เจาะประเด็น Tiktok เมื่อ Trump สั่งแบน แต่ Microsoft เตรียมซื้อ

จากข่าวใหญ่เมื่อวาน เมื่อดอนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) ประธานาธิบดีสหรัฐฯ เตรียมสั่งแบน TikTok ในสหรัฐฯ จากเหตุความมั่นคง แต่ในช่วงเวลาเดียวกัน Microsoft ก็ยืนยันเตรียมเข้าซื้อ TikTok (หลังมีข่าวลือก่อนหน้า) และเข้าหารือกับ Trump ทันที จนล่าสุดตัวแอปฯ TikTok ได้ถูกยึดเวลาสั่งแบนไปจนถึงวันที่ 15 กันยายน 2020 นี้
 
นับเป็นข่าวที่พลิกผันและชวนติดตามไม่น้อย ก่อนหน้านี้ทางกองทัพสหรัฐฯ มีคำสั่งให้คนในหน่วยงานลบแอปฯ TikTok ออกจากเครื่อง ต่อมา Donald Trump ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อ เผยเตรียมสั่งแบน TikTok ไม่ให้ใช้ในสหรัฐฯ เนื่องจาก ‘เหตุความมั่นคง’ อ้างตัวแอปฯ ส่งข้อมูลผูู้ใช้ให้รัฐบาลจีน !!
 
ปัจจุบัน TikTok ถูกแบนไม่ให้ใช้ในอินเดียเรียบร้อย อีกทั้งยังมี ออสเตรเรีย กับ ญี่ปุ่น ก็กำลังพิจารณาสั่งแบนด้วย โดยมี ‘เหตุความมั่นคง’ เช่นเดียวกัน
 
คำถามที่หลาย ๆ คนสงสัยกันทั่วโลกคือ “เหตุความมั่นคงอะไร ?” “ทางรัฐบาลจีนมีส่วนเกี่ยวข้องจริงหรือ ?” และ “มีการขโมยข้อมูลส่วนตัวจริงหรือไม่ ?” จากที่มีการอ้างถึงเหตุดังกล่าวก็ยังไม่มีหลักฐานชัดเจนใด ๆ เช่นเดียวกับกรณีของ Huawei ที่ถูกแบนด้วยเหตุผลเดียวกัน จนกลายเป็นสงครามการค้า (Trade war) ในปัจจุบัน
หลายฝ่ายมองว่า Donald Trump มีปัญหากับทางการจีนชัดเจน จากที่ผ่านมาก็แสดงให้เห็นถึงความขัดแย้งที่หนักข้อเรื่อย ๆ นับตั้งแต่การสั่งแบน Huawei (โดยเฉพาะ 5G จาก Huawei) ปัญหาทะเลจีนใต้ และฉนวนใหญ่อย่างไวรัส COVID-19 ซึ่งระบาดที่แรกในจีน จากนั้นก็ลามไปทั่วโลก โดยสหรัฐฯ มียอดผู้ติดเชื้อเป็นอันดับต้น ๆ นำไปสู่การตอบโต้อย่างดุเดือด ถึงขั้นสั่งปิดสถานกงสุลของทั้งสองฝ่ายในที่สุด
 
จากเหตุทั้งหมดทั้งมวลทำให้มองได้อีกว่า การสั่งแบน TikTok อาจไม่ใช่เรื่องความมั่นคง แต่เป็น ‘การเมือง’ มากกว่า หรือเป็นการแย่งชิง ‘ความเป็นหนึ่ง’ ในโลก ซึ่งปัจจุบันสหรัฐฯ เป็นพี่ใหญ่สุด จีนเป็นอันดับ 2 แต่ก็มีคาดการณ์ว่าจีนจะแซงหน้าสหรัฐฯ ในอนาคตอันใกล้
ลองกลับมาที่ TikTok ซึ่งเป็นแอปฯ Social video พัฒนาโดยบริษัท ByteDance จากจีน โดยมีอีกชื่อว่า 抖音 (Douyin) หรือ “โต่วอิน” จากเดิมเป็นแอปฯ ที่มีผู้ใช้งานมากในระดับหนึ่ง แต่วันหนึ่ง TikTok กลับมีความนิยมไปทั่วโลก และกลายเป็นแอปฯ Social Video ที่มียอดดาวน์โหลดรวมกว่า 2,000 ล้านครั้ง โดยประเทศอินเดียมีผู้ใช้งานสูงสุด (และโดนสั่งแบนไปเรียบร้อย) ตามมาด้วยสหรัฐฯ และจีน
สำหรับตัวแอปฯ ก็มีคอนเซ็ปต์ที่น่าสนใจคือ ‘วีดีโอสั้น’ ที่กลายเป็นอีก Content ยอดนิยม อีกทั้งในวีดีโอ ผู้อัพโหลดสามารถเลือกใช้เพลงที่มีลิขสิทธิ์ได้อย่างอิสระ (ตราบใดที่อยู่ในแพลตฟอร์มของ TikTok) ไม่ต้องกังวลเรื่อง ‘คลิปบิน’ เหมือนใน Youtube หรือ Facebook สุดท้ายคือการทำ Challenge ท้าท้ายกัน
 
เช่น ‘This is My VOICE Challenge’ ถ่ายคลิปสั้น ๆ บรรยายการเปลี่ยนแปลงของสำเนียง หลังไปใช้ชีวิตในต่างประเทศ ผ่านไป 1 วัน เสียงยังไม่เปลี่ยน ผ่านไป 1 อาทิตย์ สำเนียงเริ่มมา ผ่านไป 1 เดือน เริ่มมีการแต่งกาย สุดท้ายผ่านไป 1 ปี กลายสภาพเรียบร้อย…
 

 

ส่วนเรื่อง ‘ข้อมูลส่วนตัว’ ตัวแอปฯ TikTok มีการขอสิทธิ์เข้าถึงการใช้สมาร์ทโฟนหลายอย่างเหมือนกัน อาทิ ไมโครโฟน กล้อง การใช้ Wi-Fi ข้อมูลตำแหน่งหรือ location รายชื่อผู้ติดต่อ ข้อมูลการโทร รูปภาพ/สื่อ/ไฟล์ และอีกเพียบ (ลองดูได้ใน Google Play) จุดนี้ก็อาจเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ TikTok ถูกมองว่ามีความเสี่ยงนั้นเอง
 
หากมีการสมัครสมาชิก ตัวแอปฯ ก็จะขอข้อมูลต่าง ๆ เช่น วันเกิด เบอร์โทร อีเมล์ (ไม่ต่างจากแอปฯ ที่ใช้ ๆ กัน) หลังสมัครแล้ว ต่อไปคือข้อมูลการใช้งานจริง ๆ เราชอบดูวิดีโออะไร มีการแสดงความคิดเห็นอะไร มีวิดีโออะไรบ้างที่อัพโหลด ไปจนถึงที่อยู่ของผู้ใช้ ทาง TikTok รู้หมด แต่ข้อมูลเหล่านี้จะถูกนำไปใช้งานด้านไหน ถูกส่งไปที่รัฐบาลจีนจริงหรือไม่ ก็ไม่อาจทราบได้
 
ที่ผ่านมา TikTok ก็ออกมาปฎิเสธโดยตลอด โดยเฉพาะข้อกล่าวหาเรื่องส่งข้อมูลไปรัฐบาลจีน หากมีการขอข้อมูลมาจริง ทาง TikTok ก็ยืนยันว่าจะไม่ให้ และย้ำว่าข้อมูลผู้ใช้ในสหรัฐฯ ก็ถูกเก็บไว้ในสหรัฐฯ กับมีเซิร์ฟเวอร์สำรองในสิงคโปร์ กล่าวคือศูนย์ข้อมูลทั้งหมดอยู่นอกประเทศจีน และไม่อยู่ภายใต้กฎหมายของจีน

จากข่าวล่าสุด TikTok ถูกต่ออายุไปอีกประมาณ 45 วัน หรือยึดระยะเวลาไปในวันที่ 15 กันยายน 2020 ซึ่งจะเป็นวันสิ้นสุดการเจรจาซื้อขายจาก Microsoft ที่ออกมายืนยันแล้วว่า จะเข้าซื้อ TikTok จริง ซึ่ง Satya Nadella ซีอีโอของ Microsoft ได้เข้าไปคุยกับ Donald Trump โดยตรง จนได้ผลลัพธ์ดังกล่าว

ถามว่าทำไม Microsoft ถึงเข้าซื้อ ก็ง่าย ๆ เลยคือ จำนวนผู้ใช้งาน และข้อมูลผู้ใช้อันมหาศาลใน TikTok และตัวแพลตฟอร์มที่สามารถต่อยอดได้อีกมาก หรืออาจช่วยลดข้อพิพาทระหว่างสหรัฐฯ กับจีนได้บ้างนั้นเอง

ส่วนทางด้าน TikTok ก็ยังไม่มีการแสดงความคิดเห็นในกรณีนี้ รอติดตามกันว่า TikTok จะถูกซื้อโดย Microsoft หรือไม่ และจะมีข้อสรุปยังไงกันแน่รอดูกันต่อไปครับ สุดท้ายนี้ก็ขอทิ้งท้ายว่า การแบน TikTok ของสหรัฐฯ หรือ Donald Trump ครั้งนี้ ก็ยังเป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น…