บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ร่วมกับ “กระทรวงศึกษาธิการ” ขับเคลื่อนโครงการ “Partnership School Project รุ่นที่ 3 ” (โรงเรียนร่วมพัฒนา) หลักการสำคัญของโครงการคือเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาและคุณภาพชีวิตสำหรับนักเรียนและสมาชิกในชุมชนและให้โรงเรียนเป็นฐานในการพัฒนาคุณภาพชีวิตและรายได้ในพื้นที่รอบโรงเรียน โดยส่งเสริมให้ภาคส่วนต่างๆ เข้ามามีส่วนร่วมในการปรับปรุงพัฒนา หรือร่วมบริหารโรงเรียนอย่างจริงจัง ภายใต้บทบาทความร่วมมือระหว่างกระทรวงศึกษาธิการ และ บริษัท มูลนิธิ องค์กร หรือสถาบัน ที่สนับสนุนทรัพยากรและมีส่วนร่วมในการบริหารให้กับสถานศึกษาเพื่อให้โรงเรียนเป็นศูนย์กลางแห่งการเรียนรู้และพัฒนาตลอดชีวิต เน้นย้ำเรื่องสำนึกรักบ้านเกิดและเพิ่มรายได้ให้แก่ครอบครัว โครงการโรงเรียนร่วมพัฒนาได้เริ่มดำเนินการในปี พ.ศ. 2560 โดยมีเป้าหมายการพัฒนา 4 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ 1) การพัฒนาคุณภาพผู้เรียน 2) การพัฒนาครู 3) การพัฒนาคุณภาพสถานศึกษา 4) การพัฒนาคุณภาพการบริหาร ด้วยการผสานความร่วมมือขับเคลื่อนการทํางานแบบบูรณาการร่วมกันในทุกมิติจากหลายภาคส่วน
โครงการ Partnership School ได้ลงพื้นที่ ณ โรงเรียนสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี ภายใต้ความรับผิดชอบของไทยเบฟ เพื่อทำการส่งมอบอาคารสาธารณูปโภค เนื่องจากที่ผ่านมาทางโรงเรียนแจ้งว่ามีอาคารสาธารณูปโภคไม่เพียงพอต่อจำนวนนักเรียน มีความประสงค์อยากให้ช่วยอนุเคราะห์สร้างอาคารสาธารณูปโภค(ห้องน้ำ) เพิ่มเติม ซึ่งทางโครงการ eisa (Education Institue Support Activity) หนึ่งในโครงการของไทยเบฟที่สนับสนุนกิจกรรมต่างๆในรั้วมหาวิทยาลัยได้เข้ามาร่วมสนับสนุนจัดกิจกรรมค่ายสถาปัตย์อาสาพัฒนาของคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นำนิสิตที่มีความเชี่ยวชาญในสายความรู้ ไปใช้ในการช่วยเหลือและพัฒนาชุมชนก่อสร้างอาคารสาธารณูปโภคให้กับโรงเรียนในช่วงระหว่างวันที่ 9 พ.ย. – 23 พ.ย.2566 จนแล้วเสร็จ สร้างความประทับใจให้กับคุณครูและนักเรียนเป็นอย่างมาก โดย คุณครูหัสพงศ์ รักษ์วงษ์ไทย ผู้อำนวยการโรงรียนสองพี่น้อง ได้กล่าวด้วยความปิติว่า
“ รู้สึกดีใจที่น้องๆค่ายอาสาจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มาช่วยกันพัฒนาออกแบบก่อสร้างสิ่งสาธารณูโภคให้กับโรงเรียน เราก็คุยกันว่า ทางโรงเรียนมีไม้เก่าอยู่ น่าจะลดต้นทุนในการก่อสร้างได้ส่วนหนึ่ง ซึ่งผลผลิตของงานที่ออกมา ถือว่าเยี่ยมมากครับ” ผอ. กล่าว
ด้าน ผศ.ดร. ศิรเดช สุริต ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายสารสนเทศ และอาจารย์ที่ปรึกษาค่ายสถาปัตย์อาสาพัฒนา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้กล่าวถึงขั้นกระบวนการของทางนิสิตว่า
“ทางมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้มีส่วนร่วมในการนำนิสิตออกค่ายสถาปัตย์อาสาพัฒนา เป็นการดําเนินการมาอย่างต่อเนื่องของนิสิตครับ ซึ่งบทบาทหน้าที่ของอาจารย์จะทําหน้าที่เป็นเป็นพี่เลี้ยงคอยสนับสนุนการดําเนินการต่างๆ ส่วนทางนิสิตจะเป็นคนต้นคิดแล้วก็นําเสนอ ซึ่งอาจารย์ก็จะทําการดูแลและให้ดําเนินการตามหลักการของนิสิตครับ โดยเป้าหมายทางเราต้องการที่จะนําเอาองค์ความรู้ของคณะซึ่งเราเน้นการพัฒนาอย่างยั่งยืนมาใช้ให้เกิดประโยชน์กับชุมชน ทางนิสิตก็ได้รับความอนุเคราะห์วัสดุต่างๆที่ได้จากการอาคารเก่าและนําเอาวัสดุนั้นมาใช้เพื่อประยุกต์ให้เกิดประโยชน์สูงสุด นิสิตได้ทําการเซอร์เวย์เพื่อเช็คว่าวัสดุที่ได้มามีอะไรบ้างแล้วก็วางแผนจากคณะเพื่อที่จะนํามาใช้งานให้เกิดประโยชน์ ในด้านสาธารณูปโภคห้องน้ำถือว่าเป็นสิ่งที่สําคัญในชีวิตประจําวันโดยเฉพาะในโรงเรียนที่มีนักเรียนจํานวนมาก การก่อสร้างในส่วนของโครงสร้างเนี่ยจะเป็นโครงสร้างปูนก็คือ คอนกรีตผสมกับโครงสร้างไม้ โดยโครงสร้างคอนกรีตเราก็ได้นํามาใช้ในส่วนของที่เป็นตัวพื้นแล้วก็ระบบฐานรากครับซึ่งถือว่าเป็นส่วนสําคัญของตัวโครงสร้างเลย วัสดุไม้นิสิตก็ทําการวิเคราะห์ปริมาณและนํามาใช้ ซึ่งการใช้ไม้ในโครงสร้างทําให้เกิดความยั่งยืน เราใช้วัสดุที่เป็นรีนิวเบิ้ลซึ่งก็จะสอดคล้องและตอบโจทย์การพัฒนายั่งยืนของมหาวิทยาลัยและคณะ การมีห้องน้ำเพียงพอและมีคุณภาพก็จะทําให้มีสุขอนามัยที่ดี ส่วนอีกผลงานหนึ่งคือซิ้งค์น้ำก็เป็นปัจจัยสําคัญในสิ่งที่เราเห็นอยู่ว่า ที่ผ่านมาเราก็จะมีเรื่องของโรคติดต่อต่างๆ การที่มีซิ้งค์น้ำล้างมือก็จะทําให้สุขอนามัยของนักเรียนดีขึ้น วันนี้ได้ทำการส่งมอบในส่วนของผลงานของนิสิต ผมต้องขอชื่นชมการทํางานของพวกเขาทั้งหมดว่ามีการวางแผนตั้งแต่ก่อนเริ่มทํางานอย่างดีเยี่ยมทั้งส่วนของทีมงานส่วนของงานดีไซน์ซึ่งมีการประยุกต์ใช้ที่ได้จากการเรียนการสอนในทุกมิติ ทั้งในเรื่องของการออกแบบแล้วก็เรื่องของการอนุรักษ์พลังงานจะสังเกตเห็นรูปทรงที่ สามารถทําให้เกิดการระบายอากาศที่ดีมีสุขอนามัยไปในตัวโดยที่ใช้พลังงานภายนอกน้อยที่สุด ในเรื่องของการดําเนินการในค่าย ถือว่าเป็นโอกาสดีเลยที่ทําให้นิสิตออกมามีประสบการณ์กับชุมชนแล้วก็นําเอาความรู้จากการเรียนมาประยุกต์ใช้จริงซึ่งเขาก็จะได้ประสบการณ์ที่ไม่ได้ในห้องเรียนอย่างเดียวครับ”
จากครู เรามาฟังนิสิตพูดบ้างว่าพวกเขารู้สึกอย่างไรต่อการออกค่ายอาสาในครั้งนี้ เริ่มจาก นายธีรณัฎฐ กระจ่างศรี นิสิตคณะวิศวะกรรมศาสตร์ ชั้นปีที่ 4 ว่าพวกเขาได้มีส่วนร่วมอะไรบ้าง
“การออกค่ายอาสาในครั้งนี้ผมได้รับหน้าที่ ในการก่อสร้างงานปูน งานฉาบ ติดวงกบประตู เดินท่อ ติดระบบสุขภัณฑ์ครับ สิ่งที่ได้จากการออกค่ายครั้งนี้ รู้สึกดีที่ได้ทำตัวให้เป็นประโยชน์ต่อสังคม ได้เรียนรู้ความเป็นอยู่ของชุมชน วัฒนธรรม การกินอยู่ รวมถึงได้ประสบการณ์ในการทำงานจริง ได้ทำงานร่วมกับเพื่อนๆ ชาวต่างชาติ ทำให้รู้ว่าเราควรปรับปรุงด้านการก่อสร้างด้านไหนให้ดีขึ้นเพื่อเตรียมพร้อมการทำงานต่อไปในอนาคตครับ”
สุดท้ายที่จะพลาดไม่ได้เลยกับนักศึกษาแลกเปลี่ยนจากประเทศฝรั่งเศส Ecole Nationale Supérieure d’Architecture de Nancy ที่ได้เข้าร่วมการออกค่ายครั้งนี้ นาม Mr.Daniel Petitgas
“เราพยายามใช้ไม้ที่ได้จากทางโรงเรียนให้คุ้มค่ามากที่สุด ตอนที่เราเห็นไม้ที่จะใช้ในการก่อสร้างซิ้งค์น้ำ เรารู้เลยว่าไม่ต้องทำอะไรมากเพราะไม้มีคุณภาพดี พวกเราจึงแบ่งหน้าที่กันกับเพื่อนๆคนไทย เราจึงอาสาทำซิ้งค์น้ำพร้อมตกแต่งให้ดูสวยงาม ซึ่งได้แรงบันดาลใจมาจากรอบหน้าต่าง ประสบการณ์ครั้งนี้เป็นสิ่งที่ดีจริงๆที่เราได้ทำให้กับเด็กๆ และพวกเขาก็มาช่วยเราทำงานด้วย ทำให้เราเห็นถึงความสดใส ร่าเริงในวัยของพวกเขา” Daniel กล่าวด้วยรอยยิ้ม