ทีมนักวิทยาศาสตร์และแพทย์ชาวจีนได้นำเสนอความหวังใหม่ให้กับผู้ป่วยโรคเบาหวาน โดยสามารถรักษาโรคเบาหวานด้วยเซลล์บำบัดได้สำเร็จเป็นครั้งแรกของโลก
ผู้ป่วยรายหนึ่ง ซึ่งเป็นชายวัย 59 ปี ป่วยเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 มานาน 25 ปี และมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนจากโรคนี้ เนื่องจากการทำงานของตับอ่อนส่วนที่สร้างอินซูลินลดลงอย่างมาก จนต้องพึ่งการฉีดอินซูลินหลายครั้งต่อวัน
แต่หลังจากเข้าร่วมการทดลองปลูกถ่ายเซลล์แบบใหม่ในเดือนกรกฎาคม 2564 เพียง 11 สัปดาห์ เขาก็ไม่จำเป็นต้องใช้อินซูลินอีกต่อไป และสามารถลดปริมาณการใช้ยาเบาหวานชนิดรับประทานลงเรื่อย ๆ จนหยุดใช้ยาได้ในอีก 1 ปีต่อมา การติดตามผลพบว่าการทำงานของตับอ่อนส่วนที่สร้างอินซูลินของผู้ป่วยกลับมาเป็นปกติ
กระบวนการเริ่มต้นด้วยการเก็บเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิด peripheral blood mononuclear cells (PBMCs) จากเลือดของผู้ป่วย จากนั้นนำมาปรับแต่งทางพันธุกรรมเพื่อกระตุ้นให้เปลี่ยนแปลงและพัฒนาไปเป็นเซลล์ที่คล้ายกับเซลล์ตับอ่อนที่ทำหน้าที่ผลิตอินซูลิน
เซลล์เหล่านี้จะถูกเพาะเลี้ยงในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม เพื่อให้เจริญเติบโตและพัฒนาเป็นเนื้อเยื่อคล้ายตับอ่อน เมื่อเซลล์เติบโตเต็มที่ ก็จะทำการปลูกถ่ายเข้าไปในตับหรือบริเวณอื่น ๆ ที่เหมาะสม โดยแพทย์จะติดตามอาการเพื่อดูว่ามีภาวะแทรกซ้อนหรือไม่ ซึ่งในกรณีนี้ การปลูกถ่ายประสบความสำเร็จ
ทั้งนี้ โรคเบาหวานเกิดจากภาวะที่ร่างกายไม่สามารถผลิตหรือใช้อินซูลินได้อย่างมีประสิทธิภาพ อินซูลิน ซึ่งผลิตโดยตับอ่อน มีความสำคัญในการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด หากอินซูลินไม่เพียงพอ จะทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดสูง และอาจนำไปสู่ผลข้างเคียงที่ร้ายแรง เช่น โรคหัวใจ การสูญเสียการมองเห็น และโรคไต
ปัจจุบัน นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกกำลังวิจัยการปลูกถ่ายเซลล์ตับอ่อน (islet transplant) ซึ่งเป็นทางเลือกที่มีแนวโน้มในการรักษาระยะยาวที่ดี โดยสร้างเซลล์คล้ายตับอ่อนจากสเต็มเซลล์ของมนุษย์ และหลังจากทำงานมานานกว่าทศวรรษ กลุ่มนักวิทยาศาสตร์ชาวจีนก็ได้ก้าวเข้าใกล้ความสำเร็จมากขึ้น ซึ่งหวังว่าจะมีการนำไปปรับใช้ได้ทั่วโลกครับ