ในช่วงนี้คณะกรรมการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) มีความเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง แม้การเมืองเปลี่ยนแปลง แต่ไม่ส่งผลกระทบใดๆ กลับยิ่งทำให้มีความชัดเจนมากขึ้น การเตรียมประมูลคลื่นความถี่ 1800 MHz และ900 MHz ที่มีกำหนดจัดขึ้นราวเดือนสิงหาคม 2557 และพฤศจิกายน 2557 ยังคงเดินหน้าต่อ โดยภายหลังการหมดอายุสัมปทาน หลังจากที่กสทช.ได้จัดเวทีรับฟังความคิดเห็น(ประชาพิจารณ์) การประมูลไปเมื่อปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ขณะเดียวกันในทางปฏิบัติตัวเลขของผู้ที่ยังค้างการโอนย้ายเลขหมายคลื่น 1800 ยังมีสูงอย่างน่ากังวล!
อย่างที่ทราบกันดีว่า ภายหลังสัญญาสัมปทานการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ระบบเซลลูล่า DIGITAL PCN PERSONAL COMMUNICATION NETWORK 1800 ที่บริษัท กสท. โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ทำไว้กับ บริษัท ไวร์เลส คอมมูนิเคชั่น เซอร์วิส จำกัด (บริษัท ทรู มูฟ จำกัด) และบริษัท ดิจิตอล โฟน จำกัด (GSM1800) สิ้นสุดลงตั้งแต่วันที่ 15 กันยายน 2556 จนถึงขณะนี้ผ่านมาเกือบ 9 เดือนหรือนับถอยหลังถัดจากนี้เหลือเวลาเพียง 3 เดือนเท่านั้น แต่พบว่า ตัวเลขผู้ใช้บริการที่มีการใช้งานเป็นประจำที่ยังคงค้างในระบบในส่วนของทรูมูฟ มีอยู่กว่า 3,200,000 เลขหมาย ตัวเลขผู้ใช้งานน้อยมากหรือไม่มีการใช้งาน มีกว่า 2,300,000 เลขหมาย ในขณะที่ผู้ที่ยังคงค้างโอนของบริษัท ดิจิตอลโฟน จำนวน 5,950 เลขหมาย
ที่ผ่านมา กสทช.ได้เร่งประชาสัมพันธ์ให้ข้อมูลและการเสนอแนะให้เจ้าของเลขหมายและประชาชนทั่วไป ตรวจสอบดูว่า ตัวเองอยู่ในข่ายหรือไม่ หากใช่ก็ให้รีบดำเนินการโอนย้ายเลขหมายโดยทันที เนื่องจากหากชะล่าใจรอเวลาไปโอนใกล้ๆช่วงเวลาเส้นตายมาตรการเยียวยาผู้ใช้คลื่นใน 15 กันยายน 2557 ที่จะถึงนั้น ดูจะเป็นการสุ่มเสี่ยงเกินไป เพราะขีดความสามารถในภาคปฏิบัติการโอนย้ายเลขหมายปัจจุบัน มีเพดานอยู่ที่ 60,000 รายต่อวันก็เต็มที่แล้ว ซึ่งถ้าโอนกันเต็มกำลังความสามารถจากวันนี้ไปจนถึงวันสุดท้ายของมาตรการเยียวยา ก็ยังเรียกว่า ฉิวเฉียดทีเดียว เมื่อเทียบกับจำนวนผู้ค้างโอนที่ยังเหลืออยู่
ตามขั้นตอนปฏิบัตินั้น บริษัทผู้ให้บริการทั้ง 2 ราย ได้ประกาศแจ้งให้ลูกค้าทราบแล้ว ถึงการสิ้นสุดการให้บริการคลื่น 1800 โดยทำในหลายช่องทาง ทั้งเว็ปไซต์ GSM 1800 และ true move, ทั้งโดยจดหมายแนบบิลค่าใช้บริการโทรศัพท์, และรวมทั้งผ่าน SMS ของผู้ใช้บริการ รวมถึงการทำโปรโมชั่นทางการตลาด เพื่อกระตุ้นให้ผู้ใช้บริการโอนย้าย
อย่างไรก็ตาม ปัญหาอาจเกิดจากหลายส่วน บางคนไม่สนใจ ในขณะที่บางส่วนเกิดจากการที่ผู้ใช้ไม่ได้ซื้อ ผู้ซื้อไม่ได้ใช้ก็มี ซึ่งโอเปอร์เรเตอร์ทั้ง 2 ค่าย มีการเสนอให้สิทธิในการอัพเกรดในเครือข่ายเดียวกันโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย แถมเสนอโปรโมชั่นต่างๆนานา แต่หากไม่พอใจ ลูกค้าจะต้องการย้ายค่ายเบอร์เดิมก็สามารถทำได้เช่นกัน ด้วยการเสียค่าธรรมเนียมเพียง 29 บาท แต่การตลาดที่แข่งขันกันดุเดือดขณะนี้ บางทีนอกจากไม่เสียค่าโอนแล้ว อาจมีโปรโมชั่นของแถมต่างๆมายั่วใจก็ได้ ขอเพียงดึงดูดลูกค้ามาอยู่ในระบบเป็นพอ
ในเรื่องนี้ พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ รองประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ในฐานะประธานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) กล่าวว่า ผู้ใช้เลขหมายคลื่นความถี่ 1800 ส่วนใหญ่เป็นลักษณะการใช้งานโทรออก-รับสาย และส่ง SMS เป็นหลัก การใช้งานไม่สลับซับซ้อน ไม่ใช่การส่งภาพหรือใช้อินเตอร์เน็ต ปัญหา คือ ผู้ใช้เลขหมายบางคนไม่ได้เป็นคนซื้อโทรศัพท์หรือดำเนินการเอง เช่น ลูกซื้อให้พ่อ-แม่ คนใช้งานอาจไม่ได้ใส่ใจหรือติดตามข่าวสารว่า เลขหมายของตัวเองอยู่ในข่ายที่ต้องโอน
อย่างไรก็ตามด้วยระยะเวลาที่เหลือเวลาอีกประมาณ 3 เดือนเศษ หากทยอยโอนย้ายเลขหมายก็จะสามารถทำได้ทัน แต่หากรอเวลาแล้วไปเร่งทำการในช่วงใกล้ๆเดทไลน์วันที่ 15 กันยายน 2557 สุดท้ายของเวลามาตรการคุ้มครองผู้บริโภค คิดว่าคงไม่สามารถทำการได้ทัน จึงอยากมาเตือนกันในช่วงโค้งสุดท้าย เมื่อมีใช้สิทธิ์โอนย้ายก็ให้ไปดำเนินการ ก่อนที่จะหมดสิทธิ์ เพราะชัดเจนแล้วว่าเมื่อถึงเวลานั้น ย่อมเป็นเวลาซิมดับของจริง !!
ด้านพ.อ.เศรษฐพงค์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ความคืบหน้าในการโอนย้ายลูกค้าของบริษัท ทรูมูฟ จำกัด และบริษัท ดิจิตอลโฟน หรือดีพีซี เพื่อปฏิบัติตามประกาศเยียวยา 1800 MHz นั้น ล่าสุดทั้ง 2 บริษัทได้ทำการแจ้งยอดลูกค้าที่ยังคงค้างการใช้งานอยู่บนคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz ประกอบด้วย ทรูมูฟ มีจำนวนลูกค้าเหลืออยู่ทั้งสิ้นราว 5 ล้านกว่าราย และดีซีพีเหลือประมาณ 6,000 ราย
โดยทั้งสองบริษัทฯ ได้เสนอแผนการโอนย้ายลูกค้าที่ค้างการใช้งานอยู่บนคลื่น 1800 MHz ออกจากระบบให้หมดก่อนสิ้นสุดระยะเวลาการดำเนินงานในเดือนกันยายน 2557 นี้ เพื่อให้ลูกค้าได้ใช้งานอย่างต่อเนื่องโดยไม่เกิดเหตุการณ์ซิมดับ
นายศุภชัย เจียรวนนท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานคณะผู้บริหาร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาทรูทำงานอย่างหนักในการประชาสัมพันธ์ให้ลูกค้าบนคลื่นความถี่ 1800 เมกะเฮิรตซ์ ที่มีจำนวนกว่า 17 ล้านรายให้มาดำเนินการโอนย้าย โดยการส่งเอสเอ็มเอสแจ้งเตือนให้ลูกค้าทยอยดำเนินการ ทั้งนี้ลูกค้าสามารถโอนย้ายสู่ทรูมูฟ เอช ที่มีความจุโครงข่าย (คาปาซิตี้) รองรับเพียงพอ โดยมีการจูงใจลูกค้าด้วยการให้ส่วนลดตัวเครื่อง และโปรโมชั่นแพกเกจ ส่วนลดค่าบริการรายเดือน เป็นต้น