ง่ายกว่าที่คิด จีนใช้ตะกรันจากการต้มน้ำ ช่วยดักจับ ไมโครพลาสติก

ไมโครพลาสติก

เรารู้กันดีว่าในปัจจุบันไมโครพลาสติกหรืออนุภาคพลาสติกขนาดเล็กจิ๋ว กำลังปนเปื้อนเข้าสู่ร่างกายมนุษย์ในปริมาณที่น่ากังวล โดยเฉพาะอาหารและน้ำดื่มที่เรากินเข้าไปทุกวัน

Techhub  อยากพาไปดูข่าวดีจากงานวิจัยที่ตีพิมพ์เมื่อราวต้นปี 2024 โดยทีมนักวิทยาศาสตร์จาก Guangzhou Medical University และ Jinan University ในประเทศจีน ซึ่งค้นพบวิธีการที่ง่ายและมีประสิทธิภาพสูง ในการกำจัดอนุภาคพลาสติกเหล่านี้ออกจากน้ำประปา โดยการใช้ตะกรันจากการต้มน้ำเพื่อดักจับพลาสติก

หัวใจสำคัญของวิธีนี้ คืออาศัยคุณสมบัติของน้ำประปา โดยเฉพาะน้ำที่มีลักษณะกระด้าง (Hard Water) ที่แร่ธาตุแคลเซียมคาร์บอเนตละลายอยู่สูง โดยเมื่อนำน้ำกระด้างไปต้ม ความร้อนจะทำให้แร่ธาตุเหล่านี้ตกตะกอนกลายเป็นตะกรันหรือคราบหินปูน (คล้ายคราบขาวขุ่นที่มักเกาะในกาต้มน้ำ) ซึ่งในระหว่างกระบวนการตกตะกอนนี้เอง ตะกรันจะทำหน้าที่เหมือน โครงสร้างที่ช่วยดักจับและห่อหุ้ม (encapsulate) อนุภาคนาโนและไมโครพลาสติก (NMPs) ที่ปะปนอยู่ในน้ำเอาไว้

จากการทดลองเติม NMPs ลงในน้ำตัวอย่างแล้วนำไปต้ม ก่อนจะกรองตะกอนออก พบว่าในน้ำกระด้าง วิธีนี้สามารถกำจัด NMPs ออกไปได้ สูงถึง 90% โดยประสิทธิภาพจะยิ่งสูงขึ้นตามระดับความกระด้างของน้ำ

แต่ใน Soft Water แม้จะมีแร่ธาตุให้ตกตะกอนน้อยกว่า แต่การต้มและกรองก็ยังช่วยกำจัด NMPs ออกไปได้ประมาณ 25% ข้อดีอย่างยิ่งของวิธีนี้คือ ความง่ายและเข้าถึงได้ ทุกครัวเรือนสามารถทำได้โดยใช้อุปกรณ์พื้นฐานที่มีอยู่แล้วคือ ต้มน้ำให้เดือด จากนั้นใช้ที่กรองที่หาได้ทั่วไป เช่นที่กรองชาหรือผ้าขาวบาง เพื่อกรองเอาตะกอนที่ดักจับพลาสติกไว้ออกไปก่อนนำน้ำไปดื่ม

แม้ปัจจุบันยังไม่มีข้อสรุปแน่ชัดว่าการสะสมของไมโครพลาสติกในร่างกายจะส่งผลเสียร้ายแรงเพียงใด แต่ก็มีงานวิจัยหลายชิ้นที่เริ่มชี้ให้เห็นถึงความเชื่อมโยงที่เป็นไปได้กับปัญหาสุขภาพ เช่น การเปลี่ยนแปลงของจุลินทรีย์ในลำไส้ หรือการดื้อยาปฏิชีวนะ

ทั้งนี้ งานวิจัยฉบับดังกล่าวได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร Environmental Science & Technology Letters ใครอยากอ่านฉบับ ลองไปดูกันได้นะ

บางคนอาจเกิดคำถามว่า เครื่องกรองทั่วไป กรองไมโครพลาสติกได้ไหม ? ก็ต้องตอบว่า มันขึ้นอยู่กับประเภทและคุณภาพของเครื่องกรองน้ำนั้นๆ นะ ไม่ใช่เครื่องกรองน้ำทุกชนิดที่ขายทั่วไปจะสามารถกรองไมโครพลาสติกได้เหมือนกันหมด ซึ่งต้องดูขนาดรูพรุนของไส้กรอง โดยไมโครพลาสติกที่มีขนาดเล็กสุด ๆ คือ 1 ไมครอนครับ หากไส้กรองสามารถกรองได้เล็กกว่านี้ ก็แปลว่าสามารถกรองไมโครพลาสติก

สำหรับบ้านใครที่ไม่มีเครื่องกรองประสิทธิภาพสูง ก็ต้มไปก่อนได้ครับ

ที่มา
sciencealert