บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) โดยโครงการ eisa (Education Institute Support Activity) ร่วมกับนิสิตชุมนุม SIFE (Students in Free Enterprise) คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมพัฒนาชุมชนประมงพื้นบ้าน “ร้านคนทะเล” ภายใต้ โครงการ “ประจวบฯ เหมาะ” ซึ่งเป็นโครงการที่ให้การสนับสนุนการพัฒนาชุมชนต่างๆในจังหวัดประจวบคิรีขันธ์ ผ่านนิสิตซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของประเทศร่วมดำเนินกิจกรรม Workshop ให้กับชุมชน โดยมุ่งหวังให้ชุมชนได้มีความรู้พร้อมนำไปพัฒนาการตลาดและเป็นต้นแบบที่ดีแก่เยาวชนในท้องถิ่นต่อไป ซึ่งนิสิตได้นำตัวข้อมูลเเละธุรกิจของทางร้านมาวิเคราะห์ เเละสรุปสิ่งที่สามารถเข้าไปทำได้ในปีเเรก โดยมีเกณฑ์การตัดสินใจหลักคือสิ่งที่โครงการทำจะต้องช่วยพัฒนาธุรกิจเเบบยั่งยืน และในวันที่โครงการก้าวออกมาเเล้วทางร้านจะยังสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ตามที่ได้วางแผนเอาไว้ ดังนั้นในปีเเรกคือการ rebrand ตัวแบรนด์ใหม่ให้เข้ากับกลุ่มลูกค้าของทางร้านมากขึ้น ผนวกกับการทำการตลาด ที่มุ่งเน้นการสร้างตัวตนทั้งในโลก online เเละ onsite เป็นหลักในปีแรก ซึ่งในปีที่สองทางโครงการจะต่อยอดรากฐานที่วางไว้ในปีแรกผ่านการทำการตลาดที่มุ่งเน้นการเพิ่มการรับรู้เเละเล่นกับอุปสงค์ของตลาดมากขึ้น ผนวกกับการที่เพิ่มช่องทางการจำหน่าย ในปีที่สองจะพัฒนาในเรื่องของการทำการตลาดออนไลน์ต่อยอดจากปีแรก มีการสร้าง instagram (instagram: @khontalay) เพื่อให้ทางร้านเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้มากขึ้น และมีการต่อยอดในการยิงโฆษณาตามช่องทางออนไลน์ต่างๆ รวมไปถึงการพัฒนา content จากปีที่แล้ว เช่น ช่องทางfacebook (คนทะเล – Khontalay) และเว็บไซต์ (https://officialkhontalay.editorx.io/khontalay) มีการเพิ่มระบบการอัพเดทเมนูสินค้าแต่ละสัปดาห์ให้กลุ่มลูกค้าที่สนใจสามารถติดตามได้ง่ายมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังมีแผนที่จะร่วมกับร้านคนทะเลในการพัฒนาการบัญชี โดยมีการช่วยทางร้านหาช่องทางจดบัญชี รายรับรายจ่ายที่สามารถจดบันทึกได้ง่ายและมีประสิทธิภาพ เพื่อที่ทางร้านจะได้สามารถตรวจสอบรายรับรายจ่าย วัดผลการขายจากการทำการตลาดออนไลน์ได้ และสุดท้ายคือการช่วยทางร้านหาช่องทางจัดจำหน่ายแบบจัดหน้าร้านเพิ่มมากขึ้นเพื่อเพิ่มรายได้ ทางโครงการได้สนับสนุนให้นิสิตได้ฝึกปฏิบัติงานเรียนรู้ประสบการณ์ตรงลงมือปฎิบัติงานจริงร่วมกับ บริษัท ประชารัฐรักสามัคคีประจวบคีรีขันธ์ (วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัด อีกด้วย
ล่าสุดเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2566 โครงการ “ประจวบฯ เหมาะ” ได้ลงพื้นที่ส่งมอบคู่มือในการดำเนินธุรกิจ (Booklet) หลังจากที่ได้ดำเนินงานมาเป็นระยะเวลา 2 ปี เพื่อสร้างเนื้อหาดิจิตัลเชิงสร้างสรรค์บูรณาการความรู้ด้านการพัฒนาการตลาดให้กับ“ร้านคนทะเล”ได้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวเชิงนวัตวิถีในชุมชนบ้านทุ่งน้อย อำเภอกุยบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งเป็นร้านขายอาหารทะเลสดที่มุ่งเน้นการทำประมงอย่างรับผิดชอบ โดยมีจุดมุ่งหมายที่จะสื่อสารกับผู้บริโภคถึงวิธีการทำประมงเชิงอนุรักษ์ด้วยเครื่องมือประมงพื้นบ้าน เเละผลกระทบในเชิงบวกตั้งเเต่ต้นน้ำ (ระบบนิเวศในท้องทะเลผู้จับ) กลางน้ำ (ผู้ถนอมอาหาร) จนถึงปลายน้ำ (ผู้บริโภค) เพื่อร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลงทรัพยากรทางทะเลให้กลับมาอุดมสมบูรณ์ ชุมชนทุ่งน้อยเป็นชุมชนที่ติดชายทะเล อาชีพประมงจึงเป็นอาชีพหลักที่ส่งต่อกันมารุ่นสู่รุ่น แต่เนื่องด้วยปัจจัยหลายๆอย่าง ทั้งการพัฒนาของเทคโนโลยี การทำประมงที่มุ่งเน้นปริมาณ การที่กฎหมายไม่มีการกำหนดขนาดของพันธุ์สัตว์น้ำที่เหมาะสมที่สามารถจับได้ และที่สำคัญคือปริมาณความต้องการที่มีมากขึ้นของผู้คน เหตุผลทั้งหมดนี้ส่งผลกระทบในเชิงลบต่อระบบนิเวศในท้องทะเล เเละทำให้จำนวนสัตว์น้ำในทะเลลดน้อยลงเรื่อยๆในทุกปี ทางโครงการฯได้เล็งเห็นความตั้งใจของทางร้านคนทะเล ผนวกกับ ธุรกิจที่มีเรื่องราว เเละสินค้าที่สด สะอาด ปลอดภัย เเละมีคุณภาพอยู่เเล้ว เพียงเเต่ยังขาด โมเดลเเละกลยุทธ์ทางธุรกิจที่เเข็งเเรง จึงทำให้ร้านคนทะเลยังไม่สามารถสื่อสารความตั้งใจเเละเรื่องราวของชุมชนออกไปให้คนภายนอกได้รับรู้ทางโครงการฯจึงตัดสินใจที่จะเข้าไปช่วยให้ความรู้เเละต่อยอดธุรกิจของทางร้าน ผ่านความรู้ที่นิสิตได้เรียนรู้จากทางคณะเเละประสบการณ์รอบตัวมาช่วยพัฒนาและแก้ไข
ด้านอาจารย์ ดร. ธิติ โอสถากุล อาจารย์ที่ปรึกษาชุมนุม SIFE คณะพาณิชยศาสตร์ และการบัญชีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้กล่าวถึงการเริ่มต้นและสิ้นสุดของโครงการดังกล่าวว่า
“โปรเจคนี้ชื่อว่าโปรเจค ประจวบฯเหมาะ ดำเนินงานให้กับ ร้านคนทะเล อำเภอกุยบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นโปรเจคที่เป็นการร่วมมือกันระหว่างโครงการ eisa ของบริษัทไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) และนิสิตชุมนุม SIFE ของคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เราจะเป็นการนำองค์ความรู้ทางธุรกิจที่นิสิตได้เรียนมา นำไปพัฒนาธุรกิจสำหรับชุมชนแห่งนี้ ความภาคภูมิใจกับตัวโครงการ คือการสร้างสรรค์นวัตกรรมและองค์ความรู้เพื่อกระตุ้นนวัตกรรมธุรกิจเพื่อสังคม ผมที่ทำหน้าที่เป็นอาจารย์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาของชุมนุม SIFE รู้สึกภาคภูมิใจที่อย่างน้อยผมก็เป็นส่วนหนึ่งที่ได้ทำหน้าที่ตรงนี้ในการให้คำปรึกษา และพานิสิตดำเนินงาน ได้มีโอกาสและนำองค์ความรู้มาพัฒนาชุมชน และอย่างน้อยเนี่ยมันก็จะเป็นการตอบโจทย์ของมหาวิทยาลัย เป็นการทำพันธกิจของมหาวิทยาลัย ถึงจะเป็นส่วนน้อยแต่ผมก็มีความภาคภูมิใจในตรงนี้ที่ได้มีส่วนร่วมครับ การทำงานระหว่างนิสิตกับชุมชนเป็นไปได้อย่างราบรื่นดีครับ และเท่าที่ผมเห็นก็มีความสนิทสนมกลมกลืน เพราะว่าทั้งตัวชุมชนและนิสิตได้มีการเปิดรับและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ซึ่งกันและกัน เหมือนกับว่าทั้งทางนิสิตและชุมชนได้มีการร่วมมือกันเพื่อมองเห็นถึงเป้าหมายและเห็นภาพเดียวกันเพื่อที่จะพัฒนาธุรกิจนี้เป็นไปอย่างเหมาะสมเราทำโครงการนี้มาเป็นระยะเวลา 2 ปี แล้ว โดยเรามีการพัฒนาธุรกิจชุมชนในหลายๆ ด้าน ทั้งด้าน แพคเกจ แบรนด์ ของสินค้า และโลโก้ รวมถึงสอนชุมชนในการใช้สื่อสังคมต่างๆเช่น เฟสบุ๊ก ไอจี ในเมื่อเราเคยทำสิ่งนี้มาแล้ว เราจึงนำสิ่งที่เราคยสอนชุมชนมาเพื่อเป็นการทบทวนและต่อยอดเพิ่มเติมสิ่งเล็กๆ น้อยๆครับ รวมถึงการร่วมมือจากทั้ง 2 ปี ยังทำให้เกิดองค์ความรู้ใหม่ๆ เราจึงนำสิ่งเหล่านั้นมารวบรวมเป็นคู่เมื่อเพื่อมอบให้ชุมชนได้นำคู่มือนี้เป็นต้นแบบในการพัฒนาธุรกิจตนเองต่อไปอย่างยั่งยืน เพราะว่าเราตระหนักรู้ว่าหากเราทำให้ชุมชนทุกอย่าง สุดท้ายแล้วเมื่อเราออกจากพื้นที่ ชุมชนอาจทำด้วยตนเองไม่ได้ แต่ว่าอย่างน้อยวันนี้เราเข้ามาสอนจึงทำให้เกิดความมั่นใจในระดับหนึ่งว่าองค์ความรู้ที่เราให้ไปชุมชนอาจไม่มีความจำเป็นในการนำมาพัฒนาธุรกิจเสมอไป แต่ในอนาคตอาจมีการนำองค์ความรู้เหล่านี้มาต่อยอดธุรกิจอื่นๆ ได้อย่างยั่งยืนครับ”
หากจะไม่กล่าวถึงผู้ดำเนินงานกับชุมชนคงไม่ได้เลยคนแรก นิสิตสาวนาม นันท์นภัส แย้มสวน หรือพลอยลิน ได้กล่าวถึงชุมชนด้วยความสุขว่า
“ ปัจจุบันเป็น Former Advise President ของ SIFE รุ่นที่ 19 ค่ะ วันนี้เป็นวันสุดท้ายที่เราจะได้ลงมาในพื้นที่บ้านทุ่งน้อย เราตั้งใจว่าครั้งนี้เราอยากที่จะถ่ายทอดความรู้ทั้งหมดเพื่อนำมาใช้กับชุมชนเกี่ยวกับทุกอย่างที่เคยร่วมทำกันมาค่ะ และอยากจะมาอำลาความทรงจำดี ๆ กับทางชุมชนและเพื่อนๆพี่ๆในโปรเจคด้วยค่ะ ความคาดหวังในการทำงานครั้งนี้ร่วมกับคนในชุมชนตามเป้าหมายของ SIFE คือการที่เมื่อวันหนึ่งที่เราก้าวขาออกมาจากชุมชนแล้ว ชุมชนจะต้องสามารถดำเนินงานต่อโดยที่ไม่มีเราเข้าไปช่วยเหลือค่ะ เราคาดหวังว่าชุมชนจะนำความรู้ ความสามารถทุกอย่างที่เคยเรียนรู้ด้วยกัน นำไปใช้ต่อได้จริงในอนาคต เราได้ช่วยแก้ไขปัญหาในปีแรกที่เราเข้ามา เราดูในเรื่องของการรีแบรนด์ร้านใหม่ เราทำโลโก้ สติ๊กเกอร์ และพัฒนาการขายในทั้งช่องทางออนไลน์และออฟไลน์ ส่วนในปีที่ 2 เราได้โฟกัสกับการทำงานตลาดทางออนไลน์มากยิ่งขึ้น และมีการทำโฆษณาและจัดสรรการลงโพสต์ Facebook, Instagram และที่สำคัญเรายังดูในเรื่องของการบัญชีรายรับรายจ่ายมากยิ่งขึ้น เพื่อที่จะทำให้ร้านได้รู้ว่ารายรับรายจ่ายเป็นอย่างไร และสามารถนำไปพัฒนาต่อยอดในอนาคต ทำไมถึงคิดว่าต้องเป็นการยิง Ads หรือการดูบัญชี ซึ่งจริงๆ แล้วเรามองว่าร้านพร้อมแล้วในหลายๆ ด้านและเราอยากส่งต่อให้คนหลายคนได้รับรู้เจตนารมณ์ที่ดีของทางร้าน ในการอนุรักษ์ท้องทะเลเราจึงคิดว่าการพัฒนาการตลาดในทางออนไลน์จะทำให้คนรับรู้ถึงเจตนารมณ์ที่ดีมากยิ่งขึ้น คู่มือนี้ชื่อว่า“จากเราสู่ร้านคนทะเล” โดยความตั้งใจของพวกเราคือ เราอยากให้รวบรวมทุกอย่างที่เราทำมาตั้งแต่ปีแรกจนถึงปีสุดท้ายในคู่มือเล่มนี้ เพื่อที่ว่าเมื่อเราออกจากมาแล้ว ชุมชนสามารถเข้าไปศึกษาและทบทวนสิ่งต่างๆที่เราทำมาด้วยกันได้ เพื่อที่จะตอบโจทย์เป้าหมายของ SIFE ที่ว่า “วันหนึ่งที่เราออกมาชุมชนจะต้องดำเนินต่อได้” ตั้งแต่เริ่มโครงการมารู้สึกประทับใจอย่างแรกคือประทับใจเพื่อนๆทีมงาน SIFE ทุกๆคน ทุกคนมีความตั้งใจที่อยากพัฒนาชุมชนและเรียนรู้พร้อมๆกันและไม่ว่าจะเกิดอุปสรรคอะไร ทุกคนพร้อมที่จะก้าวข้ามผ่านไปด้วยกันค่ะ และนอกจากนี้ก็รู้สึกประทับใจในชุมชนมากๆ ที่ชุมชนเปิดรับเรามากๆและกล้าที่จะติเรา ชมเราในสิ่งต่างๆ ที่ทำร่วมกัน หลังจากสิ้นสุดหน้าที่แล้ว เราก็หวังว่าชุมชนจะอยู่ได้ด้วยตัวเองคะ“ พลอยลินกล่าว
สุดท้ายกับชุมชน นายกิตติเดช เทศแย้ม หรือน้องนิสสัน ทายาทร้านคนทะเล ที่เป็นเรี่ยวแรงให้กับชุมชนในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และพร้อมที่จะถ่ายทอดองค์ความรู้สู่เยาวชนในหมู่บ้านต่อไปได้กล่าวว่า
“ไทยเบฟและน้องๆชุมนุม SIFE จุฬา ได้เข้ามาช่วยพัฒนาบ้านทุ่งน้อย จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ สิ่งแรกเลยคือเห็นการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจน จากครั้งแรกที่แพคเกจหรือตัวสินค้าของเราที่นำไปขายค่อนข้างไม่ได้มาตรฐาน ไม่มีจุดเด่น แต่เมื่อน้องๆ เข้ามาได้มีการรีแบรนด์ให้เรา มีการเติมสิ่งที่ขาด และเพิ่มสิ่งที่เรามีอยู่แล้วให้ดียิ่งขึ้น จึงทำให้รู้กว่าของในชุมชนที่ธรรมดา มันสามารถที่จะทำให้ว้าวได้ สามารถเพิ่มคุณค่าสินค้าของมันได้ อันนี้เป็นเรื่องที่น่าชื่นชมครับที่น้องๆทำงานได้ค่อนข้างดี และเข้ากันกับเราได้ดีด้วยครับนอกจากนี้ยังได้ช่วยทำช่องทางการซื้อขายให้เพิ่มมากขึ้นทั้งในโลกออนไลน์และหน้าบูธ โดยช่องทางหลักๆจะใช้อินสตาแกรม เฟสบุ๊ก แฟนเพจ และไลน์โอเอ นอกจากนี้ยังมีการช่วยทำคอนเทนต์ทั้งภาพนิ่งและวีดิโอลงในโซเชียลมีเดีย วันนี้เป็นกิจกรรมวันสุดท้าย เป็นการจบโครงการกับเรา รู้สึกใจหาย โดยน้องๆบอกกับเราว่าถ้าไม่มีพวกเขาแล้ว ร้านคนทะเลจะต้องทำการตลาดอย่างไรบ้างทั้งช่องทางไอจี ไลน์ เฟสบุ๊ก ในส่วนนี้ผมมองว่าเป็นสิ่งที่ดีเลย โดยส่วนตัวผมเนี่ยเล่นเฟสบุ๊กอยู่แล้ว แต่เรื่องไลน์ ไอจี ผมไม่ค่อยรู้ ก็ได้มาเติมเต็มในส่วนนี้ และยังมีการสอนผมและแลกเปลี่ยนความคิดเช่น การนำปลามาขายได้ มันทำให้เรามีขั้นตอน และยังมีจุดเด่นในร้านอีกต่างหาก ไม่จำเป็นว่าต้องให้แพคเกจสวยงามเพียงอย่างเดียว ชูจุดขาย การพูดขายออนไลน์มีหลากหลาย ที่สำคัญน้องๆสามารถเข้ากับชุมชนได้ดีตั้งแต่แรก ทำให้ชุมชนรวมถึงตัวผมเองรู้สึกไม่กดดันในการทำงาน และกล้าพูดเมื่อเจอปัญหา และทำให้สามารถคุยถึงปัญหาที่แท้จริงได้ และทำให้เราสามารถก้าวไปถึงจุดหมายได้ไวขึ้น ทำให้เราคุยกันง่ายขึ้น พวกเขามีความเฟรนลี่เข้ากับผู้ใหญ่ในชุมชนบ้านทุ่งน้อยได้ ไม่ว่าจะเป็นการสัมภาษณ์หรือการสอนการถ่ายภาพ ซึ่งถือเป็นความสัมพันธ์ที่ดี ด้านผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นเรียกว่าประสบความสำเร็จมากทีเดียว นับว่าเป็นที่น่าพอใจต่อตัวผมเอง ผมดีใจที่ได้เห็นการเติบโตของเพจที่พ่อผมทำมามีการเข้ามาช่วยปรับปรุงให้คนรู้จักร้านคนทะเลมากยิ่งขึ้น มีคนเข้ามาเที่ยวในชุมชน เป็นการกระจายรายได้ให้กับชุมชนอีกด้วยส่วนคู่มือหรือ Booklet ครั้งแรกที่เห็นคือ สวยมากน่าอ่าน ตัวหนังสือก็ไม่เยอะจนเกินไปสามารถเห็นแล้วเข้าใจได้เลย เช่นการใช้คิวอาร์โค้ด ไม่ต้องเสียเวลาในการอ่านเพราะสามารถสแกนคิวอาร์โค้ดแล้วดูผลงานที่เคยทำไว้ได้ หรือไม่ว่าจะเป็นเว็บไซต์ เว็บเพจ ซึ่งรวดเร็วและง่าย โดยมีข้อมูลตั้งแต่ตอนเริ่มแรกว่าเปลี่ยนแปลงและพัฒนาไปมากเพียงใด เป็นการสร้างการเรียนรู้ไว้ให้เราต่อยอดต่อไป โดยคู่มือที่นำมาให้ทางผมจะแป็นประโยชน์ต่อร้านอื่นๆในชุมชนบ้านทุ่งน้อยได้ศึกษาอีกด้วย เนื้อหาในเล่มก็มีวิธีการดำเนินการ การโพสต์ การตั้งค่าต่างๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่มีประโยชน์และใช้ได้จริง ขอบคุณทางไทยเบฟ และชุมนุม SIFE ที่ทำให้เกิดกิจกรรมดีๆ แบบนี้เกิดขึ้นครับ”
เป้าหมายหลักของโครงการดังกล่าวเพื่อเพิ่มศักยภาพให้กับ “ร้านคนทะเล” โดยสามารถสื่อสารเรื่องราวในการจัดการผลผลิตของประมงพื้นบ้านและความตั้งใจจริงของชุมชนในการทำการประมงเชิงอนุรักษ์ออกมาสู่ตลาดอย่างรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและผู้บริโภค พร้อมเพิ่มยอดขายเพื่อให้รายได้ส่วนหนึ่งจากร้านสามารถนำกลับไปสนับสนุนการอนุรักษ์ท้องทะเล รวมถึงการต่อยอดทางธุรกิจในชุมชนได้ด้วยตัวเองต่อไป อย่างยั่งยืน