หลังจากเปิดตัวให้เรารู้จักกันมานาน ในที่สุดวันที่ AR เติบใหญ่ก็มาถึงสักที เทคโนโลยีสมัยใหม่ ที่คงต้องกล่าวว่าไม่ใช่เรื่องไกลตัวเราอีกต่อไป และในอนาคตอันใกล้นี้มันจะถูกผสานเข้ากับอุปกรณ์อีกจำนวนมาก เพื่อนำไปประยุกต์ใช้และสร้างประโยชน์ให้กับผู้คนและอุตสาหกรรมต่างๆ
AR หรือ Augmented Reality หรือการสร้างภาพเสมือนประสานลงไปในโลกจริง เป็นหนึ่งในเทคโนโลยีขั้นสูงที่จะต้องซ้อนกราฟิกสามมิติเข้าไปในภาพที่กล้องกำลังถ่ายอยู่ในแบบเรียลไทม์ นึกภาพการนำตัวการ์ตูนสักตัวให้เหมือนมาเดินอยู่กลางท้องถนนในกรุงเทพฯ มันต่างจากการซ้อนภาพสามมิตินิ่ง ๆ เข้าไปในภาพนิ่ง ๆ ซึ่งทำได้ง่ายมาก ๆ แค่ทำแสงเงาให้สวยงาม หรือยากขึ้นมาหน่อยคือการซ้อนภาพสามมิติแบบขยับได้ เข้าไปในคลิปวิดีโอ ซึ่งเป็นเทคนิคที่ทำกันมานานในวงการภาพยนตร์ แบบที่ต้องซ้อนสัตว์ประหลาดเข้าฉากต่าง ๆ ก็ทำโดยการใช้ซอฟต์แวร์เข้าไปตกแต่งเพิ่มเติมภาพในแต่ละเฟรมให้แนบเนียน
แต่สำหรับ AR ต้องทำทั้งสองอย่าง คือ ทั้งใส่แสงเงา และซ้อนลงในภาพเคลื่อนไหว พร้อมกับต้องมีอย่างที่สามคือ ทำกับภาพที่กำลังถ่ายอยู่แบบ realtime ไม่ใช่คลิปวิดีโอที่บันทึกไว้ และยิ่งไปกว่านั้น มุมกล้องไม่ได้กำหนดตายตัวเหมือนในภาพยนตร์ที่ฉายในโรงหรือดูในทีวี แต่มุมกล้องจะถ่ายตรงไหนนั้นผู้ชมแต่ละคนจะเลือกเอง!
เริ่มเห็นความซับซ้อนแล้วใช่ไหมครับ และนั่นเองคือเหตุผลที่ว่า ทำไมแนวคิดเรื่อง AR แม้มีมานานแล้ว แต่ยังไม่ได้มาถึงมือผู้ใช้ทั่วไปอย่างเต็มที่นัก
ส่วนที่เชื่อว่าถึงเวลาของ AR แล้วในปีที่แล้ว เดือนตุลาคม 2560 ก็เพราะว่า Apple เปิดตัว iPhone X และ iOS 11 ที่มาพร้อม ARKit ถือว่าเป็นการเปิดตัว AR อย่างเป็นทางการครั้งแรกของ Apple
Tim Cook ซีอีโอของ Apple บอกว่า ทันทีที่ iOS 11 เปิดตัว iOS 11 จะกลายเป็น AR Platform ที่ใหญ่ที่สุดในโลกทันที และก็คงจะเป็นเช่นนั้นจริง ๆ เพราะอุปกรณ์ต่าง ๆ หลายร้อยล้านเครื่องทั้ง iPhone, iPad และ iPod ในรุ่นที่รองรับ iOS 11 คือตั้งแต่ iPhone 5s, iPad mini 2, iPad Air, iPod touch รุ่น 6 ขึ้นไปนั้น ต่างมีปัจจัยพร้อมที่จะทำให้ AR เกิดขึ้นได้
การที่ AR จะเกิดได้เต็มที่ต้องอาศัยองค์ประกอบหลายด้าน ได้แก่
1. อุปกรณ์ฮาร์ดแวร์
จะต้องมีกล้องที่เก็บรายละเอียดได้พอสมควร และมีพลังประมวลผลที่รวดเร็ว เพราะต้องมีการคำนวณสร้างภาพสามมิติแบบเรียลไทม์ตลอดเวลา ขณะที่อุปกรณ์นั้นต้องมีความสามารถในการตรวจจับสถานะหรือสภาพแวดล้อม เช่น มีเซนเซอร์วัดการหมุน ความใกล้ ทิศทาง ซึ่งตรงนี้ที่จริงก็มีมาพร้อมหลายปีแล้ว แต่ก็ยังขาดส่วนที่สอง
2. ซอฟต์แวร์ประมวลผล
การจะเป็น AR ที่สมบูรณ์แบบได้นั้น ไม่ใช่แค่เอาภาพสามมิติซ้อนเข้าไป แต่ต้องมีความสามารถสำคัญคือ “ซ้อนให้เนียน” การซ้อนให้เนียนนั้น อันดับต้น ๆ ก็คือ การจัดแสง แต่นึกดูว่า คนเขียนซอฟต์แวร์ทั่ว ๆ ไป แค่เอาตัวการ์ตูนเข้าไปอยู่ในภาพจริง แล้วหมุนดูได้รอบทิศ ก็ว่ายากแล้ว แต่จะต้องทำให้จัดแสงตามสภาพแวดล้อมไปด้วยนี่คงจะยากมาก ๆ
เพราะรู้ว่ายาก และคงทำกันได้ไม่กี่ราย ถ้าเป็นแบบนั้นยังไง AR ก็ไม่เกิด ดังนั้น Apple จึงได้มาตอบโจทย์เรื่องนี้โดยการสร้าง ARKit ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้นักพัฒนาไม่ต้องกังวลใจเรื่องแสงเงา ระบบมันจะคำนวณให้เองจากสภาพแสงจริง หาแหล่งของแสง แล้วสร้างเงาให้กับวัตถุในภาพอย่างสมจริง
และยังแถมด้วยการรู้จักพื้นผิว Apple ใช้ซอฟต์แวร์ที่แสนรู้ ตีความภาพที่ถ่ายมาโดยรู้ว่า ตรงไหนคือพื้นผิว ตรงไหนคือกำแพง ตรงไหนคือระดับลึกลงไป ทำให้วัตถุต่าง ๆ ที่ปรากฏนั้นสมจริงยิ่งขึ้น
3.เหล่านักพัฒนา
ต่อเนื่องจากมีของ มีแอพฯ ก็ต้องมี ecosystem หรือเกิดเป็นชุมชนคนสร้างแอพฯ คนขายแอพฯ ถึงจะมีคนซื้อแอพฯ เมื่อมีการซื้อขาย มีเงิน มีกำไร ทุกอย่างก็ไปได้ตามกลไกตลาด
เราจะเห็นแอพฯ ประเภทเล่นเกมที่แผ่หราอยู่บนโต๊ะ ปล่อยตุ๊กแกปีศาจไปไต่กำแพง โดราเอมอนควักประตูสู่ทุกที่ออกมา พาเราเข้าไปสู่อีกโลกหนึ่ง จะเป็นจริงก็งานนี้แหละ
ต่อจาก AR อีกไม่นาน เราจะเห็น VR จากที่ AR พาโลกเสมือนมาอยู่บนโลกจริง VR ก็จะพาคุณเข้าไปอยู่ในโลกเสมือนกันบ้าง กระดาษหนังสือคงจะทำให้เห็นความตื่นตาตื่นใจของ AR ไม่ได้ อ่านจบบรรทัดนี้แล้ว เข้าไปค้น ARKit ใน YouTube กันนะ