กระแสการทำงานที่บ้านหรือ Work from home ในประเทศไทยกลับมาอีกครั้ง หลังจากผู้ติดเชื้อพุ่งไปถึงสามหมื่น สาธารณสุขประกาศยกระดับเตือนภัยเป็นระดับ 4 และมีข้อเรียกร้องให้หลายคนกลับไป Work from home ร้อยละ 50-80
.
แม้จะมีข้อดีในการป้องการแพร่ระบาด แต่การทำงานระยะไกลนั้นเปิดช่องให้คนทำงานและธุรกิจมีความเสี่ยงด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์มากขึ้นเช่นกัน โดยความเสี่ยงด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์อันดับต้น ๆ ของการทำงานระยะไกลคือการเชื่อมต่อเครือข่ายในบ้านที่ไม่ปลอดภัย การใช้เครื่องมือออนไลน์มากขึ้น หรือแม้กระทั่งตัวเราเองที่ไม่ได้มีภูมิคุ้มกันภัยทางไซเบอร์ ทีนี้ มีวิธีเอาตัวรอดยังไงบ้าง หากต้องกลับไปทำงานที่บ้านอีกครั้งหนึ่ง
.
10 เทคนิค เอาตัวรอดจากแฮกเกอร์ ไม่ต้องห่วง หากต้องทำงานที่บ้าน
1. ใช้ซอฟต์แวร์รักษาความปลอดภัยอินเทอร์เน็ตที่บ้าน
เคล็ดลับด้านความปลอดภัยที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดประการหนึ่งสำหรับการทำงานจากที่บ้าน คือการลงทุนเรื่องซอฟต์แวร์ความปลอดภัย ซึ่งจะเพิ่มความปลอดภัยในการทำงานจากระยะไกลอัตโนมัติ ป้องกันภัยคุกคามต่าง ๆ ที่อาจจะเกิดกับคอมหรือเครือข่ายของเราได้
.
2. ไม่ให้สมาชิกในครอบครัวใช้อุปกรณ์ของบริษัท
แม้ว่าเราอาจไว้ใจตัวเองและพนักงานที่เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีในการดูแลตัวเองให้ปลอดภัยในโลกออนไลน์ แต่ก็ควรจำไว้ว่าการทำงานจากที่บ้านหมายความว่าคอมพิวเตอร์ของบริษัทมีแนวโน้มที่จะถูกใช้งานโดยเด็ก ๆ ได้ ในช่วงที่เราไม่ได้อยู่หน้าจอ ซึ่งพวกเขามีโอกาสที่จะกดเข้าเว็บที่ทำให้เครื่องติดมัลแวร์ได้
.
3. ใช้ฝาปิดเว็บแคมแบบเลื่อนได้
การทำงานจากที่บ้านมักรวมถึงการประชุมทางไกลและวิดีโอที่ต้องใช้เว็บแคม แฮกเกอร์ที่เชี่ยวชาญจะสามารถเข้าถึงเว็บแคมของเราได้อย่างง่ายดายโดยไม่ต้องได้รับอนุญาต ซึ่งส่งผลต่อความเป็นส่วนตัวมาก ๆ ที่แย่กว่านั้นคือ หากเราวางเอกสารสำคัญไว้ในบริเวณพื้นที่ทำงาน แฮกเกอร์อาจสามารถดูเอกสารเหล่านี้ได้โดยการใช้เว็บแคมของเรา
.
ขณะที่ใช้ซอฟต์แวร์การประชุมทางวิดีโอ เราอาจต้องการใช้ฟังก์ชันต่างๆ เช่น ฟีเจอร์ “พื้นหลังเบลอ” ซึ่งจะสามารถป้องกันไม่ให้ผู้ร่วมการประชุมสอดแนมภาพด้านหลัง ซึ่งอาจจะมีข้อมูลที่ละเอียดอ่อนที่เราไม่อยากให้ใครเห็น
.
4. ใช้โซลูชันการจัดเก็บข้อมูลแบบรวมศูนย์
ไม่มีอะไรปลอดภัยเสมอ ฉะนั้นหากใครต้องทำงานที่บ้าน สำรองไฟล์งานสำคัญไว้บนคลาวด์ทุกครั้ง เพราะหากเครื่องโดนโจมตีขึ้นมา เรายังมีไฟล์งานสำคัญที่ Backup ไว้บน คลาวด์
.
5. รักษาความปลอดภัย Wi-Fi ที่บ้าน
สร้างรหัสผ่านที่คาดเดายาก รัดกุมและไม่ซ้ำกัน แทนการใช้รหัสผ่านอัตโนมัติที่มากับเราเตอร์ อย่าใช้ชื่อ ที่อยู่บ้าน หรืออะไรก็ตามที่สามารถระบุตัวตนของเราได้
.
เปิดใช้งานการเข้ารหัสเน็ตเวิร์ก ซึ่งโดยปกติแล้วสามารถทำได้ในเมนูการตั้งค่าความปลอดภัยไร้สาย มีวิธีการรักษาความปลอดภัยหลายวิธีให้เลือก เช่น WEP, WPA และ WPA2 ที่แข็งแกร่งที่สุด
.
สุดท้าย ใช้เฟิร์มแวร์เวอร์ชันล่าสุดของเราเตอร์ สามารถตรวจสอบได้โดยไปที่หน้าการตั้งค่าเราเตอร์ การแพตช์และการอัปเดตซอฟต์แวร์ส่วนใหญ่มักจะแก้ไขจุดบอดด้านความปลอดภัยที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
.
6. ระมัดระวังการประชุมทางวิดีโอ
การทำงานทางไกลมักพึ่งพาซอฟต์แวร์การประชุมทางวิดีโอ ซึ่งอาจทำให้เกิดความเสี่ยงด้านความปลอดภัยได้ หากการประชุมทางวิดีโอถูกบุกรุกและสอดส่อง ข้อมูลที่ละเอียดอ่อนเกี่ยวกับธุรกิจหรือลูกค้าอาจรั่วไหล
.
แนะนำให้ตรวจสอบว่าการประชุมเป็นแบบส่วนตัว โดยกำหนดให้ใช้รหัสผ่านเพื่อเข้าประชุม หรือควบคุมการเข้าประชุมของผู้อื่นจากห้องรอ
.
การเลือกผู้ให้บริการการประชุมทางวิดีโอ ให้พิจารณาข้อกำหนดด้านความปลอดภัย การเข้ารหัสจากต้นทางถึงปลายทางโดยเน้นความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัยเป็นสำคัญ และสุดท้าย อัปเดตซอฟต์แวร์เป็นเวอร์ชันล่าสุดอยู่เสมอ
.
7. ใช้รหัสผ่านที่รัดกุมและปลอดภัย
วิธีที่ง่ายที่สุดวิธีหนึ่งที่ในการป้องกันตัวเองเมื่อทำงานจากที่บ้าน แต่มักถูกมองข้าม คือการเพิ่มความแข็งแกร่งคาดเดายากของรหัสผ่าน และการเสริมการป้องกันรหัสผ่านในอุปกรณ์ต่างๆ อย่างเต็มที่ แนะนำให้ใช้เครื่องมือจัดการรหัสผ่าน (password manager) เพื่อช่วยดูแลรหัสผ่านทั้งหมดให้ปลอดภัย และเช่นเคย ไม่ให้ใช้รหัสผ่านที่ระบุถึงข้อมูลส่วนบุคคลเช่น วันเกิด ที่อยู่ หรือเบอร์โทรศัพท์
.
8. ปกป้องบัญชีธนาคารออนไลน์
เชื่อเอถว่า แฮกเกอร์ (hacker) สแกมเมอร์ (scammer) และฟิชเชอร์ (phisher) จะพยายามพุ่งเป้าโจมตีผ่านอีเมล โฆษณาบนโซเชียลมีเดีย หรือทางโทรศัพท์ ซึ่งอาจใช้เทคนิคในการขอรายละเอียดเกี่ยวกับบัญชีธนาคาร โดยอ้างถึงเหตุผลต่าง ๆ เช่น บัญชีถูกล็อค ขอให้ยืนยันตัวตนเพื่อปลดล็อค จำไว้อย่าให้รายละเอียดบัญชีธนาคารของเรากับใคร หรือโอนเงินให้กับเขา เว้นแต่คุณจะแน่ใจว่าคนที่ติดต่อด้วยเป็นใคร
.
9. ระวังอีเมลหลอกลวงและความปลอดภัยของอีเมล
อีเมลมีความสำคัญในการสื่อสารระหว่างเพื่อนร่วมงาน อย่างไรก็ตาม อีเมลเป็นหนึ่งในวิธีการสื่อสารที่ง่ายที่สุดในการหลอกลวงและหาประโยชน์ ระวังการโจมตีด้วยฟิชชิ่ง ที่ปัจจุบันมีเล่กลต่าง ๆ มากขึ้นด้วย
.
ให้เราตรวจสอบว่าสามารถเข้าถึงอีเมลได้อย่างปลอดภัยผ่าน VPN ของบริษัทเท่านั้น VPN จะสร้างการเชื่อมต่อเน็ตเวิร์กที่เข้ารหัสซึ่งรับรองความถูกต้องของผู้ใช้และ/หรืออุปกรณ์ และเข้ารหัสข้อมูลที่อยู่ระหว่างการส่งระหว่างผู้ใช้และบริการ หากใช้ VPN อยู่แล้ว ควรตั้งค่าให้แพตช์อย่างสม่ำเสมอ
.
10. สร้างความตระหนักเรื่องความปลอดภัยไซเบอร์มากขึ้น
พฤติกรรมของผู้ใช้ทำให้เกิดการละเมิดข้อมูลองค์กรเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้น การเพิ่มการรับรู้เกี่ยวกับโลกไซเบอร์ให้พนักงานจึงเป็นวิธีที่ดีที่สุดวิธีหนึ่งในการรับมือกับอาชญากรรมทางอินเทอร์เน็ต แต่หากบริษัทเราไม่ได้สนใจเรื่องนี้ เราก็ควรให้ความสำคัญกับตัวเองในการปกป้องข้อมูลของเราให้มากที่สุด โดยจำให้ขึ้นใจว่า ไม่คลิกลิงก์แปลก ๆ ไม่ให้ข้อมูลหรือไม่โอนเงินให้ใคร หากไม่แน่ใจว่าเขาเป็นใคร
.
และทั้งหมดนี้คือเทคนิค เอาตัวรอดจากแฮกเกอร์ ลองทำตามดูแล้วจะช่วยเพิ่มความปลอดภัยให้กับงานของเรามากขึ้น
อ่านบทความด้านความปลอดภัยอื่น ๆ Techhub Security
ที่มาข้อมูล Kaspersky