Thailand Robotics Week 2017 และ RoboCup Asia-Pacific 2017 เปิดฉากโชว์ศักยภาพวงการหุ่นยนต์ไทยเทียบชั้นระดับโลก พร้อมปูทางสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0
Thailand Robotics Week 2017 และ RoboCup Asia-Pacific 2017 เปิดฉากอย่างเป็น ทางการแล้ววันนี้ โดยได้รับเกียรติจากดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นประธานในพิธีเปิด ทั้งนี้ประเทศไทยได้รับเลือกจาก International RoboCup Federation ให้เป็นเจ้าภาพจัด RoboCup Asia-Pacific 2017 หรือ RCAP 2017 การแข่งขันวิชาการหุ่นยนต์ระดับนานาชาติครั้งแรกของภูมิภาค เอเชียแปซิฟิค เพื่อกระตุ้นการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ รวมถึงสร้างบุคลากรและ เครือข่ายนักประดิษฐ์หุ่นยนต์ พร้อมยกระดับมาตรฐานวงการหุ่นยนต์ในกลุ่มประเทศสมาชิกในเอเชียแปซิฟิค ซึ่งจัดขึ้นเป็นส่วนหนึ่งของ Thailand Robotics Week 2017 ระหว่าง 14 – 17 ธันวาคม ที่ศูนย์นิทรรศการและการ ประชุมไบเทค และงานสัมมนานานาชาติใน วันที่ 18 ธันวาคม ที่มหาวิทยาลัยมหิดลศาลายา
ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในฐานะประธานในพิธีเปิดงาน Thailand Robotics Week 2017 และ RoboCup Asia-Pacific 2017 กล่าวว่า “รัฐบาลได้ริเริ่มโมเดล “ไทยแลนด์ 4.0” เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศให้พ้นจากการเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลางขั้นต่ำ และก้าวไปสู่การเป็น ประเทศที่มีรายได้ขั้นสูง โดยมีอุตสาหกรรมหุ่นยนต์เป็นหนึ่งในเครื่องจักรสำคัญในผลักดันโมเดลนี้ให้ประสบความ สำเร็จและเติบโตเป็นอุตสาหกรรมใหม่ หรือ New S-Curve แต่แนวโน้มความต้องการใช้หุ่นยนต์ในอุตสาหกรรม ต่างๆ เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว เพราะผู้ประกอบการต้องการนำมาทดแทนแรงงานที่ขาดแคลน ช่วยเพิ่มผลผลิต และเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านการผลิตในตลาดส่งออก ในขณะที่ยังต้องพึ่งการนำเข้าเทคโนโลยี จากต่างชาติอยู่ การผลักดันคลัสเตอร์หุ่นยนต์จึงกลายเป็นนโยบายเร่งด่วนที่รัฐบาลให้ความสำคัญอย่างมาก”
“รัฐบาลพยายามส่งเสริมและพัฒนาคลัสเตอร์หุ่นยนต์ ผ่านการสนับสนุนด้านเงินทุนในรูปแบบกองทุน การร่วมทุน และสิทธิประโยชน์ทางภาษี อาทิ การหักค่าใช้จ่าย หักค่าเสื่อม เพื่อกระตุ้นให้เกิดความต้องการใช้ผู้ผลิตหุ่นยนต์ที่ เป็นบริษัทคนไทย ซึ่งถือเป็นปัจจัยกระตุ้นให้เกิดการซื้อชิ้นส่วนหุ่นยนต์ที่ผลิตภายในประเทศ แต่เพื่อการพัฒนา คลัสเตอร์หุ่นยนต์ของคนไทยอย่างยั่งยืนจำเป็นต้องพัฒนาด้าน Research and Development ด้านหุ่นยนต์และ ระบบอัตโนมัติที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการในเชิงพาณิชย์ได้จริง ซึ่งสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของการจัด งาน Thailand Robotics Week 2017 และ RoboCup Asia-Pacific 2017”
“งานนี้ไม่เพียงแต่ช่วยกระตุ้นด้านการวิจัยและพัฒนาวิทยาการหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติของเหล่านักประดิษฐ์ หุ่นยนต์ชาวไทย ทั้งยังได้ศึกษาและวัดขีดความสามารถของนักประดิษฐ์ชาวต่างชาติในเวทีการแข่งขันระดับสากล นอกจากนี้ ยังเปิดโอกาสให้นักพัฒนานวัตกรรมหุ่นยนต์ได้เข้าถึงแหล่งเงินทุนจากนักลงทุนอีกด้วย งาน Thailand Robotics Week 2017 และ RoboCup Asia-Pacific 2017 จึงมีความสำคัญต่อการผลักดันคลัสเตอร์หุ่นยนต์ของ ประเทศไทยให้เติบโตต่อไป มีส่วนสร้างบุคลากรในวงการหุ่นยนต์ เชื่อมโยงผู้ประกอบการและผู้ผลิตหุ่นยนต์ และที่สำคัญเป็นเวทีที่ได้แสดงศักยภาพของนักพัฒนาหุ่นยนต์ชาวไทยสู่สายตาชาวโลก” ดร.สุวิทย์ กล่าว
ด้านผศ.ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ ประธานจัดงาน Thailand Robotics Week 2017 และ RoboCup Asia-Pacific 2017 เปิดเผยว่า “ประเทศไทยได้เข้าร่วมการแข่งขันหุ่นยนต์ RoboCup ตั้งแต่ปี 2545 และเคยประสบ ความสำเร็จเป็นแชมป์โลกในประเภทหุ่นยนต์กู้ภัยและฟุตบอลหุ่นยนต์ ปัจจุบันวิทยาการหุ่นยนต์ของประเทศไทย พัฒนาขึ้นมาก ควบคู่กับการส่งเสริมที่เพิ่มขึ้นของภาครัฐ อาทิ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวง อุตสาหกรรม กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นต้น จนได้รับความเชื่อมั่นจาก International RoboCup Federation ให้เป็นเจ้าภาพจัด RoboCup Asia-Pacific 2017 ในครั้งนี้”
“โดยคณะจัดงานฯ ซึ่งประกอบด้วย มหาวิทยาลัยมหิดล บริษัท เอ็น.ซี.ซี. อินเตอร์เนชั่นแนล อีเว้นท์ จำกัด สมาคมวิชาการหุ่นยนต์แห่งประเทศไทย และ International RoboCup Federation ด้วยความร่วมมือจาก สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) (TCEB) จึงได้ริเริ่ม Thailand Robotics Week 2017 ขึ้น โดยนำรายการ RoboCup Asia-Pacific 2017 เข้ามาร่วมภายในงานฯ เพื่อเป็นการนำนวัตกรรมหุ่นยนต์ เข้าไปถึงกลุ่มเป้าหมายที่กว้างขึ้น นอกเหนือจากนักศึกษา สถาบันการศึกษา และหน่วยงานรัฐบาล โดยมุ่งไปที่ กลุ่มสตาร์ทอัพ นักพัฒนาซอฟต์แวร์ System Integrator ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมต่างๆ ไปจนถึงสถาบัน การเงิน นักลงทุน และธุรกิจร่วมลงทุน (Venture Capital) ทั้งยังเป็นการแสดงความพยายามอย่างจริงจังที่จะ ผลักดันให้ประเทศไทยก้าวไปสู่การเป็นเจ้าภาพจัดงานระดับโลก อย่าง World RoboCup 2021 อีกด้วย”
ภายใน Thailand Robotics Week 2017 จะประกอบไปด้วยงาน 4 ส่วน ได้แก่ การแข่งขันหุ่นยนต์ระดับนานาชาติ RoboCup Asia-Pacific 2017 การจัดนิทรรศการแสดงผลงานและผลิตภัณฑ์ด้านหุ่นยนต์ระดับนานาชาติ (International Robotics Exhibitions) การจัดงานส่งเสริมด้าน Robotics Start Up & Pitching Forum และ การประชุมวิชาการด้านหุ่นยนต์ระดับประเทศและนานาชาติ (RoboCup Asia-Pacific Robotics Symposium)
ในส่วนของ RoboCup Asia-Pacific 2017 คาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมกว่า 1,000 คนจากภูมิภาคเอเชียแปซิฟิคและ ทั่วโลกกว่า 25 ประเทศ ปัจจุบันมีทีมยืนยันสมัครเข้าแข่งขันกว่า 130 ทีม แบ่งเป็นกลุ่มอายุไม่เกิน 19 ปี หรือ RoboCupJunior League ที่จะทำการแข่งขัน 4 ประเภท คือ หุ่นยนต์เตะฟุตบอลขนาดเล็ก (RCJSoccer) หุ่นยนต์กู้ภัยขนาดเล็ก (RCJRescue) หุ่นยนต์นักแสดง (RCJOnstage) และการพัฒนาซอฟต์แวร์หุ่นยนต์ใน สภาพแวดล้อมจำลอง (RCJCo-Space) และกลุ่มอายุ 19 ปีขึ้นไป หรือ RoboCup Major League ทำการแข่งขัน 4 ประเภท ได้แก่ หุ่นยนต์เตะฟุตบอล (RoboCupSoccer) หุ่นยนต์กู้ภัย (RoboCupRescue) หุ่นยนต์บริการ
ในบ้าน RoboCup@Home และหุ่นยนต์อุตสาหกรรม (RoboCup@Work) สำหรับ RoboCup Asia-Pacific 2017 ครั้งนี้จะเพิ่มการแข่งขันประเภทใหม่ที่เรียกว่า RCAP Challenge ซึ่งประกอบไปด้วยการแข่งขันทั้งสิ้น 4 ประเภท คือ CoSpace Logistic Challenge, CoSpace Grand Prix Challenge, CoSpace Recue Challenge และ CoSpace Small Size League Challenge
ส่วนการจัดนิทรรศการแสดงผลงานและผลิตภัณฑ์ทางด้านหุ่นยนต์ระดับนานาชาติ (International Robotics Exhibitions) ได้รวบรวม System Integrator ของกลุ่ม Robotics Cluster ในประเทศไทยกว่า 20 ราย ที่ต้องการ ก้าวไปสู่อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ รวมทั้งสถาบันการศึกษา หน่วยงานรัฐและเอกชน นอกจากนี้ ยังมีผู้ประกอบการ ที่มาร่วมจัดนิทรรศการระดับโลกอย่าง World Robot Summit หรือ WRS ที่เป็นโครงการที่ทางรัฐบาลประเทศญี่ปุ่น กำลังดำเนินงานเพื่อจัดงานในปี 2020 ซึ่งเป็นปีที่ประเทศญี่ปุ่นประกาศให้เป็นปีทองของอุตสาหกรรมหุ่นยนต์
อีกไฮไลท์ของงาน Thailand Robotics Week 2017 ก็คือส่วนการจัดงานส่งเสริมด้านสตาร์ทอัพและการแข่งขัน นำเสนอผลงาน (Robotics Start Up & Pitching Forum) ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้สตาร์ทอัพสายหุ่นยนต์และ ระบบอัตโนมัติ นำไอเดียมาพูดคุยแลกเปลี่ยนความรู้ประสบการณ์จากผู้เชี่ยวชาญ และเข้าร่วมแข่งขัน Pitching กับนักลงทุน และ Venture Capital จากทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งคาดว่าจะมีสตาร์ทอัพประมาณ 30 – 40 ทีม เข้ามา Pitch และมีนักลงทุน Venture Capital และสถาบันการเงินราว 30 รายมาเข้าร่วมฟังการพรีเซนต์ โดยไอเดียที่สตาร์ทอัพจะนำเสนอต้องเกี่ยวข้องกับการนำหุ่นยนต์ ระบบอัตโนมัติ ปัญญาประดิษฐ์ (AI) หรือ IoT (Internet of Thing) เข้ามาแก้ปัญหาหรือพัฒนาศักยภาพด้านใดด้านหนึ่งของการทำงานในอุตสาหกรรมต่างๆ
ส่วนสุดท้ายคือ การประชุมวิชาการด้านหุ่นยนต์ระดับประเทศและนานาชาติ (Robotics Symposium) ซึ่งเป็นการ ถ่ายทอดและแลกเปลี่ยนผลงานทางวิชาการหุ่นยนต์ โดยนักวิชาการหุ่นยนต์ระดับโลก อาทิ ซาโตชิ ทาโดะโกโร่ ประธาน IEEE Robotics and Automation Society, ดาเนียล ลี ผู้อำนวยการของ GRASP LAB จากมหาวิทยาลัย เพนซิลเวเนีย, อดัม เจคอฟฟ์ ผู้ก่อตั้งและประธาน RoboCupRescue Robot League ของ National Institute of Standard and Technology เป็นต้น
“Thailand Robotics Week 2017 และ RoboCup Asia-Pacific 2017 คือการผสานความร่วมมือของภาครัฐบาล เอกชน และสถาบันการศึกษา เพื่อยกระดับวงการหุ่นยนต์ของคนไทยให้ทัดเทียมกับระดับสากล และเป็นการสร้าง เส้นทางสู่การพัฒนาประเทศในแนวทางไทยแลนด์ 4.0 ซึ่งงานนี้จะเป็นประโยชน์โดยตรงไม่เพียงแต่ต่อนักสร้าง หุ่นยนต์ แต่ต่อประเทศไทยที่กำลังเร่งยกระดับการวิจัยและพัฒนาวิทยาการหุ่นยนต์ของประเทศอย่างต่อเนื่อง เพื่อตอบรับนโยบาย “ไทยแลนด์ 4.0” ที่ว่าด้วยการขับเคลื่อนประเทศด้วยนวัตกรรม โดยมีอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ และระบบอัตโนมัติเป็น 1 ใน 5 อุตสาหกรรมแห่งอนาคต หรือ New S-Curve” ผศ.ดร.จักรกฤษณ์ กล่าวสรุป