หลักสูตรใหม่ มธ. ดัน V-TECH หนุน EV ระบบควบคุมอัตโนมัติ

อุตสาหกรรมยานยนต์ทั่วโลกกำลังเร่งอัตราการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า ไปกับเทรนด์ผู้บริโภคตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อม และพลังงานเพิ่มมากขึ้น

ล่าสุดคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หรือ TSE เปิดตัวหลักสูตรใหม่วิศวกรรมยานยนต์และระบบอัตโนมัติหรือ V-TECH เดินหน้ายกระดับวิศวกรรมยานยนต์แห่งอนาคต มุ่งสร้างวิศวกรในสาขาวิศวกรรรมเพื่อการออกแบบและการผลิตชิ้นส่วนรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ เสริมทัพการเติบโตของรถยนต์ระบบไฟฟ้า หรือ EV รวมถึงภาคการผลิต 

โดยมองว่าเป็นโอกาสสำคัญของกลุ่มบริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วน และอะไหล่รถยนต์ไทย หากเร่งศึกษาถึงแนวทางการพัฒนาแบตเตอรีลิเธียมไอออนแหล่งพลังงานไฟฟ้าสำหรับยานยนต์ไฟฟ้าในราคาที่ถูกลง เพื่อลดการนำเข้าเซลล์แบตเตอรีจากต่างประเทศ พร้อมทั้งเพิ่มศักยภาพทางการแข่งขันของไทยในการผลิตและส่งออกยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจให้กับประเทศ 

สำหรับหลักสูตร V-TECH จะครอบคลุม 4 ทักษะแห่งอนาคต ได้แก่
1. เครื่องกล
2. เทคโนโลยีสมองกลฝังตัว
3. ยานยนต์สมัยใหม่
4. อุตสาหกรรมยานยนต์

 

หลักสูตรวิศวกรรมยานยนต์และระบบอัตโนมัติหรือ V-TECH ของ TSE มีจุดเด่นด้านองค์ความรู้ที่สำคัญต่อการพัฒนาวิศวกรรมยานยนต์ด้วยองค์ความรู้หลัก 2 ด้าน  ได้แก่ 

วิศวกรรมยานยนต์’ (Automotive Engineering) การเรียนรู้ด้านการออกแบบและผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ ผ่านการเรียนรู้ในรายวิชาที่เกี่ยวข้องกับวิศวกรรมเทคโนโลยียานยนต์, การออกแบบชิ้นส่วนรถยนต์, ชุดควบคุมอิเล็กทรอนิกส์ (ECU: Electronic Control Unit) และระบบฝังตัวสำหรับยานยนต์, ยานยนต์ไฮบริดและยานยนต์ไฟฟ้า ฯลฯ 

ออโตเมชัน’ (Industrial Automation) เทคโนโลยีอัตโนมัติในการควบคุมและสั่งการในกระบวนการผลิต ซึ่งนักศึกษาจะได้เรียนรู้หลักการบริหารกระบวนการผลิตรถยนต์, มาตรฐานและความปลอดภัยสำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์, ระบบการควบคุมอัตโนมัติและพีแอลซี (PLC: Programmable logic Control) ฯลฯ

 

ทั้งนี้ จุดเด่นและความพิเศษของหลักสูตรวิศวกรรมยานยนต์และระบบอัตโนมัติหรือ V-TECH  ของ TSE ประกอบด้วย 

  1. ได้เรียนรู้วิชาเกี่ยวกับชุดควบคุมอิเล็กทรอนิกส์ (ECU) และระบบฝังตัวสำหรับยานยนต์ เนื่องจากในปัจจุบันและอนาคตอันใกล้ รถยนต์จะมีความอัจฉริยะในการเชื่อมโยงข้อมูลภายนอกมาปรับปรุงกระบวนการทำงานภายใน โดยมี ECU เป็นตัวควบคุม
  2. ได้พัฒนาชุดควบคุมอัตโนมัติและพีซีแอล (PCL) หรือ โปรแกรมเมเบิลลอจิกคอลโทรลเลอร์ เพื่อสร้างระบบอัตโนมัติในกระบวนการผลิต ผ่านการเขียนโปรแกรมหรือป้อนคำสั่ง (Coding) ไมโครโพรเซสเซอร์ (Microprocessor) ที่ทำหน้าที่ประมวลผลและควบคุมการทำงานของเครื่องจักรในภาคการผลิต
     
  3. ได้สิทธิเลือกแผนการเรียนในปีการศึกษาสุดท้าย ใน 2 แนวทาง ได้แก่ ฝึกปฏิบัติที่สถานประกอบการจริง (Internship Track) และศึกษาวิจัยเพื่อต่อยอดองค์ความรู้ที่สนใจ (Research Track)

นอกจากนี้ TSE ยังได้ร่วมมือกับ มหาวิทยาลัยอีแกม ลาซาล ประเทศฝรั่งเศส (ECAM LaSalle, France) ในการจัดตั้ง เทรนนิ่ง เซนเตอร์ (Training Center) ที่ มธ. ศูนย์พัทยา เพื่อเป็นเครือข่ายทางการศึกษาที่ครอบคลุมมากที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พร้อมโครงการนักศึกษาแลกเปลี่ยน เพื่อเพิ่มโอกาสและขีดความสามารถให้กับนักศึกษาและผู้สนใจด้านวิศวกรรมยานยนต์ อีกทั้ง TSE ยังเชื่อมความร่วมมือกับสถานประกอบการใน EEC กว่า 20 แห่ง เพื่อเพิ่มโอกาสในการเรียนรู้ของนักศึกษา 

สำหรับหลักสูตรวิศวกรรมยานยนต์และระบบอัตโนมัติ’  หรือ V-TECH พร้อมเปิดรับสมัครนักศึกษาใหม่ ในปีการศึกษา 2566 โดยผู้ที่สนใจสามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติม และข้อมูลเกี่ยวกับการรับสมัครทุกรอบได้ที่ https://engr.tu.ac.th