นวัตกรรมสุดล้ำ หุ่นยนต์วอดก้า เคลื่อนที่ด้วยแรงตึงผิว

หุ่นยนต์วอดก้า

วิธีใช้หุ่นยนต์ตรวจร่างกายคือ กลืนแล้วกระดกวอดก้าตาม หยอก ๆ

นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ได้ทดลองสร้างหุ่นยนต์ขนาดเล็กจากพลาสติกพิมพ์ 3 มิติ โดยภายในหุ่นยนต์มีช่องอากาศเพื่อช่วยในการลอยตัว และมีถังเชื้อเพลิงขนาดจิ๋วที่บรรจุแอลกอฮอล์ในระดับความเข้มข้นต่างๆ ไว้ตั้งแต่ 10-50%

เมื่อนำหุ่นยนต์เหล่านี้ไปวางในน้ำ แอลกอฮอล์จะค่อยๆ รั่วไหลออกมา ก่อให้เกิดปรากฏการณ์ที่เรียกว่า “ปรากฏการณ์มารังโกนี” ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อของเหลวที่มีแรงตึงผิวต่ำ แพร่กระจายอย่างรวดเร็วบนของเหลวที่มีแรงตึงผิวสูงกว่า

โดยในกรณีของหุ่นยนต์ตัวนี้คือ แอลกอฮอล์ที่มีแรงตึงผิวต่ำกว่า จะแพร่กระจายบนผิวน้ำ ทำให้หุ่นยนต์เคลื่อนที่ไปข้างหน้าได้ ปรากฏการณ์นี้พบได้ในแมลงบางชนิดที่สามารถเคลื่อนที่บนผิวน้ำได้ แต่แมลงเหล่านั้นใช้สารคัดหลั่งพิเศษแทนแอลกอฮอล์ในการขับเคลื่อนตัวเอง

แม้ว่าวอดก้าจะมีราคาสูงกว่าแอลกอฮอล์ชนิดอื่นๆ เช่น เบียร์ แต่ทีมวิจัยพบว่า แอลกอฮอล์ที่มีความเข้มข้นสูงกว่าจะช่วยให้หุ่นยนต์เคลื่อนที่ได้เร็วกว่า และในการทดลองบางครั้ง หุ่นยนต์สามารถเคลื่อนที่ได้นานถึง 500 วินาที ด้วยความเร็วสูงสุดประมาณ 6 เซนติเมตรต่อวินาทีเลยทีเดียว

หลังจากประสบความสำเร็จในการทดลองขั้นพื้นฐาน ทีมวิจัยได้พัฒนาหุ่นยนต์ให้ซับซ้อนยิ่งขึ้น โดยการเพิ่มช่องจ่ายเชื้อเพลิงบนหุ่นยนต์ และเชื่อมต่อหุ่นยนต์เข้าด้วยกัน ทำให้หุ่นยนต์สามารถเคลื่อนที่เป็นเส้นโค้งหรือหมุนได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น

แม้ว่าการทดลองนี้อาจดูเหมือนเป็นเรื่องแปลกใหม่ในตอนนี้ แต่นักวิจัยเชื่อว่าหุ่นยนต์เหล่านี้มีศักยภาพในการนำไปใช้งานจริง เช่น การกระจายสารในแหล่งน้ำเพื่อการบำบัดสิ่งแวดล้อม หรือกระบวนการทางอุตสาหกรรมที่ต้องการการกระจายตัวของวัสดุตามกำหนดเวลา

ที่มา
techspot