Harddisk External
ต่อกันด้วยอุปกรณ์อีกตัวหนึ่งที่ใช้เก็บข้อมูลเช่นเดียวกัน นั่นคือ Harddisk External หรือฮาร์ดดิสก์แบบพกพาซึ่งเป็นที่นิยมไม่แพ้กัน แม้ว่าขนาดตัวเครื่องจะใหญ่กว่าแฟลชไดรฟ์ แต่ด้วยความจุของมันที่มากมายมหาศาล พร้อมกับราคาที่ไม่โหดนักเมื่อเทียบกับความจุข้อมูลที่ได้รับ
สำหรับฮาร์ดดิสก์แบบ USB นี้จะแบ่งออกเป็น 2 แบบคือ แบบ Desktop ที่ใช้ตั้งโต๊ะ เสียบปลั๊กเพื่อใช้งาน เพราะเป็นฮาร์ดดิสก์ที่มีตัวเครื่องใหญ่หน่อย (3.5 นิ้ว) และอีกแบบคือ Portable หรือแบบพกพาที่จะมีขนาดเล็ก สามารถพกไปใช้งานที่ต่างๆ ได้อย่างสะดวก ไม่ต้องเสียบปลั๊กไฟเพิ่ม ซึ่งแบบนี้กำลังเป็นที่นิยมมากสำหรับผู้ใช้โน้ตบุ๊ก
กรณีของฮาร์ดดิสก์แบบ Desktop นั้น ถามว่าเชื่อมต่อได้ไหม คำตอบก็คือได้ แต่คงได้แค่ใช้งานภายในบ้านหรือออฟฟิศเท่านั้น จะพกออกไปใช้งานข้างนอกก็คงลำบากเพราะจะต้องหาปลั๊กเสียบอีก วิธีการก็เหมือนกับแฟลชไดรฟ์ เพียงแค่เสียบปลั๊กไฟให้เรียบร้อยก่อนแล้วจึงเชื่อมต่อพอร์ต USB เข้ากับสาย OTG แค่นี้ก็เรียบร้อย
ส่วนกรณีของฮาร์ดดิสก์แบบพกพานั้นจะไม่ต่างกันมาก แต่สิ่งที่ต้องระวังคือเรื่องของไฟฟ้าที่ฮาร์ดดิสก์เหล่านี้ต้องการ เพราะอย่าลืมว่าเรามีพอร์ต USB จากสาย OTG มาแค่พอร์ตเดียวเท่านั้น ทำให้ฮาร์ดดิสก์อาจจะไม่ทำงาน ในกรณีที่กระแสไฟไม่เพียงพอ หรืออาจจะทำงานได้ไม่เต็มที่ รวมถึงมีความเสี่ยงที่ฮาร์ดดิสก์จะดึงกระแสไฟไปมากจนสมาร์ตโฟนเกิดความเสียหายได้ ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่ตัวสมาร์ตโฟนว่าออกแบบให้พอร์ต USB สามารถจ่ายไฟได้เท่าไหร่ด้วย ทางที่ดีเชื่อมต่อผ่าน USB Hub ที่สามารถต่อไฟเพิ่มได้ หรือหลีกเลี่ยงการใช้งานฮาร์ดดิสก์พกพาโดยตรงกับสาย OTG ก็ได้ครับ
ข้อจำกัดอย่างหนึ่งที่ต้องทราบไว้คือระบบไฟล์ที่เหมาะสมต่อการใช้งานมากที่สุดก็คือ FAT32 หรือ exFAT นะครับ เช่นเดียวกับบนแฟลชไดรฟ์ เพื่อให้แอนดรอยด์สามารถอ่านและเขียนไฟล์ได้อย่างสมบูรณ์ ส่วนระบบไฟล์อื่นๆ อาจจะสามารถใช้งานได้แต่อาจจะมีปัญหาเรื่องข้อจำกัดที่แตกต่างกันไป