แนะนำให้ระวังตัวกันก่อนนะครับ
1. หากเราเจอโพสต์ข่าวที่น่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็นจากเพื่อนที่เรารู้จัก หรือคนที่เป็นเพื่อนเราในเฟซบุ๊กแล้วไม่เคยคุยกันเลยก็ตาม ให้ระวังตัวเอาไว้ก่อน โดยเฉพาะข่าวที่กระตุ้นความอยากรู้อยากเห็นมากๆ เช่น คลิปลับดารา หรือเรื่องดราม่าต่างๆ ต้องระวังเป็นพิเศษ
2. ถ้าอยากรู้จริงๆ กดดูได้นะครับ ยังไม่ติด ซึ่งถ้าเป็นข่าวธรรมดาทั่วไป ก็จะเป็นลิงก์ไปที่เว็บที่เป็นต้นตอของข่าวนั้น แต่ถ้าหากเป็นหน้าต่าง app.facebook.com ขึ้นมาแบบนี้ แสดงว่านั่นแหละ เจอแจ็กพอตเข้าให้แล้ว ระวังตัวเพิ่มได้เลย
3. หน้าเว็บแอพฯ ของเฟซบุ๊กนั้นจะมีการขออนุญาตทำอะไรบางอย่างกับเฟซบุ๊กเรา เช่น เข้าถึงข้อมูลส่วนตัว สามารถโพสต์ข้อความบนหน้า Wall สามารถส่งข้อความไปยังเพื่อนๆ ของเรา หรืออื่นๆ อีกมากมายตามที่ได้ถูกตั้งค่าเอาไว้ ตรงจุดนี้ให้กด Decline, Cancel หรือกดปิดหน้าต่างไปเลยก็ได้ครับ เป็นการปฏิเสธทุกข้อหา
4. มันจะเด้งออกจากแอพฯ ข่าวที่อยากดูก็ไม่ได้ดู แต่ก็จะดีกว่าติดไวรัสแน่นอน
ติดแล้วทำไงดี
สำหรับคนที่ไม่รู้ คลิกไปแล้ว ติดไปแล้ว มีวิธีแก้ไม่ยากครับ และวิธีการนี้ยังสามารถใช้งานกับแอพฯ ต่างๆ ที่ชอบแอบมาโพสต์บนหน้า Wall เราได้อีกด้วยครับ
1. ให้ Login เข้าเฟซบุ๊กของคุณ หรือของคนที่มีปัญหาตามปกติ แล้วไปที่มุมขวาบนของหน้าต่างจะมีรูปเฟืองอยู่ คลิกออกมา จะมีเมนูให้เลือก
2. เลือกหัวข้อ Setting หรือตั้งค่า (หากใครใช้เมนูภาษาไทย) ซึ่งจะเข้าสู่หน้าการตั้งค่าต่างๆ ของเรา
3. ที่เมนูด้านซ้าย ให้เลือกหัวข้อ App เพื่อตั้งค่าสิทธิ์การเข้าถึงข้อมูลและการใช้งานของแอพฯ ต่างๆ
4. ในหน้าต่างนี้จะมีรายชื่อของแอพฯ ต่างๆ ที่เราได้เคยผูกไว้กับ Facebook ซึ่งจะสามารถตั้งค่าในแต่ละแอพฯ ได้เลยว่าต้องการให้มันใช้งานอะไรในเฟซบุ๊กของเราได้บ้าง โดยด้านหลังจะมีปุ่ม Edit
5. ถ้ามั่นใจว่าไม่ใช้แอพฯ นี้แล้วแน่ๆ สามารถกดปุ่มกากบาทที่อยู่หลังชื่อของแอพฯ ได้เลย แต่ถ้าต้องการแค่ปรับสิทธิ์ในการใช้งานของแอพฯ ก็สามารถคลิกที่ปุ่ม Edit แล้วแก้ไขตามต้องการได้เลย
เรื่องของเรื่องก็คือข่าวที่คุณเห็นมันอยู่ในรูปแบบของแอพฯ ที่บังคับให้คุณแชร์ข่าวต่อๆ ไป หรือเผยแพร่ลิงก์กันต่อไปเรื่อยๆ โดยที่คุณอาจจะไม่ได้ต้องการให้เป็นเช่นนั้น แต่ก็คงไม่สามารถโทษใครได้ เพราะคนที่อนุญาตให้มันทำก็คือตัวคุณเองตอนกดอนุญาตใช้งานแอพฯ เหล่านั้น
คราวหน้าถ้าอยากจะใช้งานอะไร ลองเสียเวลาอ่านสักนิด แม้ว่าจะเป็นภาษาอังกฤษ ก็คงมีอยู่เพียงไม่กี่คำ และเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องรู้ด้วย เหมือนกับอ่านฉลากยาก่อนจะโยนเข้าปากนั่นแหละครับ
ส่วนผู้พัฒนาแอพฯ ที่หากินกับความไม่รู้ภาษาอังกฤษ หรือความประมาทของผู้ใช้ ก็ขอให้หยุดเถอะครับ แม้ว่าจะเป็นช่องทางที่สามารถให้คุณได้ประโยชน์ แต่สังคมคงไม่น่าอยู่เท่าไหร่หรอกถ้ายังเป็นกันแบบนี้ จริงไหมครับ!