ถึงแม้ว่า Google Chrome จะมีความปลอดภัยและความเร็วที่ดีกว่าค่ายอื่น ก็ไม่ได้หมายถึงว่าจะไม่มีช่องโหว่หรือความเสี่ยงที่จะเกิดความเสียหายต่อผู้ใช้งานได้ เพราะภัยทางอินเทอร์เน็ตบางครั้งอาจจะเกิดจากตัวผู้ใช้งานเอง และไม่ได้เกี่ยวกับโปรแกรม Web Browser ดังนั้นเราควรเรียนรู้แนวปฏิบัติที่ดี ที่ผมพอจะสรุปมาได้ ที่ทำง่ายๆ และเกี่ยวกับผู้ใช้งานโดยตรง เพื่อให้ผู้อ่านสามารถนำไปใช้ ให้เกิดความเคยชิน ดังนี้
1. ล้างข้อมูลการท่องเว็บสม่ำเสมอ
สำหรับข้อมูลการท่องเว็บก็คือการบันทึกหรือจำเว็บไซต์ที่เราเข้าใช้งาน โดยข้อมูลที่ถูกบันทึกนั้นจะมีทั้งประวัติการเข้าชมเว็บไซต์ หรือ URL เว็บไซต์ ประวัติการดาวน์โหลด คุกกี้ แคช หรือการจำค่าในฟอร์ม เช่น การจำ Username และ Password ของระบบต่างๆ เป็นต้น เมื่อบันทึกไว้นานๆ ไฟล์ที่ถูกเก็บข้อมูลในส่วนนี้ก็จะมีขนาดใหญ่ขึ้น
ขั้นตอนการล้างข้อมูลการท่องเว็บ สามารถทำได้โดยเปิดโปรแกรม Google Chrome คลิกที่ “ปุ่มปรับแต่งและควบคุม” (อยู่มุมบนขวา) เลือกเมนู การตั้งค่า (ถ้าเป็นภาษาอังกฤษ คือ Options) คลิกเลือกเมนู “ประวัติการเข้าชม” หรือพิมพ์ chrome://history/ ในช่อง Address ก็ได้เช่นกัน คลิกปุ่ม “ล้างข้อมูลการท่องเว็บ”
จากนั้นจะปรากฏหน้าให้ท่านเลือกลบข้อมูลการท่องเว็บ ว่าต้องการลบข้อมูลในส่วนไหนบ้าง ผมแนะนำให้เลือกทั้งหมดเลยครับ และก็เลือกช่วงเวลาที่ต้องการลบ หากไปใช้งานเครื่องคนอื่นประมาณ 1 ชั่วโมงก็ควรเลือกลบย้อนหลังไปชั่วโมงที่ผ่านมา เป็นต้น โดยสรุปการลบข้อมูลการท่องเว็บควรทำเป็นประจำ อาจจะเดือนละ 1 ครั้ง หรือสัปดาห์ละครั้ง
2. การตั้งค่าการดาวน์โหลด
ค่าเริ่มต้นของการดาวน์โหลดบนโปรแกรม Google Chrome คือ โปรแกรมจะทำการดาวน์โหลดไฟล์ทุกรูปแบบ หรือทุกนามสกุลไปไว้ที่ C:\Users\USER\Downloads ซึ่งการดาวน์โหลดจะเป็นการดาวน์โหลดแบบอัตโนมัติ คือ แค่คลิกปุ๊บก็ดาวน์โหลดทันที แต่เราสามารถตั้งค่าไปไว้ที่ Folder อื่นได้ และตั้งค่าไม่ให้ดาวน์โหลดอัตโนมัติได้ ด้วยการเข้าไปตั้งค่าเหมือนกับข้อแรก คือ คลิก “ปุ่มปรับแต่งและควบคุม” > “การตั้งค่า” > “การตั้งค่าดาวน์โหลด” หรือเข้าแบบวิธีลัดด้วยการกรอก chrome://settings/ ในช่อง Address จากนั้นในช่องตำแหน่งไฟล์ที่ดาวน์โหลด: คลิกปุ่ม “เปลี่ยน” เพื่อเลือก Folder ที่จะเก็บไฟล์ที่ท่านดาวน์โหลด อาจจะไปเก็บไว้ที่ Partition อื่นที่ไม่ได้อยู่บน Partition เดียวกับ Windows เช่น Drive D: เป็นต้น
3. จัดการกับแถบบุ๊กมาร์ก
บุ๊กมาร์ก (Bookmark) คือ เครื่องมือในการบันทึกเว็บไซต์หรือลิงก์ที่เราเข้าใช้งานบ่อยๆ หรือลิงก์อาจจะยาวไป จำยาก ก็สามารถบุ๊กมาร์กไว้ได้เช่นกัน เครื่องมือนี้จะช่วยให้เราทำงานได้เร็วขึ้น ไม่ต้องไม่นั่งจำเว็บไซต์ หรือนั่งพิมพ์เว็บที่เราเข้าใช้บ่อย ผมจะแนะนำการนำแถบบุ๊กมาร์กมาโชว์ และการนำออก-นำเข้าบุ๊กมาร์ก ซึ่งทำได้ดังนี้
– นำแถบบุ๊กมาร์กมาโชว์ ปกติแถบบุ๊กมาร์กจะไม่ถูกโชว์ขึ้นมา ดังนั้นเราต้องไปตั้งค่าเพื่อนำแถบบุ๊กมาร์กมาโชว์ก่อน โดยทำการคลิกที่เดิมครับ 1.) ปุ่มปรับแต่งและควบคุม 2.) บุ๊กมาร์ก 3.) แสดงแถบบุ๊กมาร์ก
– นำออก-นำเข้าบุ๊กมาร์ก รูปแบบไฟล์บุ๊กมาร์กของโปรแกรม Google Chrome จะเป็นไฟล์ .html โดยมีขั้นตอนดังนี้ 1.) ปุ่มปรับแต่งและควบคุม 2.) บุ๊กมาร์ก 3.) ตัวจัดการบุ๊กมาร์ก จะเห็นว่าจะคล้ายๆ กับการนำแถบบุ๊กมาร์กไปโชว์ เพียงแค่เปลี่ยนไปคลิกที่ตัวจัดการบุ๊กมาร์ก จากนั้นจะปรากฎหน้าแสดงรายการบุ๊กมาร์ก ให้ท่านผู้อ่านเลือกจัดระเบียบ ดังรูป หากต้องการนำออก ก็คลิกเลือก นำออกบุ๊กมาร์กไปยังไฟล์ HTML… โปรแกรมก็จะให้เราบันทึกไฟล์บุ๊กมาร์กเป็น HTML และเมื่อต้องการนำเข้าก็คลิกเลือก นำเข้าบุ๊กมาร์กจากไฟล์ HTML… โปรแกรมก็จะให้ท่านเลือกไฟล์ HTML บุ๊กมาร์ก ดังรูป
4. ความเป็นส่วนตัว
สำหรับการตั้งค่าความเป็นส่วนตัวนี้จะเป็นการกำหนดสิทธิ์และรูปแบบต่างๆ เช่น การป้องกัน
ฟิชชิ่งและมัลแวร์ บริการเว็บเพื่อช่วยแก้ไขข้อผิดพลาดในการสะกดคำ หรือใช้บริการคาดเดาเพื่อช่วยเติมคำค้นหาและ URL เป็นต้น ซึ่งผู้ใช้งานสามารถเข้าไปตั้งค่าเพื่อเลือกใช้งาน หรือไม่ใช้งานได้ โดยเข้าไปในส่วนของ 1.) ปุ่มปรับแต่งและควบคุม 2.) การตั้งค่า 3.) ในส่วนของความเป็นส่วนตัว ส่วนที่ควรติ๊กถูกคือ 5 แถวบน ดังรูป
หากต้องการปรับแต่งค่าเพิ่มเติมในส่วนของการตั้งค่าเนื้อหาก็ทำได้เช่นกัน ซึ่งในส่วนนี้จะเกี่ยวกับ Pop-UP, Java Script การบล็อกรูปภาพจากบางเว็บ การอนุญาตคุกกี้ เป็นต้น โดยปกติแล้วค่าต่างๆ เหล่านี้จะถูกเลือกไว้ที่ตัวเลือก แนะนำ ถือเป็นค่าปกติ หากตัวเลือกส่วนใดไม่ใช่ค่าแนะนำก็ควรเปลี่ยนไปที่ค่าแนะนำ ดังรูปครับ
พี่มิ้งค์ คอมทูเดย์ “ข้อมูลจากเว็บไซต์ statcounter.com รายงานข้อมูลล่าสุดว่า Google Chrome มีผู้ใช้งานจากทั่วโลกมากเป็นอันดับ 1 ที่ 39.15% ส่วนอันดับ 2 คือ Internet Explorer ที่ 29.71% และอันดับ 3 และ 4 คือ Mozilla Firefox และ Safari”