หลังมีรายงานพบช่องโหว่ร้ายแรงบนซีพียู Intel ล่าสุดทาง Intel ได้เตรียมทดสอบแพตซ์แก้ไขเร่งด่วนแล้ว แต่แพตซ์ดังกล่าว อาจส่งผลให้ซีพียูทำงานช้าลงถึง 30 เปอร์เซ็น
กลายเป็นประเด็นร้อนในชั่วข้ามคืน หลังมีรายงานจาก The Register เผยว่า พบช่องโหว่ร้ายแรงบนซีพียู Intel ที่ทำให้ Hackers สามารถเข้าถึงส่วนข้อมูลลับที่สำคัญได้ ทาง Intel จึงเตรียมทดสอบแพตซ์สำหรับแก้ไขกรณีดังกล่าวแล้ว แต่ก็มีรายงานเผยอีกว่า หลังอัพเดตอาจทำให้ซีพียูทำงานลดลงถึง 30 เปอร์เซ็น ส่งกระทบต่อคอมฯ หลายล้านเครื่องที่ใช้ชิปของ Intel ไม่น้อยทีเดียว
สำหรับรายละเอียดช่องโหว่ยังไม่มีการเปิดเผยมากนัก แต่มีข้อมูลคร่าว ๆ ว่า เป็นช่องโหว่ในระดับฮาร์ดแวร์ของซีพียู Intel ที่เป็น x86 (นับตั้งแต่ Gen แรก หรือแทบทุกตัว….) ทำให้ส่งผลกระทบต่อระบบปฏิบัติการทั้งหมด ไม่สามารถเขียนโค้ดแก้ไขบนซีพียูแบบปกติได้ ส่วนตัวช่องโหว่คาดเป็นที่ Kernel Memory หรือส่วนที่เก็บข้อมูลสำคัญต่าง ๆ ของผู้ใช้ เช่นรหัสผ่าน การเข้าระบบ และไฟล์แคช ที่อาจหลุดรอดออกไปได้
ส่วนแนวทางแก้ไขนั้น มีข้อมูลจากทีมพัฒนา Linux เผยว่า จะใช้วิธี KPTI หรือ Kernel Page Table Isolation แยกส่วนที่เป็น Kernel Memory ออกไปเลย เพื่อไม่ให้เห็น Process การทำงานที่บอกข้อมูลสำคัญของผู้ใช้ แต่จะทำให้เกิดผลข้างเคียงคือ ระบบจะทำงานหนักขึ้น เพราะต้องคอยมาสลับการใช้งานในส่วนที่ถูกแยกออกไปนี้เอง คาดว่าจะทำให้ซีพียูทำงานช้าลงประมาณ 5 – 30 เปอร์เซ็น
ปัจจุบันทาง Intel ก็กำลังทดสอบแพตซ์แก้ไขตัวนี้อยู่ โดยพยายามหาวิธีแก้ไขช่องโหว่แบบไม่ลดประสิทธิภาพซีพียูมากนัก (หรือต้องไม่ลดเลย) พร้อมกล่าวอีกว่า ผู้ผลิตชิปประมวลผลรายอื่น ๆ เช่น ARM และ AMD อาจมีโอกาสเจอช่องโหว่นี้ด้วยเหมือนกัน แต่ล่าสุดทาง AMD ออกมากล่าวว่า “near zero risk” หรือแทบไม่มีโอกาสเจอ
สุดท้ายนี้ก็ต้องรอดูว่า ทางผู้พัฒนาระบบปฏิบัติการทั้ง Windows กับ Mac OS จะร่วมกับ Intel ปล่อยแพตซ์อัพเดตออกมายังไง จะส่งผลกระทบต่อซีพียูมากไหม และรายละเอียดของช่องโหว่นี้เป็นยังไงกันแน่ รอติดตามกันเร็ว ๆ นี้ครับ
ที่มา : The Next Web