โดรนสัญชาติไทย ไม่แพ้ใครในโลก

โดรนสัญชาติไทย ไม่แพ้ใครในโลก หลายคนอาจยังไม่รู้ว่าคนไทยสามารถสร้างโดรนที่บินได้แบบไร้คนขับ เพื่อปฏิบัติภารกิจสุดท้าทาย กับโจทย์สุดหิน บินเหนือแท่นขุดเจาะน้ำมันกลางทะเลได้ไม่ต้องอาศัยคนบังคับ

Techhub Inspire พาไปคุยกับ ภาคภูมิ เกรียงโกมล Robotic Team Lead จาก AI and Robotics Ventures หรือ ARV สตาร์ตอัพไทยที่ไปไกลเรื่องระบบอัตโนมัติ กับความฝันที่จะไปไกลถึงระดับโลก


:
เริ่มต้นจาก Passion 

ภาคภูมิเติบโตมากับการ์ตูนในยุค 90s ที่สร้างแรงบันดาลใจจากหุ่นยนต์ที่ทำหน้าที่ช่วยเหลือมนุษย์ได้แบบเดียวกับโดเรม่อนที่คอยช่วยเหลือโนบิตะ

ความฝันในวัยเด็ก นำพาเขาก้าวเข้าสู่โลกของหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ โดยเริ่มจากการเขียนโปรแกรมเชื่อมระหว่างยูสเซอร์กับฮาร์ดแวร์เข้าด้วยกัน จากหุ่นยนต์เดินตามเส้น ไปจนถึงเขียนโปรแกรมเพื่อควบคุมเครื่องจักร ในช่วงที่เรียนมหาวิทยาลัย

หลังจากเรียนจบ ภาคภูมิเริ่มต้นอาชีพแรกในฐานะวิศวกร แต่กลับพบว่างานที่ทำยังไม่ตอบโจทย์แพชชั่นของตัวเองที่ยังสนุกกับการสร้างหุ่นยนต์มากกว่า จึงตัดสินใจเรียนต่อด้าน Robotics ที่มหาวิทยาลัยโอซาก้า ประเทศญี่ปุ่น ที่นั่นเขาได้ลงมือทำหุ่นยนต์ที่ใช้ประโยชน์ได้มากกว่าที่เคยทำ เช่น หุ่นยนต์แมงมุม ที่ใช้ในภารกิจสำรวจสะพาน หรือโครงสร้างเหล็กที่อยู่สูงแทนคนเพื่อช่วยลดความเสี่ยง จากนั้นก็ได้ต่อยอดมาทำงานด้านวิจัยและพัฒนาหุ่นยนต์มาจนถึงตอนนี้

ญี่ปุ่นมีความพร้อมด้านหุ่นยนต์มาก่อนประเทศเราพอสมควร มีหน่วยงานเข้ามาสนับสนุน ทำให้มีความพร้อมทั้งทางด้านอุปกรณ์และ องค์ความรู้ต่างๆ ให้ได้ศึกษา ตอนกลับมาไทยก็ได้เข้ามาอยู่ในองค์กรที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนานวัตกรรม และมีงบวิจัยพัฒนาเข้ามาเรื่อยๆ มีโอกาสได้ทำงานกับคนที่มี Passion คล้ายกัน เหมือนเราพกไอเดียมาจากบ้าน แล้วได้มาลองค้นหาคำตอบร่วมกัน กลายเป็นความสนุกและความท้าทายที่ทำให้รู้สึกต่างจากการทำงานทั่วไปเขาอธิบาย

 

: โจทย์สุดท้าทาย

หนึ่งในหุ่นยนต์ที่สร้างชื่อให้กับ ARV คือ Horrus โดรนสำรวจที่สามารถบินได้แบบอัตโนมัติ เพื่อใช้งานแทนคนในภารกิจที่ท้าทาย และเต็มไปด้วยความเสี่ยง

ภาคภูมิบอกว่า ตลาดโดรนเป็นหนึ่งในตลาดที่สามารถตอบโจทย์คนทำงานในธุรกิจ Oil and Gas ได้ดีที่สุด ในอดีตหากต้องการสำรวจปล่องไฟในโรงงานอุตสาหกรรม จำเป็นต้องปิดการทำงานชั่วคราว และอาศัยคนปีนขึ้นไปสำรวจ ใช้เวลามากกว่า 2-3 ชั่วโมง เป็นงานที่ค่อนข้างเสี่ยงอันตราย ในขณะที่โดรนจะเข้ามาช่วยแก้ปัญหาในส่วนนี้ได้ เพราะโดรนสามารถเข้ามาช่วยเก็บภาพในมุมสูง รวมถึงตรวจจับความผิดปกติของอุณหภูมิจากภาพถ่ายที่เก็บข้อมูลไปได้

 

อย่างไรก็ตามสิ่งที่พบคือ ไม่ใช่ทุกคนที่สามารถบินโดรนได้อย่างเชี่ยวชาญ โดยเฉพาะการบินในเขตอุตสาหกรรม ที่มีความเสี่ยงสูง หรือมีสารเคมีอันตรายปะปนอยู่ จำเป็นต้องอาศัยนักบินที่มีประสบการณ์และมีทักษะที่สูงกว่านักบินทั่วไป ซึ่งนักบินที่มีความชำนาญเฉพาะทางแบบนี้ มีไม่เพียงพอกับความต้องการ ทำให้ค่าใช้จ่ายต่อการบินแต่ละครั้งค่อนข้างสูง

จึงเป็นที่มาของ  “HORRUS”  Fully Automatic Drone Solution ที่ถูกตั้งโปรแกรมเอาไว้ล่วงหน้า ให้สามารถรองรับการทำงานบางส่วนได้ทดแทนนักบินที่มีประสบการณ์ สามารถบินถ่ายภาพในพื้นที่ต้องการและอัพโหลดข้อมูลขึ้นบนแพลตฟอร์มได้แบบอัตโนมัติ เพื่อเชื่อมต่อเข้ากับระบบ AI หรือปัญญาประดิษฐ์ ช่วยวิเคราะห์ข้อมูลความผิดปกติจากภาพถ่าย โดยลดภาระและร่นระยะเวลาการทำงานของคนไปได้อย่างมาก ซึ่งถือว่าเป็นรายแรกและรายเดียวของประเทศไทยที่สามารถทำได้

 


ด้วยความที่ Automatic Drone ค่อนข้างมีความล้ำหน้าในประเทศไทย ความท้าทายที่ตามมาคือการให้ความรู้กับผู้ใช้งาน ทั้งในมุมของเทคโนโลยี และความปลอดภัย ช่วยให้ทำงานได้ง่ายขึ้น และดีขึ้นเขากล่าวยอมรับ และบอกว่า

Passion ของทีมคือสร้างหุ่นยนต์ที่สามารถเอาไปใช้ได้จริง เช่น ทำงานร่วมกับภารกิจดูแลโครงสร้างแท่นขุดเจาะน้ำมันกลางทะเลอ่าวไทย โดยนำหุ่นยนต์หลากหลายประเภทไปทดสอบใช้งานร่วมกัน ทั้งเดินสำรวจ เปิดปิดวาล์ว จุดที่มีสารไวไฟ เก็บตัวอย่าง รวมถึงโดรนที่ช่วยขนส่งสารเคมี หรือหลอดทดลอง ช่วยเพิ่มความสะดวก ปลอดภัย และลดระยะเวลาในการเดินทางไปได้มาก

จุดเริ่มต้นของ Horrus ยังนำไปสู่การพัฒนาหุ่นยนต์อีกหลายหลายรูปแบบตามโจทย์ที่ท้าทายเข้ามา เช่น หุ่นยนต์ฆ่าเชื้อ Covid ที่ติดตั้งระบบ telecommunication ช่วยหมอและพยาบาลลดความเสี่ยงติดเชื้อในโรงพยาบาลสนามช่วงที่มีการแพร่ระบาดของไวรัส

 


:
โอกาสและอนาคต

ในต่างประเทศเทคโนโลยีโดรนถูกนำมาใช้ในการขนส่งอย่างแพร่หลายมากขึ้น ทั้ง Amazon ในสหรัฐ และออสเตรเลีย ทำให้เขาเชื่อว่าในอนาคตโดรนจะมาพร้อมความปลอดภัย และใช้เป็นพาหนะที่ช่วยให้มนุษย์เดินทางได้ง่าย และสะดวกขึ้น

แต่ก่อนที่จะไปถึงจุดนั้นได้ จำเป็นต้องผ่านด่านใหญ่ของกฎข้อบังคับทางการบินต่างๆ ที่ถูกกำหนดขึ้นมาเพื่อความปลอดภัยในประเทศก่อน เช่น การบินนอกระยะสายตาที่อาจจะถูกกฏหมายห้ามเอาไว้ รวมถึงการติดเซนเซอร์ Connectivity ขึ้นไปกับตัวโดรน ซึ่งยังเป็นเรื่องที่ถูกจำกัด

อย่างไรก็ตามปตท. สผ. ได้แก้ปัญหานี้ โดยสร้างพื้นที่ Sanbox ขึ้นมาเพื่อใช้ในการวิจัยและพัฒนาที่ช่วยปลดล็อคข้อจำกัดบางอย่าง เพื่อช่วยทำให้การพัฒนาเทคโนโลยีโดรนเดินหน้าไปได้ไกลขึ้น ด้วยศักยภาพและ Passion ของคนไทย ที่ไม่แพ้ใครในโลก

ไม่ว่าจะหุ่นยนต์หรือ AI คนที่สนใจเทคโนโลยีในกลุ่มนี้กำลังเติบโต และหากพวกเขาได้ลงมือทำจนสุดขีดความสามารถของตัวเอง ภายใต้ข้อกำหนดที่ถูกปลดล็อค จะทำให้เทคโนโลยีโดรน ไปได้ไกลและทัดเทียมกับเทคโนโลยีต่างชาติ อย่างอเมริกา และยุโรปได้แน่นอน ภาคภูมิกล่าวทิ้งท้าย