เผยผลการสำรวจจาก Priceza.com ถึงสถิติการค้นหาสมาร์ทโฟนบนเว็บไซต์ ในช่วงไตรมาสที่ 1 ของปี 2016 หรือตั้งแต่ เดือนมกราคม – มีนาคม 2016 ที่ผ่านมา พร้อมเจาะพฤติกรรมผู้บริโภค กับแนวโน้มความนิยมสมาร์ทโฟน ในปีนี้
Priceza.com เชื่อว่าทุกคนคงรู้จักเว็บนี้กันดี เพราะไม่ว่าใครก็ตาม ย่อมอยากรู้ราคาสินค้าที่ต้องการ อยากรู้แหล่งขาย และเปรียบเทียบราคาสินค้ากับร้านอื่น ๆ ไปพร้อมกัน แต่ในวันนี้ทางเว็บ ได้นำข้อมูลที่น่าสนใจมาฝากกันคือ “10 อันดับสมาร์ทโฟนที่คนไทยนิยมค้นหาใน Priceza.com” โดยทางเว็บไซต์ได้มีการจัดอันดับสมาร์ทโฟนที่กลุ่มผู้เข้าชมเว็บไซต์นิยมค้นหามากที่สุดในช่วงไตรมาสที่ 1 ของปี 2016 หรือตั้งแต่ เดือนมกราคม – มีนาคม 2016 ที่ผ่านมา ส่วนผลสำรวจที่ได้คือ
10 อันดับสมาร์ทโฟนที่คนไทยนิยมคือ สมาร์ทโฟนที่มีราคาไม่ถึงหมื่นห้า!!
เป็นที่น่าแปลกใจอยู่เล็กน้อย กับผลสถิติจำนวนการค้นหารุ่นสมาร์ทโฟน เพราะจากตารางผลสำรวจนั้นพบว่า คนไทยนิยมค้นหาสมาร์ทโฟนที่มีราคาไม่ถึง 15,000 บาท หรือรุ่นที่ราคาราว ๆ นี้ แต่ทั้งนี้ยังพบอีกว่า
ใน 10 อันดับแรก กลับไม่มีสมาร์ทโฟนของค่าย Samsung เลย….
จากฐานข้อมูลของเว็บ Priceza ในอีก 5 อันดับถัดไป สมาร์ทโฟนจาก Samsung ก็ไม่ติดโผเช่นกัน ซึ่งใน 5 อันดับถัดไปนั้น ประกอบด้วย Acer Smartphone Liquid Z500, Sony XPERIA M4 AQUA, Apple iPhone 5 16 GB, Apple iPhone 5C 16 GB และ HUAWEI P8 LITE ส่วนสมาร์ทโฟน ของ Samsung ที่ติดอันดับนั้น คือรุ่น Samsung galaxy J5 3G โดยมียอดการค้นหาอยู่ในอันดับ ที่ 17 จำนวนการค้นหา 129,863 ครั้ง ส่วนอีกรุ่นที่ติดโผ 1 ใน 20 ก็คือ Samsung Galaxy Note Edge ซึ่งมีจำนวนการค้นหา 95,597 ครั้ง
อันดับ 1 คือ iPhone 5S 16 GB จากค่าย Apple ซึ่งมียอดค้นหาสูงถึง 982,627 ครั้ง
จากการวิเคราะห์รายชื่อรุ่นโทรศัพท์มือถือ หรือสมาร์ทโฟน ที่มีผู้เข้าชมเว็บไซต์ได้ค้นหาในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา ในไตรมาสแรกของปี 2016 นั้นพบว่า สมาร์ทโฟนที่มีคนค้นหามากที่สุดเป็น อันดับ 1 คือ iPhone 5S 16 GB จากค่าย Apple ซึ่งมียอดค้นหาสูงถึง 982,627 ครั้ง โดยยังไม่รวมกับสถิติการค้นหา ของ iPhone 5S ในรุ่นความจุอื่นๆ อีก 2 รุ่น นั่นคือ Apple iPhone 5S 32 GB ยอดการค้นหา 716,236 ครั้ง และ Apple iPhone 5S 64 GB ยอดการค้นหา 698,797 ครั้ง นั่นหมายความถ้ารวมสถิติการค้นหาของ iPhone 5S ทั้งหมด รวมแล้วเท่ากับว่า สถิติการค้นหา iPhone 5S สูงถึง 2,397,660 ครั้ง ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2016
สมาร์ทโฟนที่มีคนค้นหามากที่สุดเป็นอันดับ 2 นั่นคือ OPPO N1 mini 16 GB มียอดการค้นหา 552,309 ครั้ง ห่างจาก iPhone 5S หลายเท่า ส่วน อันดับ 3 คือ WIKO HIGHWAY SIGNS 4.7HD มียอดการค้นหา 551,700 ครั้ง ถือว่าใกล้เคียงกับ OPPO มาก
ถ้าสรุปสถิติการค้นหาเป็นรายการยี่ห้อสมาร์ทโฟนโดยเป็นเปอร์เซ็นต์ของการค้นหานั้น จากวิเคราะห์ความนิยมในแบรนด์ จากยอดรวมการค้นหาทั้งหมดใน 30 Top Search ซึ่งมีจำนวน 9,733,067 search พบว่า แบรนด์ที่มีคนนิยมค้นหามากที่สุดในช่วงไตรมาสแรกของปี 2016 คือยี่ห้อ Apple โดยคิดเป็น 37.67% รองลงมาคือ ยี่ห้อ Oppo ซึ่งมียอดเสิร์ชคิดเป็น 12.53% อันดับ 3 คือ ยี่ห้อ Hauwei 8.57% อันดับ 4 คือ ยี่ห้อ Asus 6.41% และอันดับ 5 คือ ยี่ห้อ Wiko 5.66%
จากการวิเคราะห์สถิติ สำหรับ Apple นั้น ที่ยอดเสิร์ชสูงอาจจะเป็นเพราะว่ากลุ่มผู้ใช้สมาร์ทโฟน นั้นรู้จักกับผลิตภัณฑ์ของแบรนด์เยอะกว่าแบรนด์อื่นๆ ซึ่งสอดคล้องกับแนวโน้มการใช้สมาร์ทโฟนในประเทศไทย ที่พบว่า 52% เป็นคนไทยที่จะซื้อ iPhone ด้วย
ส่วนยี่ห้อ Samsung นั้น ก็ไม่ติดโผ 1 ใน 5 อีกแล้ว ทั้งนี้ถ้าลองวิเคราะห์ดู อาจเป็นเพราะว่า โทรศัพท์มือถือ Samsung มีหลากหลายรุ่น หลายหลายประเภทมาก เมื่อ SKU กว้าง โอกาสที่คนจะเสิร์ชหาโทรศัพท์รุ่นเก่าๆ ก็น้อยลง เพราะจดจำไม่ได้ ต่างกับ iPhone ซึ่งมีเพียงไม่กี่รุ่น เวลาที่รุ่นใหม่ๆ ออกมา การกลับไปเสิร์ชดูรุ่นเก่าๆ นั้นง่ายกว่า
แนวโน้มเศรษฐกิจมีผลต่อการตัดสินใจซื้อสมาร์ทโฟนหรือไม่
จากสถิติ 10 อันดับสมาร์ทโฟน ข้างต้นที่เรานำเสนอนั้น สามารถวิเคราะห์ถึงแนวโน้มของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ซึ่งจากแต่เดิมคนจะนิยมใช้สมาร์ทโฟนเรือธง ที่มีราคาสูงเกิน 20,000 บาทขึ้นไป แต่พอมาถึงปัจจุบัน เราจะพบได้ว่า สมาร์ทโฟนในอันดับต้นๆ ที่มีคนค้นหานั้น มีราคาอยู่ช่วงราคากลางๆ ตั้งแต่ 7,000 บาทขึ้นไป จนถึง ราคาไม่เกิน 14,000 บาท เมื่อผลโพลออกมาเช่นนี้ นั้นแสดงว่า การวางขายของสมาร์ทโฟนรุ่นใหม่ กำลังสวนทางกับความนิยม
เพราะถ้าวิเคราะห์จากช่วงราคาสมาร์ทโฟนที่ผู้ใช้นิยม กับการวิเคราะห์ถึงสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบันนั้น ถือว่ามีความสอดคล้องกัน เพราะสถานการณ์เศรษฐกิจไทยเดือนม.ค. 2559 มีการแผ่วตัวสอดคล้องกับทิศทางที่เปราะบางของเศรษฐกิจโลก
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้มีการวิเคราะห์ว่า จากต้นปี 2559 เป็นต้นมา สถานการณ์เศรษฐกิจไทยถูกทดสอบจากหลายตัวแปรความเสี่ยงที่เข้ามาพร้อมๆ กันหลายด้าน ไล่เรียงตั้งแต่ ความผันผวนของเศรษฐกิจและตลาดการเงินโลกที่มีผลกระทบต่อการส่งออก (และการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท) และกดดันราคาสินค้าเกษตรหลายชนิดให้ทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ ซึ่งเป็นการซ้ำเติมรายได้ของเกษตรกรที่แต่เดิมก็ต้องรับมือกับปัญหาภัยแล้งอยู่ก่อนแล้ว นอกจากนี้ ผลกระตุ้นการบริโภคภาคเอกชนจากปัจจัยหนุนชั่วคราว (ทั้งการเร่งซื้อรถยนต์ก่อนการปรับขึ้นภาษีสรรพสามิต และมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายช่วงเทศกาลปีใหม่) ก็เริ่มหมดลง ซึ่งทำให้การใช้จ่ายสินค้าคงทน และกึ่งคงทนกลับมาหดตัวลง
ข้อมูลน่าสนใจ
จากสถิติและมุมมองของอุตสาหกรรมโทรคมนาคมไทย พบว่าปี 2558 ผู้ใช้งานมีจำนวนถึง 87 ล้านเลขหมาย คิดเป็นสัดส่วนราว 130% ของจำนวนประชากรไทย และการใช้งาน 4G ในปี 2561 มีการคาดการณ์ว่า จำนวนผู้ใช้งานจะเพิ่มอย่างต่อเนื่องกว่า 30% ของจำนวนผู้ใช้มือถือทั้งหมด และคาดว่าภายในปี 2561 สัดส่วนของการใช้สมาร์ทโฟนจะอยู่ที่ราว 90% ของจำนวนมือถือทั้งหมด ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 2558 ที่มีอยู่ราว 62%
ขอขอบคุณบทความและข้อมูลทั้งหมดจากเว็บไซต์ Priceza.com