อัพเดต IoT อยู่ใกล้ขนาดไหนแล้ว และจะมีผลกระทบอย่างไรในอนาคต

ส่องความเคลื่อนไหวล่าสุดของ IoT ปัจจุบันอยู่ใกล้ตัวเราขนาดไหนแล้ว มีอะไรมาใหม่บ้าง สุดท้ายมันจะส่งผลกระทบอย่างไรบ้างในอนาคตหรือปีหน้า 2019 เร็ว ๆ นี้

คงไม่ต้องอธิบายว่า IoT หรือ Internet of Thing คืออะไรอีก เชื่อว่าทุกคนคงได้ยินชื่อนี้จนหูชาแล้ว ฉะนั้นในบทความนี้ ผมจะมาอัพเดตความเคลื่อนไหวล่าสุดของมันกันดีกว่า ปัจจุบัน IoT กลายเป็นบริการหรือธุรกิจใหม่ไปแล้ว คือเดี๋ยวนี้หลายที่จะไม่ใช่อุปกรณ์ IoT เพียงตัวเดียว แต่จะใช้ทีเดียวหลายตัว แบ่งเป็นชุด ๆ ไป ทำให้เกิดเป็น Solution ต่าง ๆ มากมาย ซึ่งช่วยสร้างประโยชน์อย่างมากต่อองค์กรหรือครัวเรือน มากกว่าตัวเดียวหลายเท่า

ส่วน Solution คืออะไร ก็อย่างที่กล่าวไป มันคือการใช้อุปกรณ์ IoT หลายตัวพร้อมกัน ยกตัวอย่างเช่น ระบบ Smart Parking คือการนำอุปกรณ์ IoT จำพวกเซ็นเซอร์ ไปวางตามจุดจอดรถต่าง ๆ เวลาเซ็นเซอร์พบรถมาจอดตามที่มันวางอยู่ มันก็จะส่งรายงานไปยังเซิฟเวอร์หรือ Cloud ทันทีว่าจุดนี้มีรถจอดแล้ว ทำให้สามารถจัดการบริหารที่จอดรถได้สะดวกขึ้น ไม่ต้องไปเดินดูเองว่าเหลือที่จอดรถเท่าไร นี้ก็เป็นตัวอย่าง Solution ของ IoT ที่ถูกใช้เป็นบริการอย่างใดอย่างหนึ่งนี้เอง แน่นอนว่าผู้ใช้บริการย่อมเป็นห้างสรรพสินค้า โรงแรม มหาลัยฯ หรือสถานที่บริการอื่น ๆ เป็นต้น

NB-IoT และ eMTC คืออะไร

มาอัพเดตกันต่อ เมื่อเร็ว ๆ นี้ ทาง AIS ได้เปิดตัวบริการ NB-IoT หรือ Narrow Band IoT รายแรกของไทย (ตามด้วย True) อย่างที่รู้กันว่า IoT จะอยู่ไม่ได้เลยถ้าไม่มีอินเทอร์เน็ต ซึ่ง NB-IoT ก็คือโครงข่ายอินเทอร์เน็ตสำหรับ IoT รูปแบบหนึ่ง จุดเด่นคือ ใช้พลังงานน้อย เพราะไม่ต้องส่ง Data อะไรเยอะ และกระจายสัญญาณได้ไกล มันดียังไง คือพอมีโครงข่ายแบบนี้ ก็ทำให้สามารถยืดอายุการใช้แบตฯ ของอุปกรณ์ IoT เล็ก ๆ บางตัวได้นานถึง 10 ปี และพอมีแบตฯ ในตัว ก็ไม่ต้องมาโยงสายไฟให้วุ่นวาย สามารถติดตั้งอุปกรณ์ได้หลากหลายและสะดวกขึ้น ทั้งนี้ NB-IoT ยังรองรับอุปกรณ์ IoT ได้นับแสนตัว ภายใต้รัศมี 10 กิโลเมตร แล้วจะมีประโยชน์ขนาดไหน กลับมาที่ระบบ Smart Parking อีกครั้ง พอมี NB-IoT เข้ามาแล้ว ก็ทำให้ขยายพื้นที่การติดตั้งเซ็นเซอร์ได้กว้างขวางขึ้น ติดตั้งเร็วขึ้น และประหยัดงบยิ่งขึ้นนั้นเอง

ส่วน eMTC หรือ enhanced Machine-Type Communication ก็เป็นโครงข่ายก่อนหน้า NB-IoT มีจุดเด่นคือ รองรับอุปกรณ์ IoT ที่มีการเคลื่อนที่ตลอดเวลาได้ เช่น Tracking หรืออุปกรณ์ติดตาม สุดท้ายสามารถรับ/ส่ง Data ได้ใหญ่กว่า NB-IoT แต่ไม่ประหยัดพลังงานเท่า

ผลกระทบ

อย่างแรกต้องเข้าใจก่อนว่า ทั้ง NB-IoT และ eMTC คนละอย่างกับ 3G/4G เลย คือ 3G/4G เป็นโครงข่ายที่ออกแบบมาเพื่อรองรับการใช้งานอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง รับส่งข้อมูลขนาดใหญ่ สำหรับอุปกรณ์ IoT ที่คุ้นมือกันดีอย่างสมาร์ทโฟน แต่ NB-IoT และ eMTC เป็น LPWAN (Low Power Wide Area Network) โครงข่ายสื่อสารเป็นวงกว้าง ใช้พลังงานต่ำ ออกแบบมาเพื่ออุปกรณ์ IoT ตัวเล็ก ๆ ซึ่งมีแบตฯ ในตัวโดยเฉพาะ อย่าง NB-IoT ก็ใช้ความเร็วอินเทอร์เน็ตเพียง 60 kbps เท่านั้น ทว่าสามารถเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ IoT ได้พร้อม ๆ กันนับแสนตัว ในรัศมีไกลถึง 10 กิโลเมตร และอยู่ได้นานหลายปี

ดังนั้นสิ่งที่จะตามมาคือ ต่อไปนี้ในปี 2019 หรือปีหน้า เราจะได้ใกล้ชิดกับ IoT ยิ่งกว่าเคยแน่ ชนิดไปที่ไหนก็ต้องเจอ เนื่องจากทางผู้ให้บริการเครือข่าย ได้โดดเข้ามาลุยในส่วนนี้อย่างจริงจังแล้ว คือเมื่อก่อนอาจใช้ 3G/4G หรือ Wi-Fi เป็นโครงข่ายสำหรับอุปกรณ์ IoT มานาน ซึ่งต้องใช้พลังงานสูง เวลาติดตั้งก็ต้องทำสายไฟสำหรับเชื่อมต่อพลังงานตลอดเวลา แต่ตอนนี้มีโครงข่ายเฉพาะเรียบร้อย ซึ่งมีข้อดีมหาศาลเลยคือ ประหยัดงบ และ ติดตั้งง่าย สองอย่างนี้จะทำให้หลาย ๆ องค์กร เริ่มมีการลงทุนใช้อุปกรณ์ IoT มากขึ้น และในอนาคตหรือเร็ว ๆ นี้เอง จะมีบริการ Solution จาก IoT อีกหลายรูปแบบเกิดขึ้นแน่นอน

ต่อไปในภาคองค์กรก็จะมีการแข่งขันระหว่างกันอย่างดุเดือดขึ้นอีก คือหลังจากนี้องค์กรหรือบริษัทไหนไม่มี IoT ก็มีสิทธิ์ถูกบริษัทที่มี IoT อื่นแซงหน้าได้เลย แต่สำหรับ Home Use หรือกลุ่มผู้ใช้ในครัวเรือน ก็ยังคงเลือกได้ว่า จะใช้อุปกรณ์ IoT ทำ Smart Home หรือไม่ทำก็ได้ เนื่องจากผลที่ได้คือความสะดวกสบายแบบส่วนตัว ถ้าไม่มีก็ไม่ได้เสียหายอะไร และทั้งนี้ในหมู่บ้านหรืออพาร์ทเม้นท์ที่อาศัยอยู่ อาจมีการติดตั้งอุปกรณ์ IoT ให้เองแทนเลยครับ