จับตา IoT และ AI 5 เทรนด์เทคโนโลยี ปี 2025

เทรนด์เทคโนโลยี

ทุก ๆ ปี Techhub  ก็จะมีการสรุปเทรนด์ของเทคในปีหน้า โดยในปี 2025 Gartner ได้สรุปเทรนด์ของเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่จะเข้ามามีบทบาทสำคัญในการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจ โดยเทคโนโลยีน่าสนใจเหล่านี้ไม่เพียงแต่จะช่วยเพิ่มความสะดวกในชีวิตประจำวันของเรามากขึ้น แต่ยังประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจ และยังสามารถแก้ปัญหาสังคมและพัฒนาชีวิตประจำวันของผู้คนทั่วโลกได้อย่างดีขึ้น

จริง ๆ แล้ว Gartner สรุปมาทั้งหมด 10 เทรนด์ แต่เราขอหยิบยกมา 5 เทรนด์ที่ดูแล้วจะมีผลต่อประเทศไทยมากที่สุดแล้วกัน ไปดูกันว่ามีอะไรบ้างครับ

1. การเชื่อมต่อประสิทธิภาพสูง (High-Performance Connectivity)

การพัฒนาของ 5G และ IoT เข้ามีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนแปลงประเทศไทย  ซึ่งในปัจจุบันที่ประเทศไทย กำลังเดินหน้าเข้าสู่ยุคดิจิทัลอย่างเต็มตัว การมีเครือข่ายที่เร็วขึ้นและมีประสิทธิภาพสูงจะช่วยยกระดับการใช้งานเทคโนโลยีได้มากขึ้น เช่น การติดตั้งเซ็นเซอร์ในไร่นาเพื่อวัดความชื้นในดิน หรือการใช้ IoT ในการขนส่งสินค้า

นอกจากนี้ การพัฒนาสมาร์ทซิตี้ในจังหวัดใหญ่ ๆ เช่น กรุงเทพฯ ชลบุรี และเชียงใหม่ จะพึ่งพาการเชื่อมต่อที่มีประสิทธิภาพเพื่อรองรับโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล

การเชื่อมต่อที่มีประสิทธิภาพสูงเปิดโอกาสให้นักเรียน นักศึกษา และนักวิจัยสามารถเข้าถึงข้อมูลและทรัพยากรการเรียนรู้จากทั่วโลกได้อย่างรวดเร็ว ส่งเสริมการเรียนรู้และการพัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ

นอกจากนี้ การเชื่อมต่อที่ดีช่วยให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการต่าง ๆ ได้อย่างสะดวกสบาย ไม่ว่าจะเป็นบริการทางการแพทย์ การศึกษา หรือบริการภาครัฐ

2. ระบบอัตโนมัติ (Automation)

ประเทศไทยมีการพึ่งพาอุตสาหกรรมการผลิตและการเกษตรเป็นหลัก ระบบ Automation เช่น หุ่นยนต์อุตสาหกรรมและระบบจัดการสินค้าในคลัง จะช่วยให้ธุรกิจไทยสามารถแข่งขันกับตลาดโลกได้ดียิ่งขึ้น อีกทั้งยังช่วยลดต้นทุนแรงงานในช่วงที่ประเทศประสบปัญหาแรงงานขาดแคลน โดยเฉพาะในโรงงานผลิตขนาดใหญ่ เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ และอุตสาหกรรมอาหารแปรรูปที่เป็นเสาหลักของเศรษฐกิจไทย และการพึ่งพาระบบ Automation ก็แน่นอนว่าจำเป็นต้องมีระบบการเชื่อมต่อประสิทธิภาพสูงด้วยเช่นกัน

นอกจากนี้ ระบบ Automation สามารถควบคุมคุณภาพของผลิตภัณฑ์ได้อย่างสม่ำเสมอ และลดความเสี่ยงจากการทำงานที่อันตรายสำหรับทีมงานอีกด้วย

3.ปัญญาประดิษฐ์ที่ทำงานอย่างเป็นอิสระ (Agentic AI)

Agentic AI คือปัญญาประดิษฐ์ที่สามารถตัดสินใจและดำเนินการได้อย่างอิสระโดยไม่ต้องพึ่งพามนุษย์อย่างใกล้ชิด สามารถนำไปใช้ได้ในหลายอุตสาหกรรมของไทย เช่น การบริหารระบบโลจิสติกส์ การให้บริการลูกค้าแบบอัตโนมัติ (Chatbots) หรือการช่วยวิเคราะห์ข้อมูลในภาคการเงินและการลงทุน

เทคโนโลยีนี้ยังเหมาะกับการพัฒนา ระบบการแพทย์ทางไกล (Telemedicine) ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ในพื้นที่ชนบท นอกจากนี้ยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้กับธุรกิจ SMEs ที่ต้องการลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน

และสำหรับคนทั่วไป ก็สามารถเข้าถึงได้ในรูปแบบผู้ช่วยเหลือส่วนตัวที่มีความเฉียวฉลาดมากขึ้น ทั้งการ ตั้งเตือนความจำ สร้างตารางงาน ค้นหาข้อมูลที่ซับซ้อนใช้ควบคุมอุปกรณ์ในบ้านอัจฉริยะ (Smart Home) ช่วยตรวจสอบสุขภาพส่วนบุคคล เช่น การวัดอัตราการเต้นหัวใจ การแนะนำโปรแกรมออกกำลังกาย  เป็นผู้ช่วยทางการเงิน เป็นครูสอนภาษาที่เข้าใจเรามากขึ้น และอื่น ๆ

4. การประมวลผลที่ประหยัดพลังงาน (Energy-Efficient Computing)

โลกเราร้อนขึ้นทุกวัน การใส่ใจเรื่องความยั่งได้กลายเป็นหัวข้อสำคัญที่ใช้คุยกันบนเวทีโลก ซึ่ง AI ที่กำลังแรงนั้นก็มีแนวที่จะใช้พลังงานมากขึ้น การประมวลผลที่ประหยัดพลังงานจึงเป็นแนวโน้มที่มีความสำคัญในการพัฒนาเทคโนโลยีในยุคปัจจุบัน

เนื่องจากการประมวลผลที่มีประสิทธิภาพสูงมักต้องการการใช้พลังงานมหาศาล ซึ่งส่งผลกระทบทั้งในแง่ของต้นทุนและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยเริ่มตั้งการออกแบบและพัฒนาฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ และโครงสร้างพื้นฐานในการประมวลผลให้สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดโดยใช้พลังงานให้น้อยที่สุด ซึ่งเราได้เริ่มเห็นบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ได้เริ่มพัฒนาชิปที่ให้ประสิทธิภาพสูงแต่กินพลังงานน้อยมามาสักระยะแล้ว

ในประเทศไทย เทคโนโลยีการประมวลผลที่ใช้พลังงานต่ำจะช่วยลดต้นทุนทั้งในระดับองค์กรและภาครัฐ ตัวอย่างเช่น ธุรกิจที่ใช้ต้อง Data Centers สามารถลดการใช้ไฟฟ้าลงได้อย่างมาก ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายของรัฐบาลในการสนับสนุน เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy)

5. แพลตฟอร์มการกำกับดูแล AI (AI Governance Platforms)

ประเทศไทยกำลังผลักดันการนำ AI มาใช้ในหลายด้าน เช่น การวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ในโครงการของรัฐ และการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (Smart Cities) แต่การใช้งาน AI ที่ขาดระบบกำกับดูแลอาจนำไปสู่ปัญหาจริยธรรมและความไม่เป็นธรรม AI Governance Platforms จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการช่วยให้การใช้งาน AI ในประเทศไทยมีความโปร่งใส และปฏิบัติตามมาตรฐานสากล

สำหรับประเทศไทย การใช้แพลตฟอร์มการกำกับดูแล AI จะช่วยสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยี AI ที่มีคุณภาพและสามารถตรวจสอบได้ ซึ่งจะส่งผลดีในหลายด้านทั้งเรื่องของ

ภาคธุรกิจ ที่ช่วยให้การใช้ AI ในธุรกิจต่าง ๆ เป็นไปตามมาตรฐานและไม่มีผลกระทบทางจริยธรรม
การศึกษา ทำให้การพัฒนา AI เพื่อใช้ในการศึกษามีความโปร่งใสและเป็นธรรม
ภาครัฐ ช่วยในการกำหนดแนวทางการใช้ AI ในการตัดสินใจของรัฐบาลโดยคำนึงถึงความเป็นธรรมและความรับผิดชอบ

การนำแพลตฟอร์มการกำกับดูแล AI มาใช้จะช่วยให้ประเทศไทยสามารถพัฒนาและใช้เทคโนโลยี AI ได้อย่างยั่งยืนและเป็นธรรม, ในขณะเดียวกันก็สร้างความไว้วางใจให้กับประชาชนและองค์กรที่ใช้เทคโนโลยีนี้ ซึ่งประเทศเอง ก็ได้รับเกียรติ เป็นเจ้าภาพในการจัดประชุมการใช้ AI อย่างมีจริยธรรม โดยกำลังจะจัดขึ้นในปีหน้านี้ครับ

และทั้งหมดคือ 5 เทรนด์ของเทคโนโลยีในปีหน้าที่คิดว่าจะผลต่อ AI มากที่สุด สิ่งที่ผมคาดหวังคือ เรากำลังจะได้เห็น AI ที่มีความฉลาดแบบยิ่งยวดมากขึ้น แต่ก็ต้องมีระบบที่ใช้ควบคุมให้การใช้ AI เป็นไปอย่างมีจริยธรรมครับ