Printer อีกกหนึ่งอุปกรณ์ที่ต้องมีติดครัวเรือน แต่เพราะมีออกมามากมายหลายขนาดหลายยี่ห้อ ก็เลยไม่รู้ว่าจะเลือกยังไงให้เอามาใช้แล้วคุ้ม? เราได้รวบรวมวิธีเลือกซื้อมาให้คุณแล้ว จะเลือกซื้อ Printer ยังไงตามมาดูกันเลย
1. Usability: ซื้อมาใช้งานแบบไหน
ก่อนอื่นเราต้องรู้ก่อนว่าลักษณะการใช้งานเครื่องปริ้นของเราเป็นแบบใด พิมพ์สีเป็นหลัก พิมพ์ขาว-ดำ หรือพิมพ์รูป ถ้าหากไม่จำเป็นต้องพิมพ์งานสี เครื่องพิมพ์เลเซอร์หรืออิงค์เจ็ทขาวดำก็อาจจะเป็นทางเลือกที่เหมาะสมกว่า เพราะนอกจากจะให้ความเร็วที่มากกว่าแบบพิมพ์สีแล้ว ยังให้คุณภาพงานพิมพ์จำพวกเอกสารและกราฟิกที่ดีกว่าด้วย รวมไปถึงการพิมพ์งานทีละจำนวนมากๆก็ทำได้เร็วและแม่นยำกว่า
2. Network: เครื่องเดียวใช้ได้หลายคน
สิ่งที่ควรนึกถึงนอกจากลักษณะการใช้งานแล้ว ควรคำนึงถึงจำนวนเครื่องคอมพิวเตอร์ที่จะต้องพิมพ์งาน หากใช้เครื่องพิมพ์เดียว แต่ต่อกับคอมพิวเตอร์หลายเครื่อง เครื่องพิมพ์ที่ใช้งานร่วมกันก็ต้องเลือกเครื่องที่ต่อตรงเข้าเน็ตเวิร์กได้ ซึ่งควรตรวจสอบวิธีการเชื่อมต่อ รวมไปถึงซอฟต์แวร์ที่ใช้ในการควบคุมสถานะเครื่องพิมพ์ที่ให้มาด้วย ว่าสามารถใช้งานร่วมกับเน็ตเวิร์กที่จะนำไปใช้ด้วยได้หรือไม่
3. Printer memory: ปริ้นไป จำไป
เครื่องพิมพ์บางรุ่นมีหน่วยความจำภายในตัวเครื่อง ซึ่งบางรุ่นก็สามารถเพิ่มหน่วยความจำได้ บางรุ่นเพิ่มไม่ได้ และบางรุ่นก็อาจจะไม่มีหน่วยความจำมาให้เลยหรือมีแค่เล็กน้อย เพราะการทำงานทั้งหมดใช้หน่วยความจำของคอมพิวเตอร์ ดังนั้นในกรณีที่เราต้องการเลือกซื้อเครื่องพิมพ์แบบที่มีหน่วยความจำในตัว จึงควรตรวจสอบก่อนว่าหน่วยความจำที่มีมาให้เพียงพอต่อการใช้งานหรือไม่ หากไม่แน่ใจควรเลือกแบบที่เพิ่มหน่วยความจำได้
4. Comparison: ยี่ห้อไหน รุ่นไหนดีต้องเทียบดู
ก่อนซื้อเครื่องพิมพ์ควรมีการศึกษาเปรียบเทียบเครื่องพิมพ์แต่ละรุ่น ด้วยการดูงานพิมพ์แบบที่เราต้องการนำไปใช้งาน เพราะงานพิมพ์ด้านเอกสาร กราฟิก และรูปถ่ายนั้นจะใช้เครื่องพิมพ์ที่แตกต่างกันไป โดยปกติแล้วเครื่องพิมพ์แบบเลเซอร์จะพิมพ์งานพวกเอกสารได้ดีกว่าเครื่องพิมพ์แบบอิงค์เจ็ท ที่เหมาะกับการพิมพ์ประเภทรูปภาพและกราฟิก สิ่งที่ควรตรวจสอบและเปรียบเทียบก่อนการซื้อประกอบไปด้วย ความละเอียด, ขนาดของหยดหมึก (หน่วยเป็น pl), ความเร็วในการพิมพ์, ขนาดกระดาษที่รองรับ, หมึกพิมพ์ที่ใช้, การเชื่อมต่อ, การสั่งพิมพ์, ฟังก์ชั่นเสริมอื่นๆ และเทคโนโลยีใหม่ที่เสริมเข้ามา
5. Expense comparison: ซื้อมาถูก เติมหมึกแพง จะดีหรอ?
การใช้งานเครื่องพิมพ์สิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะตามมาคือ ค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม ไม่ว่าจะเป็น สายไฟ สายสัญญาณ หรือตลับหมึก สิ่งที่เราควรคำนึงถึงไม่ใช่แค่ราคาเครื่องที่แตกต่างกันเท่านั้น แต่ควรคำนึงถึงการใช้งานระยะยาวด้วยว่า การใช้งานเครื่องพิมพ์ยี่ห้อนี้ หากเปลี่ยนตลับหมึกจะมีค่าใช้จ่ายเท่าไหร่ เป็นต้น
6. Software update: อัพฯคอมใหม่ ปริ้นเตอร์เก่า เอาไงดี?
การเลือกซื้อเครื่องพิมพ์ ก่อนอื่นควรตรวจสอบเว็บไซต์ของทางผู้ผลิตด้วยว่า รุ่นของเครื่องพิมพ์ที่เรากำลังจะซื้อ ทางบริษัทผู้ผลิตมีการอัพเดตซอฟท์แวร์ในการใช้งานกับคอมพิวเตอร์หรือไม่ รวมถึงมีข้อมูลทางเทคนิคไว้ให้บริการด้วยหรือเปล่า เพราะซอฟท์แวร์ของเครื่องพิมพ์หากเก่ามากเกินไป บางครั้งก็ไม่สามารถใช้งานร่วมกับคอมพิวเตอร์ที่มีระบบปฏิบัติการใหม่ๆได้ จึงควรตรวจสอบให้ดีก่อนทำการซื้อ
7. Easy to get the supply: หมึกหมด หาง่าย เปลี่ยนคล่อง
ในการเครื่องงานเครื่องพิมพ์ มักจะต้องมีการเปลี่ยนอุปกรณ์ต่างๆระหว่างอายุการใช้งาน สิ่งหนึ่งที่จำเป็นต้องเปลี่ยนคือ ตลับหมึก ดังนั้นควรเลือกยี่ห้อหรือเครื่องพิมพ์ที่สามารถหาตลับหมึกเปลี่ยนได้ง่าย รวมไปถึงอะไหล่เมื่อต้องทำการซ่อม เพราะเครื่องพิมพ์บางยี่ห้อแม้จะราคาถูกแต่ถ้าหาตลับหมึกเปลี่ยนยากและแพงก็คงไม่น่าใช้เท่าไหร่
8. Brand & Retailer: ซื้อกับใคร ต้องหาเจอ
สิ่งสำคัญที่ควรนึกถึงคือ ควรเลือกผู้ขายหรือยี่ห้อที่น่าเชื่อถือ ในส่วนของตัวแทนจำหน่ายควรจะให้ข้อมูลกับลูกค้าอย่างละเอียด ครบถ้วนและถูกต้อง และควรมีช่องทางการให้บริการที่ติดต่อได้จริง รวมไปถึงศูนย์บริการที่จะสามารถนำสินค้าไปใช้บริการได้หากเกิดปัญหา
9. Prices: ราคา
หากมีงบประมาณอยู่ในใจแล้ว ก็จะสามารถตัดตัวเลือกและคำนวณได้ว่า printer รุ่นใดบ้างที่สามารถซื้อได้ และควรจะมีฟังก์ชันอะไรที่เพียงพอต่อการใช้งานในราคาระดับนี้ นอกจากนั้นยังใช้ราคาและฟังก์ชั่นเหล่านี้เปรียบเทียบแต่ละรุ่นแต่ละยี่ห้อได้อีกด้วย ซึ่งจะช่วยให้เราประหยัดและงบไม่บานปลายในการซื้อเครื่องพิมพ์
10. Warranty & After sale service: พังปุ๊บ ซ่อมได้ปั๊บ
ก่อนจะตัดสินใจซื้อ ควรตรวจสอบเรื่องการรับประกันสินค้าด้วย ว่ามีการประกันแบบไหน ลักษณะอย่างไร และมีเงื่อนไขอะไรบ้าง หรือมีการบริการอื่นๆ อีกหรือไม่ เช่น จัดส่งฟรี หรือสามารถออกใบกำกับภาษีให้ลูกค้าที่เป็นองค์กรหรือบริษัท รวมไปถึงมีช่องทางการติดต่อสำหรับบริการลูกค้าเมื่อสินค้ามีปัญหาหรือไม่ เช่น ทางอีเมล Call Center หรือศูนย์บริการตั้งอยู่ที่ใดบ้าง