Wi-Fi ได้กลายเป็นส่วนสำคัญในชีวิตประจำวันของพวกเราทุกคน โดยจากสถิติล่าสุดได้แสดงให้เห็นว่า 59.5% หรือเกินกว่าครึ่งของประชากรโลกนั้นได้มีการใช้งาน Internet อยู่แล้ว และวิกฤตโรคระบาดที่กำลังเกิดขึ้นอยู่นี้ก็ได้ยิ่งขับเน้นให้เห็นถึงความจำเป็นของ Wi-Fi ที่ทำให้ธุรกิจในแต่ละวันยังคงดำเนินไปได้อย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ดี เมื่อองค์กรมีการใช้งานระบบ Videoconference ที่ต้องการใช้แบนด์วิดธ์มากขึ้น มีการเชื่อมต่ออุปกรณ์ IoT เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และการเร่งปรับตัวสู่การใช้งาน Cloud ระบบเครือข่ายที่มีอยู่ในปัจจุบันก็ต้องแบกรับภาระที่มากขึ้น ซึ่งความต้องการในการทำงานได้จากทุกที่ทุกเวลานี้ก็ส่งผลให้ระบบเครือข่ายไร้สายต้องรองรับการเชื่อมต่อที่มากยิ่งขึ้นรวมถึงต้องการช่องสัญญาณรับส่งข้อมูลที่มากยิ่งขึ้นตามไปด้วย ในขณะที่ระบบเครือข่าย Wi-Fi ที่ถูกใช้งานอย่างต่อเนื่องทุกวันนี้ก็เริ่มเผชิญกับข้อจำกัดด้านช่องความถี่สัญญาณที่มีให้ใช้งานได้แล้ว
ประเด็นนี้เองที่ทำให้ Wi-Fi 6E ได้รับความสำคัญ ด้วยการคาดการณ์ว่าจะมีการใช้งานอุปกรณ์ที่เชื่อมต่อ Wi-Fi 6E มากกว่า 338 ล้านชุดในปี 2021 แต่เทคโนโลยีดังกล่าวนี้แตกต่างจากเทคโนโลยี Wi-Fi ก่อนหน้าอย่างไร? และเทคโนโลยีนี้จะช่วยให้องค์กรสามารถเร่งการทำ Digital Transformation ที่ Edge ได้อย่างไร?
รองรับการใช้งานได้มากยิ่งขึ้น
ประเด็นแรกที่เป็นพื้นฐานเลยนั้นก็คือ Wi-Fi 6E นี้ถูกออกแบบโดย Wi-Fi Alliance เพื่อให้ Wi-Fi 6 สามารถใช้งานได้ในย่านความถี่ 6GHz โดยการตัดสินใจของ U.S. Federal Communications Commission ที่เปิดให้ย่านความถี่ 6GHz สามารถใช้งานได้เมื่อเดือนเมษายน 2020 ก็ได้เป็นจุดเริ่มต้นให้ประเทศอื่นทั่วโลกได้ดำเนินการตาม โดยในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เกาหลีใต้นั้นเป็นประเทศแรกที่เป็นให้ใช้งานย่านความถี่ 6GHz ได้เมื่อปีที่ผ่านมา ในขณะที่ออสเตรเลีย, นิวซีแลนด์, ญี่ปุ่นและไต้หวันนั้นก็เริ่มมีแนวทางไปในทิศทางเดียวกัน
ทำไมประเด็นนี้จึงสำคัญ? ตัวอักษร ‘E’ ใน Wi-Fi 6E นี้ย่อมาจากคำว่า ‘Extended’ ซึ่งเดิมทีเทคโนโลยี Wi-Fi 6 ที่เราคุ้นเคยนั้นจะใช้ย่านความถี่ 2.4GHz และ 5GHz เท่านั้น ในขณะที่ Wi-Fi 6E จะเพิ่มย่านความถี่ที่ใช้งานได้มากกว่าเดิมเกินกว่า 2 เท่าเลยทีเดียว ซึ่งด้วยย่านความถี่ที่จะถูกแย่งกันใช้งานน้อยลง, มีช่องสัญญาณที่กว้างขึ้น และรองรับการเชื่อมต่อเครือข่ายได้มากขึ้นนี้ ก็ส่งผลให้ Wi-Fi 6E สามารถสนับสนุนการใช้งานในรูปแบบใหม่ๆ และรองรับนวัตกรรมใหม่ๆ จากหลากหลายอุตสาหกรรมได้เป็นอย่างดี
เปิดโอกาสสำหรับการใช้งานรูปแบบเดิมและรูปแบบใหม่
หนึ่งในกรณีการใช้งานที่เห็นได้ชัดเจนของ Wi-Fi 6E นี้ก็คือ Augmented Reality (AR) และ Virtual Reality (VR) ที่ต้องการความเร็วในระดับ Multi-Gigabit โดยทั้งสองเทคโนโลยีนี้ต่างก็เป็นที่รู้กันดีถึงความสามารถในการส่งมอบประสบการณ์ที่ดื่มด่ำและการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานได้เป็นอย่างดี หากอ้างอิงจากรายงานของ Grand View Research จะพบว่าการใช้งาน AR นั้นมีการเติบโตมากขึ้นและมีแนวโน้มที่จะเติบโตอย่างรวดเร็ว (ด้วยมูลค่าตลาดโดยประมาณที่สูงถึง 340,000 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ) ภายในปี 2028
นอกจาก AR และ VR แล้ว การใช้งานในภาคอุตสาหกรรมเองก็ยังได้รับประโยชน์จาก Wi-Fi 6E ด้วยเช่นกัน โดยในภาคการศึกษา Wi-Fi 6E จะช่วยให้เกิดการเชื่อมต่อที่น่าเชื่อถือและไร้รอยต่อสำหรับโลกในยุค Digital Transformation ที่ทำให้เกิดห้องเรียนแบบดิจิทัลและโรงเรียนอัจฉริยะ อีกทั้งยังรองรับการใช้งานในพื้นที่ที่มีการเชื่อมต่ออย่างหนาแน่นอย่างเช่นหอประชุม, ห้องเรียน และหอพัก เพื่อส่งมอบประสบการณ์ด้านการเรียนที่เข้มข้นและช่วยให้การบริหารจัดการสถานศึกษาเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
สำหรับภาคสาธารณสุข Wi-Fi 6E สามารถช่วยให้แอปพลิเคชันที่มีความสำคัญสูงทำงานได้ดียิ่งขึ้นและให้บริการด้านการรักษาผู้ป่วยได้โดยไม่ต้องกังวลถึงประเด็นด้าน Latency หรือความเร็วในการเชื่อมต่อเครือข่าย ซึ่งประเด็นเหล่านี้จะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อเจ้าหน้าที่และผู้ป่วยที่จะต้องเดินทางภายในอาคารอยู่ตลอดเวลาและมีการเชื่อมต่อใช้งานจากอุปกรณ์หลายร้อยชิ้นพร้อมๆ กัน นอกจากนี้ภาคสาธารณสุขยังจำเป็นต้องอัปเกรดไปสู่การใช้ Wi-Fi 6E เพื่อรองรับการใช้งานแอปพลิเคชันและบริการใหม่ที่ต้องใช้ข้อมูลปริมาณมหาศาล อย่างเช่นระบบรักษาทางไกลที่เป็นที่นิยมท่ามกลางวิกฤตโรคระบาด เป็นต้น
เตรียมองค์กรของคุณให้พร้อมสำหรับ Wi-Fi 6E
เมื่อโลกเริ่มเตรียมพร้อมสำหรับการมาของ Wi-Fi 6E ผู้นำทางธุรกิจก็ต้องพิจารณาว่าระบบเครือข่ายที่มีขนาดใหญ่ขึ้นนี้จะช่วยสนับสนุนการทำ Digital Transformation ได้อย่างไร และนี่ก็คือกลยุทธ์ 6 ประการที่จะช่วยให้ใช้งาน Wi-Fi 6E ได้อย่างเต็มศักยภาพ และรองรับการลงทุนใน Wi-Fi ระยะยาวได้เป็นอย่างดี:
- ใช้ย่านความถี่ทั้งสามให้เต็มที่ – การรองรับการใช้งานย่านความถี่ 4GHz, 5GHz และ 6GHz ได้อย่างครอบคลุมจะช่วยให้การเชื่อมต่อเป็นไปได้อย่างเต็มที่และสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับผู้ใช้งาน อีกทั้งการแบ่งเฉพาะย่านความถี่ 6GHz สำหรับอุปกรณ์ที่รองรับ Wi-Fi 6E นั้นก็เป็นสิ่งที่เป็นไปได้ ทั้งหมดนี้จะช่วยให้การใช้งานแอปพลิเคชันที่ต้องการแบนด์วิดธ์สูงและ Latency ต่ำสามารถใช้งานได้บนย่านความถี่ 6GHz โดยไม่ส่งผลกระทบต่อผู้ใช้งานที่ยังคงเชื่อมต่อด้วยมาตรฐาน Wi-Fi 4, 5 และ 6 แต่อย่างใด
- รักษาความมั่นคงปลอดภัยให้กับเครือข่าย เมื่ออาชญากรไซเบอร์ยังคงมุ่งโจมตีจุดอ่อนด้านความมั่นคงปลอดภัยที่เกิดขึ้นจากการใช้ Cloud อย่างแพร่หลาย การรักษาความมั่นคงปลอดภัยก็เป็นสิ่งที่มองข้ามไม่ได้ โดยการใช้งาน Wi-Fi 6E จะทำให้การใช้งาน WPA3 ซึ่งเป็นการรักษาความมั่นคงปลอดภัยระดับสูงสุดบน Wi-Fi กลายเป็นสิ่งจำเป็น และทำให้การเชื่อมต่อเครือข่ายผ่าน Wi-Fi 6E กลายเป็นช่องทางหลักในการเชื่อมต่อใช้งานแอปพลิเคชันที่ต้องการความมั่นคงปลอดภัยไปโดยปริยาย โดยองค์กรควรพิจารณาโซลูชันที่ได้รับการรับรองตามมาตรฐาน Wi-Fi 6E ทั้งในส่วนของ WPA3 และ Enhanced Open เพื่อการเข้ารหัสและการยืนยันตัวตนที่มั่นคงปลอดภัยมากยิ่งขึ้น
- ใช้ระบบวิเคราะห์ข้อมูลขั้นสูงและ AIOps เพื่อปรับปรุงประสบการณ์ของผู้ใช้งาน AIOps ได้เข้ามาเสริมระบบ Network Monitoring แบบดั้งเดิมด้วยการระบุถึงปัญหาของระบบเครือข่าย, ความมั่นคงปลอดภัย และประสิทธิภาพโดยอัตโนมัติด้วยการใช้ AI และ Machine Learning ทำให้องค์กรสามารถแก้ไขปัญหาที่จะส่งผลต่อธุรกิจหรือประสบการณ์ของผู้ใช้งานได้ในเชิงรุก
- ประเมินว่าจะนำ Wi-Fi 6E มาใช้งานในระบบเดิมได้อย่างไร เฉกเช่นเดียวกับเทคโนโลยีใหม่ใดๆ การประเมินว่า Wi-Fi 6E จะถูกนำมาใช้งานในองค์กรได้อย่างไรบ้างก็เป็นสิ่งสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นการใช้งานร่วมกับอุปกรณ์ที่มีอยู่เดิม หรือทำการอัปเกรดระบบทั้งหมด ซึ่งจะช่วยให้สามารถประหยัดค่าใช้จ่ายได้ในระยะยาว ประเด็นหนึ่งที่ต้องพิจารณาเป็นพิเศษก็คือความเร็วที่เชื่อมต่อระหว่าง Access Point และ Switch เนื่องจาก Wi-Fi 6E นั้นจะมีประสิทธิภาพในระดับ Multi Gigabit อย่างแท้จริง ทำให้การเชื่อมต่อระหว่าง Access Point และ Access Switch นั้นต้องมีความเร็วที่สูงกว่า 1Gbps
- ให้ความสำคัญกับ Certification และ Standard ในการเลือกผู้พัฒนาเทคโนโลยีนั้นจะต้องให้ความสำคัญกับทั้งนวัตกรรมที่เคยพัฒนามาในอดีตและการยึดมั่นตามมาตรฐานระดับสูงสุดของอุตสาหกรรม เช่น Wi-Fi Alliance ที่ได้มีการพัฒนาชุดของมาตรฐานที่มุ่งเน้นถึงคุณภาพและความน่าเชื่อถือของเทคโนโลยีเครือข่ายไร้สายใหม่ๆ เป็นต้น
- วางแผนเริ่มต้นใช้งาน การเริ่มต้นทดลองใช้งานนั้นเป็นการทดสอบระบบโครงสร้างพื้นฐานในเชิงรุกที่ดี เพื่อให้เห็นถึงปัญหาและการเตรียมตัวที่จำเป็นก่อนการติดตั้งใช้งานทั่วทั้งองค์กร โดยการวางแผนเริ่มต้นทดลองใช้งานอย่างระมัดระวังจะช่วยให้ได้ผลลัพธ์ที่ต้องการ และส่งผลกระทบต่อธุรกิจน้อยที่สุดในระหว่างเปลี่ยนถ่ายเทคโนโลยี
มองสู่อนาคต
เมื่อปัญหาความหนาแน่นในการใช้ Wi-Fi เกิดมากขึ้น ประสบการณ์ของผู้ใช้งานก็ย่อมได้รับผลกระทบ โดยท่ามกลางสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลานี้ เราก็ยังคงต้องพึ่งพาการเชื่อมต่อเครือข่ายไม่ว่าจะเป็นจากที่บ้าน, ที่โรงเรียน, ที่ทำงาน หรือแม้แต่ในพื้นที่สาธารณะก็ตาม Wi-Fi 6E จึงเป็นเทคโนโลยีที่จะเปิดโอกาสใหม่ให้กับองค์กรที่จะเปลี่ยนแปลงธุรกิจไปสู่การนำเสนอประสบการณ์รูปแบบใหม่ที่ดีให้กับผู้ใช้งาน ไม่ว่าผู้ใช้งานรายนั้นๆ จะเชื่อมต่อจากช่องทางใดก็ตาม