จันทรบุรี ถือเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเลื่องชื่อแห่งหนึ่งของภาคตะวันออก เพราะไม่ได้มีเพียงแต่ทะเลอ่าวไทย ที่สามารถพักผ่อนได้เกือบตลอดปี ที่นี่ยังมีของกินเอร็ดอร่อยทั้งคาวหวานและผลไม้ให้เลือกบริโภคมากมาย ความหลากหลายของเมืองจันท์ ถือเป็นเสน่ห์ที่เรียบง่าย แม้ไม่หวือหวา แต่ก็น่าจดจำ โดยเฉพาะชุมชนท่องเที่ยว “บ้านบางสระเก้า” อ.แหลมสิงห์ กับไอเดียกิ๊บเก๋ “บ้านปลา – ธนาคารปู” ศูนย์การเรียนรู้ธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ถ้าใครได้ไปเยือนสักครั้ง เชื่อว่าจะต้องบอกต่อ เพราะชุมชนแห่งนี้เป็น “ต้นแบบ” ของคำว่า ชุมชนที่มีความเข้มแข็งชัดเจนและมีเรื่องราวเล่าสู่กันฟังกันอย่างน่าสนใจเป็นที่สุดแห่งหนึ่ง “ชุมชนบ้านบางสระเก้า” มีอาชีพทำนา ทอเสื่อ ทำประมงเรือเล็กมาตั้งแต่บรรพบุรุษ ในลำคลองหนองบัว และคลองบางสระเก้า ซึ่งเป็นพื้นที่ 3 น้ำ ทำให้มีแพลงตอน และอาหารจำนวนมากมาย ส่งผลให้มีกุ้ง หอย ปู ปลาที่อุดมสมบูรณ์ มีเรื่องเล่าว่า ความสมบูรณ์ของอาหารจากทะเลของที่นี่ เกือบจะกลายเป็นหายนะ เพราะคนนอกพื้นถิ่น ที่ใช้เรือดุนลักลอบเข้ามาจับสัตว์น้ำ ทำให้เกิดปัญหาสัตว์น้ำลดลง แต่ด้วยความร่วมมือร่วมใจของชาวบ้าน ภายใต้การนำของ “ผู้ใหญ่อู๊ด” นายสถิต แสนเสนาะ ทำให้สามารถชิงพื้นที่คืนมาและขับไล่คนนอกพื้นที่ออกไป
จากวันนั้น ทุกคนตระหนักว่า ทรัพยากรที่ร่อยหรอลงในทะเล หากไม่แก้ปัญหาอย่างยั่งยืน วิถีชีวิตชาวบ้านและชาวประมงที่นั่นก็อาจจะพบกับวิกฤตอีกแบบไม่รู้จบ ว่าแล้ว “ชุมชนบ้านบางสระเก้า” จึงร่วมกันจัดตั้ง บ้านปลา ธนาคารปู เพื่อให้ความรู้ที่ถูกต้อง และรักษาความอุดมสมบูรณ์ของแหล่งอาหารในชุมชนเอาไว้ การร่วมแรงร่วมใจกันนี้ ได้มีการต่อยอดเป็นศูนย์การเรียนรู้ธรรมชาติสิ่งแวดล้อม(บ้านปลา-ธนาคารปู) และได้รับการส่งเสริมให้เป็น “ชุมชนดีมีรอยยิ้ม” ที่มี บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) เป็นผู้สนับสนุนให้เป็นพื้นที่ต้นแบบในการขับเคลื่อน วิสาหกิจเพื่อสังคม ภายใต้โครงการพัฒนาชุมชน
ผู้ใหญ่สถิต แสนเสนาะ ประธานวิสาหกิจศูนย์เรียนรู้เพื่อการท่องเที่ยวบ้านปลาธนาคารปู ได้บอกเล่าด้วยความชื่นชมว่า แรงสนับสนุนของไทยเบฟเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญในการพัฒนาชุมชน เหมือนพี่เลี้ยงชุมชนในทุกๆ เรื่อง โดยเข้ามาขับเคลื่อนตั้งแต่กระบวนการคิด การทำแผนงาน การจัดทำแผนธุรกิจร่วมกับองค์กรชุมชน รวมไปถึงการบริหารจัดการท่องเที่ยวและบริการในชุมชน ทำให้เกิดรายได้หมุนเวียนตลอดทั้งปี มีร้านค้าชุมชนที่เป็นจุดศูนย์รวมสินค้าของหมู่บ้าน มีการพัฒนาทักษะการแปรรูปอาหารทะเลชายฝั่งร่วมกับภาคีเครือข่ายภาควิชาการมหาวิทยาลัยในจังหวัดจันทบุรี เช่น กุ้งเหยียด น้ำพริกปลากะพงขาว เป็นต้น และอีกหนึ่งสินค้าแปรรูปจากเสื่อกกจันทบูร ก็ทำให้ชาวบ้านได้เรียนรู้การทำตลาดที่ยกระดับจากสินค้า OTOP เป็นสินค้า Premium เกิดเป็นคลัสเตอร์เสื่อกกจันทบูรในจังหวัดจันทบุรี 3 ชุมชน 4 แบรนด์ผู้ประกอบการณ์รุ่นใหม่
นอกจากนั้นยังต่อยอดแผนงานสู่กิจกรรมที่ฟื้นฟูทรัพยากรทางชายฝั่งทะเล ประมงพื้นบ้านให้เป็นกิจการหนึ่งของกลุ่มได้ เช่น การเพาะพันธุ์ปลาแขยงกง (ปลาอีกง) เป็นปลาท้องถิ่นที่ใกล้จะสูญพันธุ์และมีความสำคัญต่อระบบนิเวศของชุมชน ไทยเบฟได้สนับสนุนวัสดุอุปกรณ์ โรงเรือน ในการเพาะเลี้ยงพันธุ์ปลา และประสานเชื่อมโยงชุดความรู้ทางวิชาการกับประมงจังหวัด ก่อเกิดเป็นอีกหนึ่งธุรกิจในชุมชนที่สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรประมงพื้นบ้านในระยะเวลา 1 ปี 78,000 บาท ลูกปลาที่จำหน่ายในจังหวัดและต่างจังหวัดไม่ต่ำกว่า 1,000,000 ล้านตัว และชุมชนสามารถทำการตลาด บริหารจัดการกิจการได้เองอย่างไม่ต้องพึ่งพาปัจจัยภายนอก เกิดการเรียนรู้และพัฒนาชุดความรู้แก้ไขปัญหาต่างๆ ด้วยการทดลองทำ จนเป็นผู้เชี่ยวชาญและเป็นอีกฐานเรียนรู้หนึ่งในชุมชน
จากชุมชนเข้มแข็ง ต่อยอดเป็นชุมชนดีมีรอยยิ้มจันทบุรี เป็นศูนย์กลางในการขับเคลื่อนธุรกิจเพื่อสังคม ให้กับเกษตรกรชาวจันท์ เกษตรประณีต ประมงชายฝั่ง ประมงเรือเล็ก งานหัตถศิลป์ของจังหวัดจันทบุรี มีพื้นที่กระจายสินค้าทั้งออนไลน์ ออฟไลน์ ให้ผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชนทั้งรายกลุ่มและรายย่อย เป็นการดำเนินกิจการที่มีจุดมุ่งหมายหลักเพื่อสร้างรายได้เพิ่มขึ้นให้กับชุมชนกว่า 2,614,071 บาท กลุ่มผู้ได้รับผลประโยชน์ 355 ราย ขับเคลื่อน 8 ชุมชน 9 โครงการหลัก และอีก 2 โครงการภาพรวมกับจังหวัดจันทบุรี โดยมีงานด้านเกษร 3 ชุมชน ด้านการแปรรูป 3 ชุมชน และด้านท่องเที่ยวโดยชุมชน 2 ชุมชน
นอกจากโครงการหลักที่มีชุมชนเป็นฐานในการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากแล้ว ช่วงโควิด 19 ก็ยังได้มีการทำตลาดออนไลน์ ขยายกลุ่มผู้ได้รับผลประโยชน์ที่เกิดผลกระทบรุนแรง ผลผลิตเสียหาย ไม่มีพื้นที่จำหน่ายสินค้า และตลาดเดิมล้มลงเมื่อเจอโควิด ไทยเบฟได้ ช่วยหาช่องทางในการระบายผลไม้สดเมืองร้อนตามฤดูกาล ผ่านช่องทางออนไลน์ ตลอด 2-3 ปี ได้มีการขยายกลุ่มเครือข่ายผลไม้ตามฤดูกาล 60 ราย รายได้เข้าเกษตรกรกว่า 356,794 บาท ปัจจุบันมีการเข้าไปร่วมวางแผนการกระจายสินค้ากับกลุ่มเกษตรกร และภาคีเครือข่ายทางภาคเอกชนในการทำแผนการตลาดของปี 2565-2566 ที่กำลังมาถึง
นางวาสนา ทองใบ ประธานกลุ่มแปรรูปวิสาหกิจเสื่อกกชุมชนดีบางสระเก้า ก็เป็นผู้นำชุมชนดีมีรอยยิ้มจันทรบุรีอีกคนหนึ่ง ที่แสดงความภาคภูมิใจที่ไทยเบฟได้เข้ามาขับเคลื่อนงานแปรรูปเสื่อกกจันทบูรโดยกล่าวว่า “ตลอด 3-4 ปี ที่มีโอกาสรับคณะดูงาน ทุกครั้งที่มีคนมาศึกษาดูงาน หรือต้องไปเป็นวิทยากร ก็จะกล่าวชื่นชมว่าถ้าไม่มีไทยเบฟ เสื่อกกคงขายไม่ได้ ไม่มีรูปแบบใหม่ และไม่ได้เกิดการพัฒนา การเรียนรู้สิ่งใหม่ทำให้สมาชิกกลุ่มรวมตัวกันอีกครั้ง กว่า 40 ครัวเรือน ผู้ได้รับผลประโยชน์ ไม้ต่ำกว่า 100 คนในหมู่บ้าน มีออเดอร์ตลอดทั้งปี และขายได้ราคาที่เป็นธรรมมากขึ้น เด็กรุ่นใหม่หันกลับมาให้ความสนใจกับอาชีพดั้งเดิม ทำให้มีความสุขกับอาชีพทอเสื่อที่สืบทอดกันมายาวนานและเห็นแล้วว่าถ้าเราพัฒนาตัวเองอยู่เสมอของที่มีในชุมชนก็ขายได้”
ท่องเที่ยวศูนย์การเรียนรู้ ที่บ้านบางสระเก้า เชื่อว่าทุกคนกลับไปด้วยรอยยิ้ม เพราะวิธีคิดและวิธีลงมือทำโดยส่งเสริมสนับสนุนให้ใช้พลังของคนรุ่นใหม่กลับคืนสู่ท้องถิ่น ใช้ความรู้และศักยภาพ ตลอดจนการรักบ้านเกิดเชื่อมโยงการทำงานกับภาคส่วนต่างๆ เพื่อนำความสุขและรอยยิ้มกลับคืนสู่บ้านเกิดของตนเอง และสร้างประโยชน์ในพื้นที่อย่างยั่งยืนในทุกมิติ โดยเน้นการเชื่อมโยงความร่วมมือในระดับอำเภอ ระดับจังหวัด เพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชนในการพัฒนาพื้นที่ทั้งในด้านสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม ถือเป็นหลักเศรษฐกิจพอเพียงอย่างแท้จริง