Wireless Life เมื่อชีวิตไม่ต้องพึ่ง “เส้นสาย” (ตอนแรก)

ก่อนที่จะมาถึงยุคของคอมพิวเตอร์ ตั้งแต่สมัยที่โลกเริ่มมีไฟฟ้าใช้ เราก็คุ้นเคยกับโลกที่มีสายไฟระโยงระยาง และยิ่งทวีความซับซ้อนมากขึ้นไปอีกเมื่อความต้องการในการใช้ไฟฟ้า รวมถึงการส่งข้อมูลเพิ่มมากขึ้นอย่างก้าวกระโดด ไม่ต้องไปมองอื่นไกล แค่ประเทศไทยเราเอง เราก็เห็นสายไฟที่เรียงตามข้างถนนเป็นสิบ ๆ เส้น เรียงร้อยกันอย่างไม่เป็นระเบียบ หรือบางทีก็พันกันยุ่งจนชินตา ไม่เว้นแม้แต่โต๊ะคอมพิวเตอร์ที่บ้านคุณที่ถ้ามองไปข้างหลังเครื่องจะพบสายไฟเต็มไปหมดเช่นกัน

เทคโนโลยี Wireless
ภาพจาก belkinbusiness.com

สายเหล่านี้เป็นสิ่งจำเป็นตลอดมาครับ เพราะมันคือ “ตัวกลาง” หลัก ที่เราใช้เป็นสื่อเพื่อส่งหรือถ่ายทอดพลังงานไฟฟ้า หรือสัญญาณต่าง ๆ ไปยังปลายทางอีกด้านหนึ่งของสาย ไม่ว่าจะด้วยมาตรฐานไหน สายยังคงเป็นตัวกลางที่เรียกได้ว่าดีที่สุด และยังมีการพัฒนาต่อไปเรื่อย ๆ เช่นกัน แต่สำหรับเราแล้ว เราอาจจะไม่ได้ต้องการตัวเลือกที่ดีที่สุด แต่เป็นตัวเลือกที่สะดวกที่สุดมากกว่า

เทคโนโลยีคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าหรือคลื่นวิทยุ เป็นหนึ่งในเทคโนโลยีที่เข้ามาเปลี่ยนโฉมของโลกไปแทบจะพลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือ ด้วยการเปลี่ยนตัวกลางจากสายทองแดงมาสู่คลื่นวิทยุที่ไร้ตัวตน ไม่สามารถจับต้องได้ ไม่เกะกะ แต่ยังคงให้การส่งข้อมูลได้เช่นเดิม และนับวันเทคโนโลยีเหล่านี้ก็ยิ่งพัฒนาให้มีความสามารถมากยิ่งขึ้นไปอีก จนเรียกได้ว่าชีวิตของเราไม่จำเป็นต้องผูกติดกับสายทองแดงแบบเดิม ๆ อีกต่อไปแล้ว

4G เครือข่ายไร้สายที่เร็วที่สุด (ในตอนนี้)

ว่ากันถึงเทคโนโลยีไร้สาย เรื่องใหญ่ ๆ เรื่องหนึ่งที่จะไม่พูดถึงก็คงไม่ได้คือโทรศัทพ์เคลื่อนที่ หรือโทรศัพท์มือถือ ซึ่งในสมัยแรกถูกออกแบบมาให้ใช้งานแทนโทรศัพท์บ้านที่ต้องวุ่นวายกับการขอหมายเลขคู่สาย วุ่นวายกับการรอให้องค์การโทรศัพท์เดินสายมายังบ้าน กว่าจะได้ใช้โทรศัพท์ก็ปาเข้าไปเป็นเดือน (สมัยไหน ห้ามเดาอายุผมนะครับ) แต่เดี๋ยวนี้ แค่ไปซื้อมือถือเครื่องเล็ก ๆ เปิดซิมแค่ 5 นาที ก็แทบจะพร้อมใช้งานได้แล้ว แถมยังพกพาไปใช้งานที่ไหนก็ได้อีกต่างหาก สะดวกขึ้นกว่าเดิม มีอิสระขึ้นกว่าเดิมมากมาย

ไม่เพียงแค่เสียงที่ใช้โทรคุยกันเท่านั้น เครือข่ายไร้สายอย่าง 2G, 3G และ 4G ที่เราพูดถึงกันยังออกแบบมาให้สามารถส่งข้อมูลต่าง ๆ ได้ และยิ่งพัฒนาให้รวดเร็วมากยิ่งขึ้น ตอบโจทย์การใช้งานได้ดีมากยิ่งขึ้น จนเรามีสมาร์ตโฟนที่สามารถรันแอพฯ ต่าง ๆ และรับส่งข้อมูลกับอินเทอร์เน็ตกันเป็นว่าเล่น ขนาดว่ามีแพ็กเกจเน็ตหลายกิกะไบต์ ก็ยังไม่พอกันเลยทีเดียว

สำหรับเครือข่าย 4G ในเมืองไทยนั้น ความเร็วในการรับ-ส่งข้อมูลระดับ 50-100Mbps ซึ่งเร็วมาก เร็วพอ ๆ กับการใช้สายแลน (แม้ว่าสัญญาณจะแกว่งบ้าง) นั่นหมายความว่าคุณสามารถเช็กเมลพร้อมดาวน์โหลดไฟล์แนบใหญ่ ดู Youtube ออนไลน์ หรือแม้แต่โหลด Bit Torrent ได้บนมือถือ หรือจะต่อกับคอมพิวเตอร์เพื่อให้คอมพ์เป็นตัวดาวน์โหลดได้แบบสบาย ๆ เลย

เน็ต 4G จึงเป็นเทคโนโลยีทางเลือกหนึ่งที่ช่วยให้คนที่มีข้อจำกัดเรื่องสาย ให้สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ เช่นคนที่อยู่หอพัก หรือคอนโดที่ไม่สามารถเดินสาย หรือขอเบอร์โทรศัพท์ตรงถึงห้องได้ ซึ่งเป็นทางแก้ขัดไปได้เยอะพอสมควร ที่สำคัญ ไม่จำเป็นต้องติดตั้งอุปกรณ์ หรือเดินสายอะไรภายในห้องให้วุ่นวาย แค่มีสมาร์ตโฟนเครื่องเดียวจบ
ข้อจำกัดของ 4G อย่างเดียวสำหรับการใช้งานคือปริมาณการใช้งานที่จำกัด และมีราคาต่อปริมาณข้อมูลที่แพงที่สุดเมื่อเทียบกับเทคโนโลยีอื่น ๆ แต่ด้วยความเร็วในการใช้งานและความสะดวก ก็คุ้มค่าสำหรับคนที่ใช้งานข้อมูลไม่เยอะมาก และมีการเดินทางบ่อย

ส่วนคนที่ต้องการใช้งานข้อมูลเยอะ ๆ ผู้ให้บริการหลาย ๆ รายก็ยังมีแพ็กเกจแบบ Unlimited ที่จำกัดความเร็วในการใช้งานให้บริการเป็นรายเดือน โดยอาจจะมีความเร็วอยู่ที่ประมาณ 384-512kbps ซึ่งช้ากว่า 4G แบบปกติมาก แม้ว่ามันจะเร็วพอ ๆ กับเน็ตแบบ ADSL ที่ติดตามบ้านในยุคแรก ๆ แต่ถ้าเทียบกับการใช้งานของแอพฯ ในปัจจุบัน มันจะกลายเป็นเต่าคลานจนคุณต้องร้องขอชีวิตกันเลยทีเดียว

สำหรับคนที่อยู่บ้านและมีอินเทอร์เน็ตแบบสายเข้าถึง การติดตั้งอินเทอร์เน็ตแบบสาย ไม่ว่าจะเป็น ADSL, Cable หรือ Fiber จะให้ความคุ้มค่าและความเร็วที่สูงกว่า เพียงแค่คุณต้องใช้งานที่บ้านเท่านั้น ซึ่งนั่นแปลว่าออกนอกบ้านก็ต้องเสียค่าเน็ตมือถือเพิ่มอยู่ดี จึงเหมาะสำหรับคนที่อยู่บ้านเป็นหลัก หรือเปิดที่บ้านเป็นออฟฟิศ และมีการใช้งานต่อเนื่อง แบบนี้คุ้มครับ

WiFi รุ่นใหม่ ได้ทั้งความสะดวกและความเร็ว

ย่อส่วนลงมาจากเครือข่ายที่ครอบคลุมทั่วประเทศ มาอยู่ในพื้นที่ของเรา ทั้งในบ้าน ในออฟฟิศ กับ WiFi หรือ Wireless LAN ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่เราคุ้นเคยกันดีเมื่อพูดถึงเทคโนโลยีไร้สายหรือ Wireless ซึ่งสุดท้ายหลาย ๆ คนก็เรียกว่า WiFi โดยเจ้าเทคโนโลยีตัวนี้เป็นการเปลี่ยนตัวกลางจากสาย LAN แบบ UTP Cat5 หรือ Cat6 ที่เรารู้จักกันมาเป็นคลื่นวิทยุที่มีความถี่ตามมาตรฐานอยู่ที่ 2.4GHz และ 5GHz โดยมี 2 คลื่นนี้เป็นหลักตามเทคโนโลยีที่แบ่งแยกกันไป

สำหรับใครที่ไม่รู้และอาจจะไม่สนใจ บอกไว้คร่าว ๆ ว่ามาตรฐานของ WiFi นั้นจะแบ่งออกเป็นรุ่น คือ a, b, g, n และ ac ซึ่งเป็นตัวอักษรที่ลงท้ายชื่อเต็ม ๆ ของมัน (IEEE 802.11) โดยแต่ละตัวก็มีความเร็วในการรับส่งข้อมูล และคลื่นความถี่ที่ใช้งานแตกต่างกันไปตามมาตรฐานที่ถูกกำหนดมา ซึ่งหลัก ๆ จะอยู่ที่คลื่น 2.4GHz ที่อุปกรณ์ส่วนใหญ่ยอมรับ และเป็นความถี่สาธารณะที่อนุญาตให้อุปกรณ์ต่าง ๆ สามารถใช้งานได้ แถมยังมีระยะการส่งที่ไกล แม้ว่าความเร็วจะต่ำกว่าก็ตาม

ในตอนนี้ถ้าเป็นผู้ใช้งานตามบ้านส่วนใหญ่น่าจะอัพเกรดมาเป็นมาตรฐาน N ซึ่งมีทั้งคลื่น 2.4GHz และ 5GHz กันแล้ว ขึ้นอยู่กับเราเตอร์ (ตัวปล่อยสัญญาณ) และอุปกรณ์ว่าจะรองรับคลื่นไหนบ้าง และมีความเร็วอยู่ราว ๆ 150Mbps ซึ่งเร็วทะลุความเร็วของสายแลนทั่วไปแล้ว ดังนั้น ถ้าพูดถึงการใช้งานในสภาพปกติ มันจึงสามารถรองรับได้ทั้งการเล่นเน็ตได้สบาย ๆ รวมถึงถ่ายโอนข้อมูลเยอะ ๆ ภายในบ้านระหว่างอุปกรณ์ เช่น ให้สมาร์ตทีวีเล่นไฟล์วิดีโอจาก NAS หรือคอมพิวเตอร์ที่แชร์ไฟล์อยู่ในแบบ Full HD หรือ 4K ได้ แต่ทั้งนี้ก็ต้องขึ้นอยู่กับ Bitrate หรือขนาดของไฟล์ด้วย

ส่วนมาตรฐาน AC ซึ่งเป็นมาตรฐานใหม่นั้นจะใช้คลื่น 5GHz เท่านั้น และมีระยะส่งที่ใกล้กว่า แต่ได้ความเร็วที่เพิ่มขึ้นมา ซึ่งแม้ว่าจะมีการโฆษณาว่าให้ความเร็วในระดับกิกะไบต์ได้ แต่ในความเป็นจริง อุปกรณ์ที่เราใช้ ๆ กันมันจะรองรับความเร็วได้ประมาณ 300-500Mbps (แบบ 2×2) โดยประมาณ แต่ถึงจะได้ความเร็วไม่เต็มที่ แค่นี้ก็เพียงพอต่อการใช้งานสบาย ๆ แล้วครับ

ถ้าอยากให้เน็ตที่บ้านแรง อาจจะต้องใช้เราเตอร์ที่มีเสาเยอะขนาดนี้ แต่อุปกรณ์ที่ใช้ร่วมด้วยก็ยังทำให้ไม่สามารถใช้งานได้เต็มประสิทธิภาพอยู่ดี

สิ่งที่เป็นปัญหาใหญ่ของ WiFi คือเรื่องสัญญาณรบกวน เนื่องจากมีความนิยมใช้กันอย่างแพร่หลาย ที่ไหน ๆ ก็มี WiFi ให้ใช้ ดังนั้นจึงไม่แปลกที่สัญญาณเหล่านี้อาจจะรบกวนกันเอง โดยเฉพาะพื้นที่ชุมชน เช่น หมู่บ้าน คอนโด ห้างสรรพสินค้า ยิ่งถ้าคุณใช้ WiFi บนคลื่น 2.4GHz ยิ่งถูกรบกวนได้ง่ายขึ้นไปอีก เนื่องจากมีอุปกรณ์อื่นที่ไม่ใช่ WiFi ส่งสัญญาณมารบกวนด้วย ดังนั้นการใช้ WiFi อาจจะต้องคำนึงถึงจุดนี้ด้วยเช่นกัน

แต่ไม่ว่าอย่างไร แนวโน้มเทคโนโลยีก็ถูกผลักดันไปในทิศทางของการไร้สายมากขึ้น จะสังเกตว่าโน้ตบุ๊กในปัจจุบันหลายรุ่นไม่มีช่อง LAN ให้ใช้งานแล้ว ต้องต่อผ่าน WiFi ล้วน ๆ

Data Sync ไร้สาย ต้องใช้ Cloud

WiFi อาจจะเป็นเทคโนโลยีที่เชื่อมในระดับของฮาร์ดแวร์ ซึ่งเราจะเห็นว่าเชื่อมต่อ WiFi แล้วก็แค่เล่นเน็ตผ่านบราวเซอร์ได้ หรือสามารถเข้าถึงไฟล์ที่แชร์ในเครื่องต่าง ๆ ได้เป็นหลัก แต่ในแง่ของแอพฯ รวมถึงข้อมูลอื่น ๆ ในเครื่องจะทำอย่างไร

ใครที่ใช้สมาร์ตโฟนบันทึกข้อมูลต่าง ๆ เอาไว้มักจะต้องเจอกับปัญหาเหล่านี้ คือเมื่อต้องการดึงข้อมูลต่าง ๆ จากสมาร์ทโฟนลงเครื่องคอมพิวเตอร์หรือไปเก็บไว้ที่อื่น จะต้องวุ่นวายกับการหาสายเพื่อมาถ่ายโอนข้อมูล ซึ่งทางแก้ไขเบื้องต้นที่สามารถทำได้ก็คือ “ส่งเมล” ที่พอจะแก้ขัดไปได้ แต่ถ้ารูปมีเป็นร้อย การส่งเมลคงไม่สะดวกแน่นอน

สำหรับฝั่งของ Android อาจจะไม่วุ่นวายมากนัก เมื่อมีโปรแกรมอย่าง ES File Explorer หรือแอพฯ จัดการไฟล์อื่น ๆ ที่รองรับการเข้าถึงแชร์โฟลเดอร์ในเน็ตเวิร์กได้ หรือถ้าเป็นโปรแกรมสำหรับถ่ายโอนข้อมูลอย่าง Samsung Kies ก็รองรับการเชื่อมต่อผ่าน WiFi ได้แล้วเช่นกัน เพียงแค่เชื่อมต่สมาร์ตโฟนกับคอมพิวเตอร์ให้อยู่ในเน็ตเวิร์กเดียวกัน และเปิดโปรแกรมขึ้นมารอ

Samsung Kies ภาพจากเว็บไซต์ samsung.com

เช่นเดียวกับทาง Apple ซึ่งเมื่อก่อนจำเป็นต้องใช้สายเฉพาะของ iPhone หรือ iPad สำหรับ Sync ข้อมูล และต้องทำผ่านโปรแกรม iTune เท่านั้นด้วย แต่ปัจจุบัน iTune ออกแบบมาให้รองรับ WiFi ได้แล้วเช่นกัน ด้วยเงื่อนไขเดียวกันคือคอมพิวเตอร์และสมาร์ตโฟน (หรือ iPad) ต้องอยู่ในเน็ตเวิร์กเดียวกัน

iTune WiFi Sync

แม้ว่าจะเป็นวิธีการที่สะดวก เพราะไม่ต้องใช้สายในการเชื่อมต่อ แต่ก็อาจจะพบปัญหาการใช้งานในบ้าน เช่น iTune หรือ Samsung Kies ไม่พบมือถือเราในเครือข่าย โดยอาจจะต้องรอสักพักถึงจะสามารถใช้งานได้

วิธีการที่น่าสนใจกว่า ถ้าคุณต้องการดึงภาพ หรือข้อมูลบางชนิดออกจากสมาร์ตโฟน แบบไม่ต้องใช้สาย ก็คือการเชื่อมต่อข้อมูลกับ Cloud ทั้งหลาย ซึ่งสะดวกมาก และที่สำคัญฟรี

พื้นที่ฝากไฟล์ที่นิยมใช้กันมีตั้งแต่ OneDrive, Dropbox, Google Drive, iCloud และยังมีอีกหลายผู้ให้บริการ แต่แค่นี้ก็เหลือเฟือแล้ว

ส่วนการเก็บข้อมูลที่ไม่ได้อยู่ในรูปแบบของไฟล์ เช่นพวกข้อความหรือไฟล์บันทึกเสียง ให้ลองใช้ Evernote ดูก็ได้ เพราะสามารถทำได้ทั้งหมดในแอพฯ ตัวเดียว และยังคงฟรีเหมือนเดิม

Evernote จดบันทึก ทั้งข้อความ ทั้งเสียงได้ในตัวเดียว

จุดสำคัญของการใช้ Cloud พวกนี้คือข้อมูลจะถูกอัพโหลดไปเก็บไว้บนเซิร์ฟเวอร์ตลอดเวลา ดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องดึงข้อมูลออกจากมือถือ แต่เป็นการเข้าไปดึงในเซิร์ฟเวอร์ที่เก็บไฟล์ไว้แทน สะดวกรวดเร็วกว่ามาก แค่จะมีปัญหาตรงที่ใช้การส่งข้อมูลเยอะ และแนะนำว่าควรใช้งานเฉพาะเวลาที่เชื่อมต่อกับ WiFi ซึ่งสามารถเลือกออปชันนี้ได้ในแอพฯ ครับ

สำหรับ Wireless Life เมื่อชีวิตไม่ต้องพึ่ง “เส้นสาย” ให้ผู้อ่านทุกท่านติดตามตอนแรกเท่านี้ก่อน แล้วทีมงานจะมาบอกเล่าตอนต่อไปในอีกเร็วๆ นี้ รอรับชมกันนะครับ

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here