จากรหัสไปรษณีย์ 5 หลัก ที่คนไทยใช้กันมาตั้งแต่ปี 2525 และคุ้นเคยกับการเขียนจ่าหน้าบนซองจดหมาย กล่องพัสดุ เชื่อว่าหลายคนคงไม่คิดว่า จะเปลี่ยนเป็นรหัสรูปแบบใหม่ ที่ชื่อว่า ดิจิทัลโพสต์ไอดี (Digital Post ID) ซึ่งจะรวบรวมข้อมูลของแต่ละคนอย่างครบครัน ทั้งชื่อ-นามสกุล เบอร์โทรศัพท์พร้อมความพิเศษในการระบุพิกัด ตำแหน่ง สถานที่ และพิกัดแนวดิ่ง ที่แม้จะอยู่บนอาคารชั้นสูงก็สามารถส่งของถึงมือได้ อีกทั้งยังเสริมเกราะรักษาความปลอดภัยด้านข้อมูลส่วนตัว โดยข้อมูลทั้งหมดจะถูกเก็บในรหัสดิจิทัลโพสต์ไอดี และเมื่อจะฝากส่งสิ่งของข้อมูลจะปริ้นออกมาในรูปแบบ QR Code ติดหน้าซอง หรือกล่องพัสดุแทน และมีเพียงเจ้าหน้าที่ไปรษณีย์ไทยเท่านั้นที่สามารถสแกนเข้าถึงข้อมูลเชิงลึกเพื่อจัดส่งได้ คลายข้อกังวลหากบุคคลอื่นหรือมิจฉาชีพมาสแกนขโมยข้อมูล
ดร.ดนันท์ สุภัทรพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด กล่าวว่า รหัสไปรษณีย์ใช้มานานกว่า 40 ปี ซึ่งไปรษณีย์ไทยคุ้นเคยกับการส่งสิ่งของถึงทุกบ้านได้อย่างถูกต้องแม่นยำ แม้บางฉบับหรือพัสดุบางกล่องอาจมีข้อมูลจ่าหน้าไม่ครบถ้วน ด้วยความชำนาญเส้นทางจึงทำให้จัดส่งพัสดุถึงประชาชนได้ถูกที่ ถ้าจุดแข็งนี้สามารถพัฒนาต่อยอดสู่การขนส่งหรืออุตสาหกรรมอื่นๆ ได้ย่อมเป็นประโยชน์กับคนไทยทุกคน กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมจึงได้มอบหมายให้ไปรษณีย์ไทยพัฒนาระบบดิจิทัลโพสต์ไอดี ขึ้นมาควบคู่กับระบบรหัสไปรษณีย์แบบเดิมเพื่อเป็นทางเลือกให้กับประชาชนได้ใช้งาน
“สำหรับประโยชน์ของดิจิทัลโพสต์ไอดี คือ ช่วยระบุตำแหน่งชัดเจน เพราะข้อมูลทั้งหมดอยู่ในฐานข้อมูล ผู้ใช้บริการลงทะเบียนกรอกข้อมูลง่าย ผู้ขนส่งได้รับข้อมูลชัดเจน ช่วยให้อุตสาหกรรมขนส่งและโลจิสติกส์บริหารการทำงานบริหารง่ายขึ้น และประสิทธิภาพการส่งของเพิ่มขึ้น ตอบโจทย์โลกอนาคต ที่อาจมีรูปแบบการขนส่งพัสดุที่หลากหลายมากกว่าในปัจจุบัน เช่น การขนส่งแบบโดรนหรือขนส่งแบบรถยนต์ไร้คนขับ เปลี่ยนที่อยู่ปลายทาง ยกตัวอย่างกรณีจัดทริปเที่ยวภูเก็ต แล้วเพิ่งจะสั่งชุดว่ายน้ำ ก็สามารถเปลี่ยนที่อยู่ในระบบดิจิทัลโพสต์ไอดีให้พัสดุไปส่งที่ภูเก็ตได้ ซึ่งผู้ขนส่งจะเปลี่ยนเส้นทางตามข้อมูลบน QR Code กระตุ้นรายได้แก่อุตสาหกรรมอื่นๆ เช่น การท่องเที่ยวในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีเจดีย์หลายแห่งงดงาม มีอายุหลายร้อยปีที่อาจไม่ได้มีการระบุตำแหน่งที่ชัดเจนแต่ระบบดิจิทัลโพสต์ไอดีสามารถตั้งค่าพิกัดได้ ช่วยให้โปรโมตแหล่งท่องเที่ยวในไทยแก่นักท่องเที่ยวได้มากขึ้น และช่วยให้คนจัดรูทเที่ยวเองได้สะดวกขึ้น รองรับการช่วยเหลือประชาชนในยามวิกฤต เช่นเกิดเหตุอุทกภัย หรืออุบัติเหตุบนท้องถนน เจ้าหน้าที่สามารถเข้าไปให้ความช่วยเหลือได้รวดเร็วยิ่งขึ้น”
ด้าน ดร.ปิยะนุช สัมฤทธิ์ นายกสมาคมขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์ไทย เผยถึงมุมมองต่อการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยห่วงโซ่โลจิสติกส์ไทยว่า เศรษฐกิจดิจิทัลจะเกิดขึ้นได้ ย่อมต้องสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลให้ประชาชนก่อน สำหรับระบบดิจิทัลโพสต์ไอดี นับเป็นจุดเริ่มต้นในการเริ่มทำโครงสร้างพื้นฐานดังกล่าว ที่จะเข้ามาช่วยพัฒนาภาคการขนส่งและโลจิสติกส์ ซึ่งถือเป็นภาคที่ช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจและดึงดูดนักลงทุนเข้ามาในประเทศ ให้มีความทันสมัยจากการใช้เทคโนโลยี เพิ่มประสิทธิผลลดต้นทุน ลดกระบวนการทำงาน คาดว่าจะเป็นกลไกที่ทำให้ผู้ประกอบการขนส่งต่างๆ เข้ามาทำงานใช้ข้อมูลร่วมกัน ทั้งนี้ วิถีการขนส่งยุคใหม่ล้อไปตามพฤติกรรมผู้บริโภค ที่จากเดิมผู้คนจะเดินไปหาร้านค้าหาสินค้า แต่ปัจจุบันสินค้าเดินทางหาผู้คนในสถานที่ที่ผู้คนอยู่ ฉะนั้นในฐานะภาคเอกชนด้านโลจิสติกส์สิ่งที่เตรียมพร้อมได้ก่อนใช้ระบบดิจิทัลโพสต์ไอดี คือ รู้รูปแบบการนำไปใช้งานจริง ศึกษาเคสจากต่างประเทศว่าใช้แล้วเป็นอย่างไรพร้อมปรับเป็นสไตล์ไทย ส่งเสริมสนับสนุนผู้ประกอบการขนส่งทั่วไทยให้รู้เท่าทันดิจิทัล โดยทั้งหมดนี้จะดีต่อประชาชน อุตสาหกรรม และการพัฒนาประเทศ
ขณะที่ คุณระชาวีย์ พูลสวัสดิ์ แม่ค้าออนไลน์ เพจชื่อดัง “RIREW เสื้อผ้าแฟชั่น”แชร์ประสบการณ์ปัญหาขายของออนไลน์ พร้อมมุมมองการมีดิจิทัลโพสต์ไอดีว่า การขายของมีปัญหาทุกวันอยู่แล้ว ซึ่งปัญหาหลักๆ ที่พบคือ การแพ็ค-จัดส่งสินค้าปริมาณมาก เดิมทุกพัสดุต้องเขียนชื่อ-ที่อยู่ด้วยมือ ทำให้ใช้เวลานาน ต้องรีบแพ็คสินค้าและจัดส่งสินค้าให้ทันเวลาขนส่งปิดทำการ แม้วันนี้มีการแปะข้อมูลหน้ากล่องที่สะดวกขึ้น แต่แม่ค้ามักไลฟ์สดขายของแบบอันลิมิต ทำให้ต้องสินค้าปริมาณมากก่อนส่ง การแจ้งข้อมูลชื่อ-ที่อยู่ที่คลาดเคลื่อน ลูกค้าแจ้งที่อยู่ผิด หรือบางรายแจ้งชื่อ-ที่อยู่ที่มีรายละเอียดมาก บางครั้งจึงเกิดปัญหาการสื่อสารผิดระหว่างแม่ค้าออนไลน์กับลูกค้า รวมถึงอาจเสียลูกค้าไป ลูกค้าต้องการความเป็นส่วนตัวมากขึ้น ทุกวันนี้ลูกค้าให้ความสำคัญต่อการรักษาข้อมูลส่วนตัวมากขึ้นจึงเริ่มไม่ชอบการแปะรายละเอียดหน้ากล่องที่มากเกินไป และมีการแจ้งขอลดทอนการใส่ข้อมูล ดังนั้นการมีระบบดิจิทัลโพสต์ไอดีให้ใช้นั้น คาดว่าจะช่วยเพิ่มความสะดวกให้แม่ค้าออนไลน์มากยิ่งขึ้น รวมถึงตอบโจทย์เรื่องข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งลูกค้ายุคดิจิทัลน่าจะชื่นชอบเพราะให้ความรู้สึกลักชัวรี่มากขึ้น ขณะเดียวกันในการเตรียมตัวใช้งาน ในฐานะแม่ค้าออนไลน์ ตั้งใจจะเป็นสื่อกลางส่งต่อข้อมูลให้แก่แม่ค้าออนไลน์และลูกค้า ทั้งข้อมูลการใช้และประโยชน์ที่ลูกค้าจะได้รับจากการเปลี่ยนแปลงสู่ดิจิทัลนี้
ส่งท้ายด้วย ดร.ปานระพี รพิพันธุ์ ผู้ประกาศข่าวและพิธีกรรายการชื่อดัง เผยว่า ตนเองเป็นลูกค้าซื้อของออนไลน์คนหนึ่ง ซึ่งสิ่งที่เคยเจอตั้งแต่เริ่มต้นเข้าสู่วงการเอฟของคือ หน้ากล่องพัสดุที่มาส่งที่บ้าน ใส่ข้อมูลรายละเอียดที่มาก ทั้งชื่อ เบอร์โทรศัพท์ส่วนตัว ข้อความภาษาพูดที่คุยกับแม่ค้า เช่น ฝากของที่คนนั้นคนนี้ ทำให้รู้สึกไม่สบายใจที่ข้อมูลเปิดเผยเกินไป หลังจากนั้นก็มีคอลเซ็นเตอร์โทรมาทุกวัน ดังนั้น การเปลี่ยนข้อมูลส่วนตัวเป็นรูปแบบ QR Code ของระบบดิจิทัลโพสต์ไอดี แล้วติดบนหน้ากล่องพัสดุ รวมทั้งไปรษณีย์ไทยมีการตั้งค่าการเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวในระบบ ที่คนอื่นในฐานะ User เมื่อสแกนแล้วจะไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลเชิงลึกได้ เช่น เห็นชื่อ เบอร์โทรไม่ครบทุกตัวอักษรมีเพียงบุรุษไปรษณีย์ไทยเท่านั้นที่เข้าถึงข้อมูลเพื่อจัดส่งพัสดุได้ จึงรู้สึกชื่นชอบมากในความคิดรอบคอบนี้มากๆ