รีวิว Wiko Upulse ทางเลือกราคาประหยัด โดดเด่นด้วยงานออกแบบและถ่ายภาพ

Wiko แบรนด์สมาร์ทโฟนจากฝรั่งเศส เดินหน้าส่งสมาร์ทโฟนรุ่นใหม่ “Wiko Upulse” ออกมาเอาใจกลุ่มผู้บริโภคที่มีงบประมาณจำกัดสำหรับเลือกซื้อสมาร์ทโฟน วันนี้ aripfan จะนำทุกท่านเข้าสู่ รีวิว Wiko Upulse มาดูกันซิว่าจุดแข็ง จุดด้อยที่มีในรุ่นนี้จะคุ้มค่ารึเปล่ากับราคา 4,990 บาท

รีวิว Wiko Upulse

Wiko Upulse สเปกมีดังนี้

  • ขนาดตัวเครื่องโดยรวม 153.5 x 77.5 x 8.5 มม., น้ำหนัก 167 กรัม
  • หน้าจอ IPS ขนาด 5.5 นิ้ว กระจกหน้าจอแบบ 2.5D ความละเอียด HD (1280 x 720 พิกเซล 267ppi)
  • ระบบปฏิบัติการ Android 7.0 Nougat ครอบทับด้วย User Interface จาก Wiko
  • ใช้งานได้ 2 ซิม ประเภท Micro SIM
  • ชิปประมวลผล MTK MT6737 แบบ Quad-Core ความเร็ว 1.3GHz
  • แรม 3GB, รอม (หน่วยความจำภายใน)32GB รองรับ microSD Card ได้สูงสุด 128GB
  • รองรับสแกนลายนิ้วมือได้ที่ปุ่มด้านหลังตัวเครื่อง
  • กล้องหลังความละเอียด 13 ล้านพิกเซล มาพร้อมแฟลช LED
  • กล้องหน้าความละเอียด 8 ล้านพิกเซล ,มาพร้อม Soft Light Selfie Flash
  • แบตเตอรี่ความจุ 3000 mAh
  • ถอดฝาหลังได้ สำหรับใส่ซิมและ microSD Card แต่ถอดแบตเตอรี่ไม่ได้
  • สีที่วางจำหน่าย ได้แก่ สีแดง, สีดำ และสีทอง
  • ราคา 4,990 บาท

การออกแบบ : ใครที่เห็นราคาแล้วเดาว่าตัว Wiko Upulse น่าจะมาพร้อมวัสดุที่ดูบอบบาง แต่ความจริงแล้วไม่ได้เป็นเช่นนั้นครับ ตัวเครื่องมีการผสมผสานของกระจก (ด้านหน้า), โลหะ (ขอบตัวเครื่อง) และพลาสติกประเภทโพลีคาร์บอเนต (ฝาหลัง) เป็นงานประกอบที่แน่นหนา ให้ความรู้สึกถึงความทนทาน เรียบง่าย พื้นผิวของฝาหลังมีลักษณะขัดมัน แฝงด้วยลายเส้นที่ให้ความรู้สึกเหมือนโลหะ ให้ความสวยงามเล็กๆ ไปอีกแบบ

เมื่อเอ่ยถึงฝาหลังแล้ว สำหรับ Wiko Upulse สามารถแกะฝาหลังได้ครับ จะมีร่องให้แกะอยู่บริเวณขอบด้านล่าง ติดกับพอร์ต USB แต่เวลาแกะอาจต้องใช้แรงสักเล็กน้อยครับเพราะติดมาแน่นหนาพอสมควร

หลังจากแกะฝาหลังออกมาแล้ว จะพบว่าสามารถใส่ซิมได้ 2 ซิม และ microSD Card ได้พร้อมกันในคราวเดียว แต่แปลกสำหรับรุ่นนี้ คือ แบตเตอรี่กลับถูกปิดผนึกไม่ให้แกะออกมาได้ (ไหนๆก็แกะฝาหลังได้แล้ว น่าจะให้ถอดแบตเตอรี่ได้ด้วย)

ด้านหน้า : ด้วยขนาด 5.5 นิ้ว มาพร้อมความละเอียด HD เป็นความละเอียดระดับพื้นฐานตามระดับราคา การแสดงผลที่กำหนดมาเป็นค่าเริ่มต้นอยู่ในระดับที่ผู้ใช้สามารถมองเห็นภาพได้ดีอยู่แล้ว แต่หากใครที่ต้องการเพิ่มความสว่าง เพิ่มความสดใสของสีก็สามารถเข้าไปกำหนดเองได้ในเมนูการแสดงผล

ส่วนต่างๆรอบตัวเครื่องคลิกชมได้จากภาพด้านล่างประโยคนี้ครับ

ซอฟต์แวร์ : พื้นฐานระบบปฏิบัติการของ Wiko Upulse เป็น Android 7.0 Nougat ตั้งแต่แรก ครอบทับด้วย User Interface จาก Wiko แอพพลิเคชั่นที่ถูกติดตั้งมาในเครื่องมีบริการของ Google มาให้ครบตามปกติ ที่เหลือจะเป็นแอพพลิเคชั่นจากทาง Wiko ด้วยไอคอนที่สดใส หลากสี มีแอพฯอื่นที่แฝงมาด้วย ได้แก่ 360 Security และ WIBOARD Folio ซึ่งถือว่าทาง Wiko ไม่ได้ยัดไส้แอพฯ อื่นมาเกินความจำเป็น ช่วยประหยัดพื้นที่หน่วยความจำ

แอพฯ ที่ถูกโหลดเพิ่มใหม่จาก Play Store จะถูกจัดวางอยู่ในหน้าโฮมโดยอัตโนมัติ หรือหากต้องการลบแอพฯที่โหลดมาก็สามารถทำผ่านหน้าโฮมได้ทันที ขณะเดียวกันในส่วนหน้าแอพทั้งหมดจะแบ่งพื้นที่ออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ แอพฯ ที่เราเรียกใช้ล่าสุด, แอพฯพื้นฐานที่ติดตั้งมากับเครื่องตั้งแต่เริ่มต้น และแอพฯอื่นๆ ซึ่งจะเรียงตามตัวอักษร

นอกจากนี้ตัว Wiko Upulse ยังสามารถเปิดใช้งานการควบคุมการใช้งานอื่นๆ ผ่านท่าทางการขยับมือได้ รวมไปถึงการวาดเป็นตัวอักษรภาษาอังกฤษเพื่อเปิดแอพฯได้ด้วย

สแกนลายนิ้วมือ : จดจำลายนิ้วมือได้สูงสุด 5 นิ้ว แต่พอใช้งานจริงใช้นิ้วที่ถนัดอย่างละข้างก็เพียงพอครับ การตั้งค่าก็ง่ายมากครับ ทำเหมือนสมาร์ทโฟน Android ทั่วไป อ่านลายนิ้วมือได้แม่นยำ สแกนลายนิ้วมือได้แม้ในขณะที่หน้าจอปิดอยู่

การใช้เพื่อความบันเทิง : จากสเปกของชิปประมวลผล MTK MT6737 แบบ Quad-Core ความเร็ว 1.3GHz คงไม่เหมาะนักที่จะเล่นเกมที่มีกราฟิกสูงๆ หรือต้องใช้การประมวลผลสูง เล่นเกมแข่งรถอย่าง Asphalt Xtream ก็ถือว่ายังสอบผ่านครับ แต่หากลองพวก ROV เกมแนวๆ นี้ภาพที่แสดงผลออกมาหรือความลื่นไหลเวลาแสดงเอ็กเฟ็กต์อาจจะไม่ดีนักครับ

ส่วนการใช้งานทั่วไปจำพวกท่องเน็ต เข้าเว็บต่างๆ แชท ทำได้ไม่มีติดขัด และการ Facebook หากเลื่อน News Feed ขึ้นลงเรื่อยๆ จุดนี้เองที่พบว่าจะเกิดอาการหน่วงเล็กๆ ครับ

กล้องถ่ายภาพ : ยกให้เป็นจุดเด่นในตัว Wiko Upulse ด้วยกล้องหลังความละเอียด 13 ล้านพิกเซล มีเมนูสำหรับถ่ายภาพที่จำเป็นสำหรับสมาร์ทโฟนมีมาให้ครบ ในส่วนโหมดถ่ายภาพหลักๆ แล้วจะมีจุดที่น่าสนใจอย่าง Super Pixel ที่ให้รายละเอียดภาพสูงถึง 52 ล้านพิกเซล ขนาดภาพอยู่ที่ 8,320 x 6,240 พิกเซล เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องนำภาพที่ถ่ายด้วยโหมดนี้ไปปรับแต่งหรือครีเอทงานศิลปะต่างๆ

นอกจาก Super Pixel แล้ว โหมดที่จำเป็นและน่าจะเป็นโหมดที่ผู้คนใช้บ่อยที่สุดก็มีให้ครบ เช่น โหมดหน้าสวย, ถ่ายภาพมืออาชีพ, ถ่ายภาพพาโนรามา, ถ่ายกลางคืน, QRโค้ด และถ่ายเร่งความเร็ว หรือ Time lapse

โหมดถ่ายภาพด้วยกล้องหลัง

อีกจุดหนึ่งที่น่าสนใจเป็นความสามารถในการตรวจจับใบหน้าบุคคลและสภาพแสง หากกล้องหลังจับโฟกัสที่ใบหน้าบุคคลจะมีโหมดถ่ายภาพบุคคลปรากฏให้เราเลือกใช้ หรือหากอยู่ในสภาพแสงน้อยก็จะปรากฏโหมดถ่ายภาพกลางคืนให้เลือกใช้เช่นกัน

โหมดถ่ายภาพด้วยกล้องหน้า

นอกจากนี้หลังจากถ่ายภาพแบบบุคคลแล้ว แท็บด้านล่างของภาพถ่ายจะมีโหมดเฟสบิวตี้ (ใบหน้างาม) ให้แก้ไขภาพใบหน้าได้อย่างที่เราต้องการ

กล้องหน้าให้มา 8 ล้านพิกเซล มีแฟลชมาให้ในตัว (Soft Light Selfie Flash) มีเมนูสำหรับถ่ายภาพที่จำเป็นสำหรับสมาร์ทโฟนมีมาให้ครบคล้ายๆ กับกล้องหลัง ในส่วนโหมดถ่ายภาพจะแบ่งออกเป็นถ่ายภาพบุคคล, โหมดหน้าสวย, ถ่ายภาพพาโนรามา, ถ่ายภาพกลางคืน และถ่ายเร่งความเร็ว หรือ Time lapse

ตัวอย่างภาพถ่ายด้วยกล้องหลัง 

โหมดปกติ

โหมดถ่ายภาพบุคคลจากกล้องหลัง

รีวิว Wiko Upulse กับบทสรุปในครั้งนี้

ด้วยราคาเพียง 4,990 บาท แต่ด้วยการออกแบบและการถ่ายภาพถือเป็นจุดขายสำคัญที่ทำให้รุ่นนี้มีความน่าสนใจ และยิ่งผู้ที่มีงบประมาณการเลือกซื้อสมาร์ทโฟนจำกัด ยิ่งเป็นตัวเลือกที่น่าพิจารณาเป็นพิเศษครับ อีกทั้งยังสามารถใช้งานได้สองซิมพร้อมๆ กับใส่ microSD Card ได้ด้วยเลย 

ส่วนของการถ่ายภาพภายใต้โหมดถ่ายภาพบุคคลไม่ว่าจะกล้องหน้าหรือกล้องหลัง จะต้องถือกล้องให้อยู่ในระยะใกล้พอสมควร เพื่อให้มิติของภาพมีลักษณะที่ชัดตื้นหรือหน้าชัดหลังเบลอ

ข้อมูลโดยสรุปจากเว็บไซต์ Wiko Thailand

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here