รู้จักกับ Starlink เน็ตส่งตรงจากดาวเทียม เวิร์คไหม พร้อมใช้หรือไม่

หลังจากที่ Starlink เปิดให้สั่งจองใช้บริการล่วงหน้าทั่วโลกแล้ว และข่าวดีคือมีประเทศไทยด้วย โดยคาดว่าจะเปิดให้ใช้บริการได้ในปี 2022 อย่างไรก็ตาม Starlink คืออะไร ? โอเคมันคือเน็ตส่งตรงจากดาวเทียม แล้วมันจะเวิร์คไหม ? พร้อมใช้หรือยัง ? ในบทความนี้จะมาไขข้อสงสัยเหล่านี้กัน เอาแบบบ้าน ๆ ไม่เน้น Tech อ่านแล้วเข้าใจทันที

บริการ Starlink คืออะไรกันแน่

เน็ตส่งตรงจากดาวเทียม ฟังดูล้ำ แต่ต้องบอกตรง ๆ ว่า มันเป็นเทคโนโลยีเก่า ซึ่งมีมากว่า 20 ปีแล้ว ใช้กันมานานทั่วโลก อีกทั้งประเทศไทยก็มี IP Star บริการเน็ตดาวเทียม (หนึ่งในบริการจาก “ไทยคม”) แล้วด้วย เป็นการรับส่งสัญญาณอินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียม ทำให้หมดปัญหาเรื่องพื้นที่ปลอดสัญญาณ ชนิดต่อให้อยู่ยอดเขา กลางทะเล หรือบนเครื่องบิน ก็มีเน็ตใช้ได้นั้นเอง อย่างไรก็ตามบริการนี้ ‘คนทั่วไปเข้าถึงไม่ง่ายนัก’ เนื่องจากเน้นการใช้งานแบบพาณิชย์มากกว่า ทำให้มีค่าบริการที่สูง ติดตั้งยุ่งยาก และยังให้คุณภาพการเชื่อมต่อที่จำกัดอีก ทว่า Starlink ก็คือบริการเน็ตดาวเทียมจาก CEO จอมขยันอย่าง Elon Musk ที่จะมาสวนทางกับข้อเสียดังกล่าวทั้งหมดนี้เอง

ภาพจานรับสัญญาณอินเทอร์เน็ตจากดาวเทียม Starlink พร้อมอุปกรณ์ครบชุด

ในตอนที่ Starlink เปิดตัว Elon Musk ก็ชูเลยว่า มันจะเป็นบริการเน็ตดาวเทียมที่เข้าถึงได้ง่าย สามารถติดตั้งเองได้ คุณภาพการเชื่อมต่อให้ความรู้สึกไม่ต่างจากเน็ตบ้าน และที่สำคัญคือค่าบริการถูก คุ้มค่ากว่าบริการเน็ตดาวเทียมอื่น ๆ ในปัจจุบัน

หลักการทำงาน

สำหรับ Starlink ก็จะเป็นดาวเทียม LEO วงโคจรต่ำ อยู่ใกล้กับโลกขนิดแทบจะมองเห็นด้วยตาเปล่าก็ยังได้ ตรงนี้มีเหตุผลสำคัญคือ เพื่อลด Latency หรือลดระยะเวลาการเชื่อมต่อให้น้อยที่สุด (หาก Latency เยอะ ก็จะถูกเกมเมอร์เรียกว่า “Ping”) โดยจะมีความหน่วงที่ 20 – 40 ms เท่านั้น ทว่าการนำดาวเทียมมาจ่ออยู่ใกล้โลกแบบนี้ ก็ส่งผลให้ต้องใช้ดาวเทียม Starlink จำนวนไม่น้อย เพราะยิ่งเข้าใกล้โลก ระยะสัญญาณเน็ตจากดาวเทียบก็จะยิ่งแคบ หากอยู่ห่างออกไปกว่านี้ก็จะครอบคลุมกว่า ไม่ต้องใช้ดาวเทียมเยอะ ทว่าคุณภาพการเชื่อมต่อจะแย่ลงอย่างแน่นอน

ดังนั้นทาง Elon Musk จึงได้ปล่อยดาวเทียม Starlink ไปเพิ่มจำนวนให้ครอบคลุมทั่วโลกอยู่เป็นระยะ ๆ (มีแผนปล่อยเป็นหมื่นตัว) ซึ่งหากมีจำนวนดาวเทียมเพียงพอ ก็จะทำให้ผู้ใช้สามารถใช้งานเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ทั่วโลกอย่างไม่สะดุด

ภาพจำลองการส่งดาวเทียม Starlink ขึ้นสู่นอกโลก ด้วยจรวดจากโครงการ SpaceX บริษัทในเครือ โดยข้อดีของจรวดจาก SpaceX คือ นำกลับมาใช้งานใหม่ได้ ทำให้ Elon Musk สามารถส่งดาวเทียมขึ้นฟ้าได้เรื่อย ๆ โดยไม่ต้องเปลืองงบมาก (หากเป็นบริษัทอื่นคงยอมแพ้ไปแล้ว เพราะงบบาน) และหากมีผู้คนใช้งานบริการ Starlink เยอะ ๆ ก็จะยิ่งช่วยให้ SpaceX มีงบสร้างจรวดต่อไปด้วย

ประโยชน์ของ Starlink

อย่างที่กล่าวไปในเกริ่นแรก หากมีเน็ตจากดาวเทียมแล้ว ก็ทำให้หมดปัญหาพื้นที่อับสัญญาณจริง ๆ บริเวณที่เน็ตมาไม่ถึง อาทิ กลางเขา กลางทะเล และกลางป่า แต่ก็มีอีกข้อดีสำคัญคือ “เน็ตนี่นี้เราจอง” เป็นของเรา ควบคุมโดยเรา ใช้งานเพียงหนึ่งครัวเรือน หากวันหนึ่งสัญญาณเน็ตบ้าน “หายไป” ดื้อ ๆ… ก็ยังมีเน็ตจากดาวเทียมนี้เอง

ประสิทธิภาพ

ตามที่มีการระบุออกมาแล้ว คุณภาพความเร็วอินเทอร์เน็ตจาก Starlink ก็จะอยู่ที่ 50 – 150 Mb/s และมีความหน่วง 20 – 40 ms พอเล่นเกมออนไลน์ได้ และความเร็วประมาณนี้ก็เพียงพอต่อการเปิดเว็บ ดูหนัง ฟังเพลงได้สบาย ๆ แล้ว แต่อาจไม่แนะนำให้โหลดไฟล์ความจุสูง

ใครอยากเห็นประสิทธิภาพ Starlink ด้วยตา ลองดูที่คลิปนี้เลย

ค่าบริการและความพร้อมในไทย

ไม่กี่วันก่อน Starlink ได้เปิดให้ทั่วโลกสามารถสั่งจองบริการนี้ล่วงหน้าแล้ว ในราคาที่ 99 เหรียญฯ หรือประมาณ 3 พันบาท ซึ่งเป็นค่าบริการรายเดือนแรก จากนั้นจะมีค่าอุปกรณ์ตัวรับสัญญาณอีก 499 เหรียญฯ หรือประมาณ 15,500 บาท ล่าสุดทาง กสทช. ได้ออกมาพูดถึงบริการนี้แล้ว และเผยว่า Starlink จะต้องได้รับการอนุญาตก่อน

เอาตรง ๆ ถือว่าไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะในหลายประเทศทั่วโลก ก็ต้องมีการทำเรื่องขออนุญาตเหมือนกัน ซึ่งทาง Starlink ก็ทราบดี ดังนั้นมาลุ้นกันว่าหากบริการนี้ถูกนำเสนอในประเทศไทยแล้ว ทางบ้านเราจะอนุญาตไหม มีข้อตกลงอะไรต่อ ก็ต้องรอติดตามกันต่อไปในปี 2022 เชื่อว่าหากตอนนั้น Starlink ไม่ผ่าน ทางบริษัทก็อาจเปิดช่องทางคืนเงินเป็นกรณีพิเศษ สำหรับคนไทยที่สั่งจองบริการนี้ก่อนหน้าก็เป็นได้ครับ

แหล่งที่มา : https://www.starlink.com/