ม.นเรศวร มาเหนือ พัฒนาเทคโนโลยีตรวจหาเศษซากเชื้อฝีดาษลิงจากน้ำเสีย ตรวจพบเชื้อได้ทันทีแม้มีผู้ติดเชื้อแค่คนเดียว แบบไม่ต้องรอให้มีอาการ
ทีมวิจัยลงพื้นที่ สนามบินสุวรรณภูมิ นำร่องสุ่มตรวจตัวอย่างหาเชื้อฝีดาษลิงโดยการตรวจเศษซากไวรัสในน้ำเสียโสโครก แนะตรวจหาเศษซากเชื้อฝีดาษลิงจากน้ำเสีย หวังสนับสนุนมาตรการเฝ้าระวังที่ภัยล่วงหน้า ประหยัดงบ แถมช่วยป้องกันการนำเข้าเชื้อจากต่างประเทศ
เนื่องจากไวรัสฝีดาษลิงจะถูกขับถ่ายออกมาทางอุจจาระของผู้ติดเชื้อ (แม้จะยังไม่แสดงอาการในช่วงระยะฟักตัว 7-14 วัน) ทำให้คณะวิจัยตรวจพบเศษซากไวรัสดังกล่าวในน้ำเสียโสโครกของเมือง ซึ่งรวมน้ำเสียจากทุกคนในทุกบ้านเรือนที่ขับถ่ายออกมาได้ โดยจะตรวจพบเศษซากไวรัส 7-14 วัน ก่อนที่ผู้ติดเชื้อจะรู้ตัวว่าตัวเองติดเชื้อและแสดงอาการ ทำให้สามารถควบคุมโรคได้ก่อนการระบาด
เทคนิคดังกล่าวเป็นแบบเดียวกับที่สหรัฐอเมริกาใช้ตรวจการระบาดของฝีดาษลิงในน้ำเสีย เป็นตัวชี้วัดการระบาดในระดับชุมชน โดย 1 ตัวอย่างน้ำเสียแทนการเฝ้าระวังทุกคนทั้งชุมชน และรวมถึงใช้เฝ้าระวังเชิงรุกและเตือนภัยล่วงหน้า สำหรับโควิด-19 ในชุมชน และอาคารสาธารณะใน 58 ประเทศทั่วโลก
การตรวจไวรัสฝีดาษลิงในน้ำเสียมีความปลอดภัย และไม่มีหลักฐานชี้ว่าสามารถติดฝีดาษลิงจากน้ำเสียได้ เช่นเดียวกับที่ไม่สามารถติดโควิด-19 จากเศษซากไวรัส SARS-CoV-2 ในน้ำเสีย ดังนั้นการตรวจเศษซากไวรัสฝีดาษลิงในน้ำเสียจึงเป็นมาตรการเฝ้าระวังที่ประหยัดงบประมาณ และตรวจพบเชื้อได้ทันทีที่มีผู้ติดเชื้อแม้คนเดียวในชุมชน หรือมีนักท่องเที่ยวติดเชื้อคนเดียวในทั้งสนามบิน
ก่อนหน้านี้ในช่วงที่โควิด-19 เริ่มระบาด ประเทศไทยไม่รู้จักเทคนิคระบาดวิทยาน้ำเสียเพื่อการเตือนภัยล่วงหน้า ทีมวิจัยต้องใช้เวลาถึงกว่า 1 ปีครึ่ง ในการพัฒนาห้องปฏิบัติการและเทคนิคการสกัด ในขณะที่ต่างประเทศสามารถปรับตัวใช้เทคนิคนี้ได้ในระยะเวลา 3-6 เดือนเนื่องจากมีความพร้อมทางเทคโนโลยีมากกว่า
แต่เมื่อเกิดการระบาดของฝีดาษลิง ตอนนี้ไทยมีความพร้อมและสามารถใช้เทคนิคนี้เฝ้าระวังการระบาดได้ไม่แพ้ต่างประเทศ เพราะมีองค์ความรู้ที่เพียงพอ และสามารถลงพื้นที่ตรวจหาเชื้อได้ทันที
อย่างไรก็ตาม ฝีดาษลิงเป็นโรคที่แพร่ระบาดไม่เร็ว แต่มีอัตราการเสียชีวิตร้อยละ 1-10 อย่างฝีดาษลิง การตรวจเศษซากไวรัสในน้ำเสียจากสนามบินหรือแหล่งท่องเที่ยว นับเป็นการเฝ้าระวังการระบาดที่สามารถเตือนภัยล่วงหน้าได้ ซึ่งเทคโนโลยีที่มีจะช่วยเพื่อลดโอกาสการนำเข้าเชื้อจากต่างประเทศ หากไม่สามารถตรวจหาเชื้อจากนักท่องเที่ยวทุกรายได้
ถึงแม้จะเป็นก้าวเล็กๆ แต่ก็ถือเป็นทางเลือกในการเฝ้าระวังโรคที่พอจะทำได้ครับ เราต้องรอดจากโรคนี้ไปด้วยกัน
ที่มา : สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)
#TechhubUpdate #ฝีดาษลิง