มารู้จักกับ UltraRAM แรมแห่งอนาคต รวมร่าง ‘ที่เก็บข้อมูล’ กับ ‘หน่วยความจำ’ ในตัวเดียว

เป็นเวลานานแล้วที่ ‘RAM’ แรมหรือหน่วยความจำ กับ ‘Storage’ พื้นที่เก็บข้อมูล ทำงานแยกกันในฝั่งอุปกรณ์ PC ทว่าล่าสุดมีงานวิจัย ที่สามารถจับให้เทคโนโลยีทั้งสองมาอยู่ในร่างเดียวกันได้ จนกลายเป็นหน่วยความจำรูปแบบใหม่ที่เรียกว่า UltraRAM ซึ่งมีดีทั้งความเร็วและการจัดเก็บแบบข้อมูลถาวรได้ในตัวเดียว

RAM หรือ Random Access Memory อาจเรียกได้ว่าเป็นหน่วยความจำชั่วคราว ซึ่งจะมีการเก็บข้อมูลก็ต่อเมื่อมีไฟเลี้ยงเท่านั้น หากปิดเครื่อง PC ข้อมูลที่เก็บไว้จะหายทันที (Volatile) ทว่าก็แลกมากับความเร็วในการถ่ายทอด ‘ชุดคำสั่ง’ ไปยังส่วนต่าง ๆ ของ PC ได้อย่างรวดเร็ว

ในขณะที่ Storage พื้นที่เก็บข้อมูล ซึ่งมีทั้ง ROM , HDD และ SSD ในปัจจุบัน เป็นหน่วยความจำชนิดถาวร สามารถเก็บข้อมูลต่อได้ แม้ไม่มีไฟเลี้ยงก็ตาม (Non-volatile) ซึ่ง PC สมัยใหม่มักใช้ SSD ในการเก็บข้อมูลเป็นหลัก

ด้วยความแตกต่างนี้เอง ทำให้ต้องมีการแยกใช้งานระหว่างกัน แม้จะเป็นหน่วยความจำเหมือนกันก็ตาม ทว่าล่าสุด ทางกลุ่มนักวิจัยแผนกฟิสิกส์และวิศวกรรมจากมหาวิทยาลัยแลงคาสเตอร์ (Lancaster) ได้ตัดสินใจ ลองพัฒนาหน่วยความจำยุคใหม่ ที่มีข้อดีจากทั้งสองเทคโนโลยีรวมกันซะเลย

จึงกำเนิดเป็น UltraRAM หน่วยความจำแห่งอนาคต ที่มีทั้ง RAM และ SSD ในร่างเดียว โดยมีทั้งความเร็วในการจัดส่งข้อมูลสูง เก็บข้อมูลแบบถาวรได้ และส่วนสำคัญเลยคือ ความทนทาน ซึ่งทางกลุ่มนักวิจัยระบุเลยว่า ตัวแรมอาจเก็บรักษาข้อมูลได้นานถึง 1,000 ปี และรองรับการเขียนทับข้อมูลได้มากกว่า 10 ล้านครั้ง ทว่าตอนนี้ยังคงเป็นทฤษฎี

สำหรับเบื่องหลังของ UltraRAM จุดนี้ต้องบอกเลยว่า มีความซับซ้อนสูงมาก ซึ่งหลัก ๆ คือมีการใช้วัสดุ ‘สารกึ่งตัวนำแบบผสม’ และมีการใช้เทคโนโลยีใหม่ที่เรียกว่า ‘InAs quantum wells’ ใช้หลักควอนตัมเข้ามาด้วย จุดนี้ใครอยากดูวิธีอย่างละเอียด (กับมีความรู้ด้านนี้เป็นพิเศษด้วย) ลองไปดูเพิ่มเติมได้ที่

https://onlinelibrary.wiley.com/doi/10.1002/aelm.202101103

ท้ายนี้ตัว UltraRAM อาจทำให้บางคนนึกถึง Intel Optane หน่วยความจำช่วยเร่งความเร็ว PC ที่ใช้ช่อง M.2 ในการเชื่อมต่อ ทว่าก็ยังไม่ใช่ทั้ง RAM และ SSD แต่อย่างใด ในขณะที่ UltraRAM อาจเป็นได้ทั้ง 2 อย่างเลย รอดูเลยว่าหากพัฒนาได้สำเร็จจริง ๆ วงการ PC และเทคโนโลยีได้มีสะเทือนแน่ ๆ ครับ

ที่มา : Techspot