วิศวกรโยธาที่มีความเชี่ยวชาญด้านเทคนิคการปรับปรุงดินและการประยุกต์ใช้วัสดุรีไซเคิลในงานวิศวกรรมถนน เป็นผู้ได้รับรางวัลวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีประเภทบุคคล ส่วนประเภทหน่วยงานเป็นของห้องปฏิบัติการเฉพาะทางการฉีดขึ้นรูปโลหะผง ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC)
ในโอกาสครบรอบ 30 ปี ในการมอบรางวัลของมูลนิธิโทเร เพื่อการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ ประเทศไทย คณะกรรมการสาขารางวัลวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้มีมติเอกฉันท์ยกย่องให้ ศาสตราจารย์ ดร. สุขสันติ์ หอพิบูลสุข สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิชาวิศวกรรมโยธา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี เป็นผู้ได้รับรางวัลวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประเภทบุคคล
ศาสตราจารย์ ดร. สุขสันติ์ หอพิบูลสุข ปัจจุบันเป็นภาคีสมาชิก สำนักวิทยาศาสตร์ ราชบัณฑิตยสภา และเป็นวุฒิวิศวกรโยธาที่มีความเชี่ยวชาญด้านเทคนิคการปรับปรุงดินและการประยุกต์ใช้วัสดุรีไซเคิลในงานวิศวกรรมถนน โดยมีผลงานวิจัยโครงสร้างชั้นทางที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และผลงานวิจัยด้านวัสดุสังเคราะห์ในงานวิศวกรรมโยธา รวมทั้งพัฒนาห้องปฏิบัติการวัสดุสังเคราะห์สมบูรณ์แบบที่มีความพร้อมด้านเครื่องมือทดสอบและด้านบุคลากร เพื่อตอบสนองความต้องการด้านการตรวจสอบคุณภาพและสมบัติทางวิศวกรรมของวัสดุสังเคราะห์ของประเทศ โดยมีผลงานเผยแพร่ในวารสารระดับนานาชาติที่อยู่ฐานข้อมูล SCOPUS จำนวน 387 เรื่อง ได้รับการอ้างอิงรวมทั้งสิ้น 16,878 ครั้ง มี h-index 72 มีผลงานที่ได้รับอนุสิทธิบัตรจำนวน 1 เรื่อง ได้ผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพในระดับดุษฎีบัณฑิต 26 ราย และมหาบัณฑิต 37 ราย และได้รับรางวัลวิจัยอันทรงเกียรติ อาทิ เมธีวิจัยอาวุโส สกว. พ.ศ. 2556 และ 2559 นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขาวิศวกรรมศาสตร์และอุตสาหกรรมวิจัย พ.ศ. 2562 นักวิจัยแกนนำ พ.ศ. 2563 และ Telford Premium Prize พ.ศ. 2564 เป็นต้น
สำหรับหน่วยงานที่ได้รับการคัดเลือกให้รับรางวัลวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำปีพุทธศักราช 2566 คือ ห้องปฏิบัติการเฉพาะทางการฉีดขึ้นรูปโลหะผง ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยมีผลงานวิจัยและพัฒนาเกี่ยวกับโลหะผงวิทยา ตัวอย่างได้แก่ การขึ้นรูปวัสดุใหม่ หรือการเพิ่มสมบัติของชิ้นงานที่ขึ้นรูป เช่น การเพิ่มสมบัติการต้านทานการกัดกร่อน และได้เผยแพร่และถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านโลหะผงวิทยาสู่อุตสาหกรรมไทยเพื่อยกระดับความสามารถอุตสาหกรรมการผลิตชิ้นส่วนของไทยให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก
นอกจากรางวัลวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแล้ว มูลนิธิโทเรฯ ยังได้มอบทุนช่วยเหลือทางด้านวิจัยวิทยาศาสตร์และ เทคโนโลยี โดยหัวข้อวิจัยจะต้องเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมหรือต่อการพัฒนาองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
นอกจากนี้ เพื่อเป็นการส่งเสริมกระตุ้นให้มีการเรียนการสอนและการค้นคว้าวิจัยด้านการศึกษาวิทยาศาสตร์ในระดับโรงเรียน นอกจากนี้ มูลนิธิฯ ยังได้คัดเลือกให้มีผู้ได้รับรางวัลในระดับมัธยมศึกษาตอนต้นและตอนปลาย โดยได้มอบเงินรางวัลให้กับครู/อาจารย์ผู้ชนะรางวัลในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น และในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย รวมทั้งได้มอบเงินสนับสนุนห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ให้แก่โรงเรียนต้นสังกัด เพื่อสนับสนุนการจัดซื้ออุปกรณ์ วิทยาศาสตร์สำหรับการทำโครงงานวิทยาศาสตร์ของครูและนักเรียนอีกด้วย
มูลนิธิโทเรเพื่อการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ประเทศไทย ได้ดำเนินกิจกรรมอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 30 เพื่อยกย่องเชิดชูเกียรติแก่บุคคลและหน่วยงาน ที่มีผลงานดีเด่นทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยบุคคลและหน่วยงานที่ได้รับรางวัลวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจะได้รับโล่รางวัล พร้อมด้วยเงินรางวัลมูลค่ารางวัลละ 4 แสนบาท พร้อมทั้งมอบทุนสนับสนุนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จำนวน 4 ล้านบาทให้กับนักวิจัยที่มีผลงาน โดดเด่น และรางวัลแก่ครูอาจารย์ด้านการศึกษาวิทยาศาสตร์อีก 725,000 บาท รวมเป็นเงินรางวัลและเงินทุนสนับสนุนทั้งสิ้น 5,525,000.- บาท