เทคโนโลยี AI ใครว่าเป็นเรื่องไกลตัว เมื่อพลังของหน่วยประมวลผล หรือชิป CPU รุ่นใหม่ก้าวหน้าไปมาก ทำให้ AI ถูกพัฒนาและใช้งานจริงในรูปแบบที่แตกต่างได้อย่างน่าทึ่ง
Techhub Inspire พาไปคุยกับคนวงในสายเทคโนโลยี Artificial Intelligence (AI) Machine Learning (ML) และ Computer Vision (CV) กับผลงานที่น่าสนใจอย่างกล้องวงจรปิดที่ติดระบบแจ้งเตือนยามฉุกเฉิน ไปจนถึงเทคโนโลยีทางการทหารที่พัฒนาขึ้นเพื่อตอบโจทย์ความมั่นคงของประเทศ
หมู นวรัตน์ อรรถานุกูล CEO บริษัท เครส เคอร์เนล จำกัด เจ้าของผลงานเทคโนโลยี DeepEyes ระบบรักษาความปลอดภัยด้วยเทคโนโลยีการประมวลผลภาพจากกล้องวงจรปิดแบบเรียลไทม์ เล่าว่า ตอนที่เขาเริ่มเข้ามาจับงานด้าน Image Processting เทคโนโลยี AI ยังเป็นเรื่องใหม่ที่สำหรับคนไทย เพราะถึงแม้ AI จะถูกพูดถึงมาหลาย 10 ปี แต่เนื้อหาที่มีในต่างประเทศก็ยังจำกัดอยู่แค่องค์ความรู้ด้านทฤษฎีเท่านั้น
ด้วยข้อจำกัดของงานด้าน AI ที่ต้องอาศัยคือภาระทางการคำนวณสูงมาก ในขณะที่ฮาร์ดแวร์ของคอมพิวเตอร์รุ่นเก่าไม่รองรับพลังการประมาณผลที่มากพอ แต่ในช่วง 5-10 ปีที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่า ฮาร์ดแวร์กลายเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ AI เติบโตได้แบบก้าวกระโดด เพราะมีฮาร์ดแวร์ประสิทธิภาพสูงเข้ามารองรับ ซึ่งตัวเขาเองก็เป็นนักพัฒนาโปรแกรมคนหนึ่งที่ตัดสินใจเข้ามาในวงการ
: เริ่มต้นจากสูตรโกงเกม
“จากเด็กที่ใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับสูตรโกงเกมวางแผนรบ เพื่อค้นหาวิธีโกงที่เหนือชั้น การจะทำอย่างนั้นได้จำเป็นต้องเข้าใจโค้ด” เขาเล่าถึงจุดเริ่มต้นที่ทำให้สนใจการเขียนโปรแกรม และภาษาคอมพิวเตอร์ จนกระทั่งค้นพบความชอบของตัวเอง และตัดสินใจเดินทางสู่อาชีพโปรแกรมเมอร์ แม้จะไม่ได้มีโอกาสเรียนต่อในสายอาชีพอย่างที่ตั้งใจ
โลกของคอมพิวเตอร์ของนวรัตน์เริ่มต้นจากหน้าหนังสือสรุปเกมในสมัยก่อน ที่มักจะแทรกบทความโกงเกมอยู่ในรูปของการเขียนโปรแกรม ใครจะไปคิดว่าเด็กที่ตั้งหน้าตั้งตาลอกโค้ดจากหนังสือเกม จะสามารถเรียนรู้ด้วยตัวเองจนทำให้สกิลการเขียนโปรแกรมเติบโตได้แบบก้าวกระโดด แม้จะเส้นทางที่เขาเลือกเดินตอนเรียนปริญญาตรีจะไปทางสายบัญชีและการเงินก็ตาม
“ข้อดีของการเขียนโปรแกรมสำหรับผมมองว่ามันเป็น Self contain อยู่ภายคอมพิวเตอร์ ที่ศึกษาและลองผิดลองถูกเองได้เอง ไม่เหมือนกับงานอย่างอื่น” หนุ่มบัญชีกล่าว และเล่าต่อถึงเส้นทางผันตัวเป็นโปรแกรมเมอร์ ที่เริ่มจากการเขียนซอฟต์แวร์ง่ายๆ อย่างโปรแกรมชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง โปรแกรมตัดเกรด มาจนถึงโปรแกรมที่เป็นเรื่องเป็นราวเขียนเอารางวัลจนได้ทุนมาพัฒนาต่อ ไปจนถึงโปรแกรมช่วยคำนวณงบการเงินย้อนหลัง ที่ช่วยสรุปออกมาเป็นแผนระดมทุนและต้นทุนทางการเงินสำหรับธุรกิจในอนาคต
ภาษาคอมพิวเตอร์กลายเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ความสนใจทั้ง 2 ฝั่งมาเจอกันทั้งโปรแกรมคอมพิวเตอร์ และธุรกิจ จนกลายเป็นแอปพลิเคชั่นที่เหนือกว่าการเล่นเกมเพียงอย่างเดียว สุดท้ายเขาก็ค้นพบความชอบที่แท้จริงของตัวเอง และตัดสินใจเรียนต่อด้านวิศวะคอมพิวเตอร์ จนยึดอาชีพโปรแกรมเมอร์คอยเก็บเกี่ยวประสบการณ์จากโจทย์ที่หลากหลายมากขึ้น
: โอกาสของ AI นวัตกรรมเปลี่ยนโลก
สิ่งที่เขาสนใจลึกลงไปกว่าภาษาคอมพิวเตอร์ คือ computer vision ที่เข้ามาช่วยเติมเต็มข้อจำกัดของกล้องวงจรปิด ที่ต้องอาศัยระยะเวลาในการเรียกดูข้อมูลย้อนหลัง เช่นเหตุการณ์เด็กพลัดตกน้ำ ผู้สูงอายุล้มบาดเจ็บสาหัส เหตุเพลิงไหม้ ถ้าแจ้งเตือนทันทีที่เกิดเหตุ และระงับเหตุร้ายได้ทันตั้งแต่ต้นก็จะช่วยลดการสูญเสียไปได้มาก
“การที่จะทำให้กล้องจดจำและบอกถึงความผิดปกติที่เกิดขึ้นได้ การใช้ชุดคำสั่งหรือซอฟต์แวร์ปกติเพียงอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ จำเป็นต้องใช้ AI เข้ามาช่วยเรียนรู้และประมวลผลภาพ” เขากล่าว และอธิบายว่า ซอฟต์แวร์ทั่วไปจะทำตามลำดับขั้นตอนที่ถูกกำหนดไว้แล้วชัดเจนตายตัว ต่างจาก AI ที่หัวใจสำคัญ คือ Algolium หรือขั้นตอนวิธีที่จะออกแบบให้คอมพิวเตอร์เรียนรู้ด้วยตัวมันเองว่าจะประมวลผลเพื่อหาคำตอบด้วยรูปแบบการคำนวณที่ไม่ต้องระบุขั้นตอนวิธีตายตัวได้อย่างไร นั่นเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เขาหันมาศึกษาด้าน AI อย่างจริงจัง
หมู นวรัตน์ ยอมรับว่า เขาใช้เวลาหลายปีในการปรับพื้นฐานคณิตศาสตร์ และศึกษาเทคนิคการเขียนโปรแกรมด้วยการลองผิดลองถูก กว่าจะออกมาเป็นโปรดักส์ต้องผ่านหลายขั้นตอน และมีหลายครั้งได้เริ่มต้นเรียนรู้จากโปรเจคใหม่ๆ
Active CCTV ช่วยแจ้งเหตุฉุกเฉิน เป็นหนึ่งในนวัตกรรมที่อยู่ระหว่างการพัฒนา โดยได้รับการสนับสนุนจาก Panus Assembly ผู้นำธุรกิจยานยนต์เพื่อการขนส่งสินค้า ที่ร่วมกันพัฒนาองค์ความรู้ใหม่รวมถึงสร้างต้นแบบกล้องติดรถยนต์ ที่สามารถเฝ้าติดตามพฤติกรรมการขับขี่ที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายจากอุบัติเหตุ ซึ่งอุปกรณ์ที่มีขายอยู่ในท้องตลาดตอนนี้ยังไม่ตอบโจทย์การใช้งาน ทั้งในเรื่องความสะดวก ความแม่นยำ รวมถึงหาวิธีช่วยลดการใช้พลังงานลง
นอกจากนี้ เขายังได้เดินหน้าโปรเจคด้านความมั่นคงของประเทศ ร่วมกับหน่วยงานให้ทุนอย่างสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) พัฒนาอุปกรณ์ชุดเลนส์ AR ที่ใช้เชื่อมต่อกับหมวกจรยุทธ์ของเจ้าหน้าที่รักษาความสงบตามชายแดนและด่านตรวจ โดยอาศัย computer vision ที่ใส่ระบบตรวจสอบใบหน้า (Face reccognition) ช่วยเจ้าหน้าที่วิเคราะห์และแจ้งเตือนผู้กระทำผิดที่ตามจับกุมแบบเงียบๆ โดยที่คนร้ายไม่ทันรู้ตัว ซึ่งอยู่ระหว่างการพัฒนา
เขาย้ำว่า AI ไม่ใช่เรื่องไกลตัว เราอาจใช้อยู่ทุกวันเพียงแต่ไม่ทันรู้ตัว ทั้งการสั่งงานด้วยเสียงในรถยนต์ กล้องมือถือที่สามารถถ่ายภาพแบบหน้าชัดหลังเบลอ ตัดขอบได้แบบเนียนๆ ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นความสามารถของ AI ที่อยู่รอบตัว ที่มีอะไรให้ศึกษาอยู่ตลอดเวลา
“เรื่อง knowhow ไม่มีใครที่สูงกว่าใครจนตามไม่ทัน การแข่งขันเกิดขึ้นได้ โดยของบางอย่างไม่ได้ขายกันที่ราคา แต่หาจุดเด่นและจุดต่างให้เจอ รวมถึงพาร์ทเนอร์ธุรกิจเองก็มีส่วนสำคัญที่จะทำให้ประสบความสำเร็จได้ หากต้องการทำธุรกิจเทคโนโลยีอย่างจริงจัง ต้องพึ่งตัวเอง และแข็งแกร่งจากภายในให้ได้ก่อน” เขากล่าวทิ้งท้าย