หุ่นยนต์กำลังมาแทนที่คน เมื่อไม่ใครอยากทำงานในโรงงานอุตสาหกรรม แต่พวกมันกลับทำหน้าที่ได้แบบไม่ปริปากบ่น แถมไม่ได้เป็นแค่หุ่นยนต์แขนกลในโรงงาน เพราะมันทำได้มากกว่า
Techhub Inspire พาไปคุยกับคนเบื้องหลัง “เปิ้ล วรีมน ปุรผาติ” CEO Gensurv Robotics (เจ็นเซิฟ โรโบติกส์) ผู้ที่เปลี่ยนความชอบให้เป็นกลไก สร้างหุ่นยนต์สัญชาติไทยในรูปแบบที่ไม่มีใครเหมือน
: เปลี่ยนความชอบให้เป็นธุรกิจ
Gensurv เริ่มต้นจากทีมแข่งขันที่มี Passion ด้านหุ่นยนต์โดยเฉพาะ สิ่งที่พวกเขาสนใจ คือมองหาว่ามีอะไรที่ระบบอัตโนมัติ หรือ Robotics เข้ามาช่วยได้บ้าง ทำให้เกิดเป็นผลงานชิ้นแรกๆ คือ เรืออัตโนมัติที่ขับเคลื่อนได้โดยไม่ต้องใช้คนขับ ตามมาด้วยหุ่นยนต์ส่งของ มาจนถึง พลายเอจีวี PLY agv รถฟอร์คลิฟท์ไร้คนขับ ที่กลายเป็นผลงานที่สร้างชื่อให้กับบริษัท รถกอล์ฟไร้คนขับ
วรีมน ยอมรับว่า ตอนนี้ในอุตสาหกรรมมีความต้องการหุ่นยนต์สูงมาก โดยเฉพาะช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัส เมื่อคนไม่สามารถเข้าพื้นที่ทำงานได้ ระบบอัตโนมัติจะเข้าไปช่วยทำงานแทนในแผนกที่คนอาจจะคาดไม่ถึง อย่างงานในคลังสินค้าที่ยังคงต้องอาศัยแรงงานคนเป็นหลัก
ทำให้ธุรกิจเริ่มเห็นความคุ้มค่าที่จะลงทุนติดตั้งหุ่นยนต์ขนส่งสินค้าอัตโนมัติ แทนแรงงานคน
“ในอดีตหุ่นยนต์อาจมีราคาแพงมาก จับต้องไม่ได้ และเป็นเรื่องที่ต้องใช้เงินลงทุนสูง ทำให้การใช้งานหุ่นยนต์จำกัดอยู่ในสายการผลิตเป็นส่วนใหญ่ แต่การขนส่งในโรงงานกลับยังไม่มีระบบรองรับ และเทคโนโลยีอะไร” เธอกล่าว และบอกว่า ช่องโหว่นี้ถูกนำมาใช้เป็นโจทย์ในการพัฒนาหุ่นยนต์ของตัวเอง ขณะที่คนทำได้ยังมีน้อย
กลายเป็นจุดเริ่มต้นให้บริษัทเริ่มมองหาโอกาสโดยวิจัยและพัฒนาหุ่นยนต์ขึ้นมาใหม่ ทั้งซอฟต์แวร์ ฮาร์ดแวร์ จนกระทั่งเป็นโซลูชั่นที่ตอบโจทย์และพร้อมใช้งาน
Gensurv นำรถโฟคลิฟต์มา Modify ใส่ฮาร์ดแวร์ และซอฟต์แวร์เข้าไปเพื่อให้ทำงานได้แบบอัตโนมัติ โดยมันจะทำหน้าที่เก็บข้อมูลและส่งข้อมูลสถานะสินค้า สถานะการทำงาน และเชื่อมต่อกับระบบโกดังคลังสินค้าให้อัตโนมัติ
“Robot ทำหน้าที่ตอบโจทย์ได้โดยตรง แถมทำงานด้วยความแม่นยำและปลอดภัยเพราะมีระบบรองรับ ไม่ชนสิ่งกีดขวาง และสามารถแพลนงานล่วงหน้า วิ่งเส้นทางที่สั้นที่สุด และไว้วางใจได้ว่าจะทำงานได้เสร็จทันเวลา” เธอกล่าวย้ำ
: ต่อยอดจากพื้นฐาน
โจทย์ของการพัฒนาหุ่นยนต์ในมุมมองของ Gensurv คือ ทำให้หุ่นในโรงงาน ที่ยังไม่ออโตเมติก 100% ทำงานได้แบบออโต้มากขึ้น หรือทำให้ตอบโจทย์การลงทุนให้มากขึ้น เพราะหุ่นยนต์ที่ล้ำมากๆ มีราคาแพงมากจนจับต้องไม่ได้
“เราดูว่ามีเทคโนโลยีอะไรที่พอจะทำได้ หุ่นยนต์เคลื่อนที่ ที่พ่วงไปกับซอฟต์แวร์ เชื่อมต่อกับโปรแกรมให้หุ่นยนต์ทำงานกับโลกภายนอกได้อย่างครบวงจร โซลูชั่นที่เราจะพัฒนาเพิ่มก็จะเป็นเทคโนโลยีที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ ต่อยอดไปในแนวนั้น” เธอกล่าว และบอกว่า เรื่องหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติมันต้องพัฒนาอยู่เรื่อยๆ ไม่ว่าจะมากหรือน้อย
แม้ตอนนี้จะมีบริษัทไทยที่ทำด้าน Robotic เพิ่มขึ้น แต่ความเข้มข้นที่เข้าถึงเทคโนโลยีในลักษะที่ผลิตขึ้นมาเอง ยังมีน้อยมาก ส่วนใหญ่เน้นนำเข้ามาเชื่อมต่อเพื่อให้ทันกับความต้องการ ทุกคนอยู่ในขั้นตอนเรียนรู้พัฒนา
บริษัทไทยที่เริ่มใช้หุ่นยนต์ขนส่งในโรงงานส่วนมากจะเป็นโรงงานขนาดใหญ่อย่าง SCG Logistics บุญรอดบริวเวอร์รี่ และบางกอกกลาส ซึ่งเป็นธุรกิจในกลุ่มแรกๆ ที่อยากเห็นเทคโนโลยีว่าเป็นได้อย่างไร โดยเริ่มใส่โซลูชั่นที่เป็น Robotic เข้าไปแทนที่
เธอมองว่า หัวใจสำคัญของธุรกิจคือทำยังไงให้ขั้นตอนการผลิตมีประสิทธิภาพมากที่สุด ประหยัดเวลา ทำให้ยอดขายสูงสุดในขณะที่ต้นทุนต่ำ เป็นสิ่งสำคัญ ทำให้ธุรกิจที่มีวิสัยทัศน์ส่วนใหญ่เริ่มเปิดใจรับเทคโนโลยี หันมาพึ่งพาระบบออโตเมชั่น และหุ่นยนต์เพิ่มมากขึ้น
ในโรงงานยังมีเทคโนโลยีอีกมาก ที่ไม่ได้จำกัดเฉพาะหุ่นยนต์เท่านั้น ใช้เทคโนโลยีเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดต้นทุน ประหยัดเวลา เพิ่มการเชื่อมต่อให้มากขึ้น เพราะสิ่งที่มีความสำคัญและมีราคาแพงมากที่สุดคือเวลา แต่คนส่วนใหญ่ยังไม่ได้ตระหนักว่าการที่ประหยัดเวลา ลดภาระการจัดการ มันจะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายได้มาก
: รวมพลคนออโตเมชั่น
Gensurv เริ่มต้นจากการรวมคนที่หลงใหลหุ่นยนต์จากสนามแข่ง Robocup ขยับไปจนทดลองให้โอกาสและพัฒนาคนหน้าใหม่ที่มีความสนใจหุ่นยนต์เข้ามาร่วมทีม เพราะคนที่เรียนจบเฉพาะทางด้านหุ่นยนต์มีจำนวนจำกัด ซึ่งเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นเหมือนกันทั่วโลก
วรีมน บอกว่า ทีม Gensurv หลายคนที่ทำงานอยู่ตอนนี้ไม่ได้เรียนจบมาตรงสาย แต่มีความสนใจศึกษาต่อยอด มีงานอดิเรกที่เกี่ยวข้องกับด้านนี้ ซึ่งพวกเข้าทำงานได้ บางคนเรียนจบมาตรงสายแต่ไม่ได้ฝึกฝนก็อาจไม่เท่ากับคนที่มีความสนใจ และความชอบส่วนตัว
“เราทดลองเปิดโอกาสให้คนที่มีใจรัก มีสกิลและความสนใจที่จะเรียนรู้และพัฒนาต่อยอดหุ่นยนต์มาเทรนด์ให้สร้างผลงานในรูปแบบใหม่ อย่าง รถไร้คนขับ รวมถึงนวัตกรรมที่ตอบโจทย์การใช้งานโดยเฉพาะได้” เธอกล่าว และทิ้งท้ายว่า ทั้งหมดนี้เดินหน้าไปพร้อมกับแรงสนับสนุนจากหน่วยงานรัฐอย่างสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ที่ช่วยผลักดันนวัตกรรมสู่การใช้จริง พร้อมกับการวิจัยและพัฒนาต้องที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา