นวัตกรรมฝีมือคนไทย ไม่แพ้ใครในโลก รดน้ำไร้คนขับที่ทำงานแทนคนได้อย่างไม่มีบ่น อีกหนึ่งในผลงานที่เริ่มต้นจากปัญหาเล็กๆ ที่สร้างธุรกิจใหม่ เมื่อเทคโนโลยีสมองกลฝังตัว (Embedded System) กำลังเข้ามาแทนที่การทำสวนในรูปแบบเดิม
แต่กว่าจะมาเป็นนวัตกรรมที่ใช้ได้จริง ต้องผ่านอะไรมาบ้าง Techhub พาไปคุยกับ “สายธาร ม่วงโพธิ์เงิน” เจ้าของไอเดียเรือรดน้ำอัตโนมัติ ที่เปลี่ยนบ้านกลางสวนให้กลายเป็นโรงงานขนาดย่อม ที่นี่กลายเป็นจุดเริ่มต้นของความคิด ลงมือทำ และสร้างสิ่งใหม่แบบไม่รู้จบ ของสตาร์ทอัปที่ใช้ชื่อว่า Rimbotics
: เริ่มต้นจากความชอบ
ชีวิตในวัยเด็กของสายธาร ไม่ต่างจากเด็กหนุ่มทั่วไป เขาโตมากับหุ่นยนต์ และของเล่นที่มีกลไกของมอเตอร์ที่ทำให้หมุนได้ ความสนใจในวัยเด็ก ทำให้เขาเลือกที่จะเรียนรู้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ให้ลึกขึ้นในด้านวิศวะ และทำงานในฐานะโปรแกรมเมอร์ผู้ออกแบบสมองกลให้กับโรงงานอุตสาหกรรม อย่างบอร์ดควบคุมระบบเครื่องปรับอากาศ ระบบควบคุมระบบถังน้ำแข็ง หรือระบบ Inverter ที่แปลงไฟจากโซล่าเซลล์เข้าไฟบ้าน เรียกได้ว่าเป็นมือปืนรับออกแบบวงจรต้นแบบให้บริษัทเอาไปผลิตและใช้งานจริงมานักต่อนัก จนเริ่มหันมามองปัญหาที่อยู่ใกล้ตัว และพัฒนาอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เข้ามาช่วยทุ่นแรงรดน้ำในสวนผลไม้ ที่เดิมต้องใช้แรงงานคนเท่านั้น
ปัญหากลายเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนานวัตกรรมด้วยโจทย์ของตัวเอง จนกลายมาเป็น Solution ที่สร้างรายได้โดยที่ไม่ต้องไปรับจ้างเขียนโปรแกรมอย่างที่ผ่านมา ด้วยการเอาความชอบมาเป็นแรงบันดาลใจ
“ความยากของโปรดักต์ที่ไม่เคยมีใครพัฒนามาก่อน คือต้องเริ่มต้นนับจากศูนย์ ลองผิดลองถูก รอให้ทุกอย่างเริ่มตกตะกอน ทำยังไงให้เรือวิ่ง โครงสร้างวัสดุต้องเป็นยังไง ล้อ โฟม หรือสเตนเลสถึงจะดีที่สุด กว่าจะมาเป็นโปรดักต์ที่สมบูรณ์ได้ต้องใช้ทั้งเวลาต้อง ความพยายาม ความรู้และความอดทน” เขาเล่าถึงที่มา และมองว่า จุดเด่นของคนไทยคือรู้จักประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเพื่อแก้ปัญหาได้ดีกว่าคนต่างชาติที่เป็นเจ้าของเทคโนโลยี เพราะคนไทยมีไอเดียที่จะนำเซนเซอร์ที่มีอยู่อย่าง GPS, SONAR, LIDAR มาทดลองใช้เพื่อแก้ปัญหาได้อย่างตรงจุด
ตอนนี้เรือรดน้ำอัตโนมัติ หรือ RIM ถูกพัฒนาออกมาหลายรุ่น ตั้งแต่รุ่นแรกที่เน้นต้นทุนต่ำ จากนั้นก็เริ่มปรับขนาโครงสร้าง ติดตั้งเซนเซอร์ ออกแบบระบบบังคับลำเรือให้ตรง เลี้ยวโค้งได้อย่างแม่นยำ รวมถึงแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นหน้างานเพื่อลดข้อจำกัด หรืออุปสรรคที่มีไปได้หมด
: เปลี่ยนวิถีชาวสวน
อนาคตเทคโนโลยีจะเข้ามาช่วยแก้ปัญหาสังคมสูงวัย และเป็นตัวเลือกที่สร้างแรงจูงใจให้คนรุ่นใหม่หันมาทำการเกษตรมากขึ้น
สายธารกล่าวย้ำว่า การทำสวนตอนนี้ไม่ได้ลำบากเหมือนก่อนแล้ว มีทั้งโดรน หุ่นยนต์การเกษตร และเครื่องจักรหลายตัวที่เข้ามาตอบโจทย์ปัญหาเรื่องแรงงานที่เริ่มขาดแคลน และต้องอาศัยแรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงานแทน
“ความยากอยู่ที่การทำให้เจ้าของสวนดั้งเดิมยอมรับในเทคโนโลยีที่เข้ามาเปลี่ยนวิถีเกษตรกรรมไปจากเดิม ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย ทำอย่างไรให้คนเห็นคุณค่าของนวัตกรรมที่เข้ามาช่วยเพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย การใช้ความรู้และทดลองทำให้เห็นจริงคือสิ่งสำคัญทำให้ลูกค้ายอมรับในเทคโนโลยี ผ่านความเข้าใจของคนรุ่นใหม่ที่ยอมรับในเทคโนโลยีมากกว่า” เขากล่าวยอมรับ
นอกจากนี้ นวัตกรรมจะเกิดได้ยังต้องอาศัยความร่วมมือ อย่างสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) ที่เข้ามาช่วยเชื่อมโยงกลุ่มเกษตรกร กับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ทำให้นวัตกรรมที่พัฒนาขึ้นถูกค้นพบ และไปไกลได้มากกว่าที่เป็นอยู่
ตอนนี้เรือรดน้ำ RIM ได้ลงพื้นที่ใช้จริงในหลายจังหวัดแล้วประมาณ 10 ลำ เรียกว่าเจอมาแล้วทุกร่องสวน ทั้งกล้วยหอม, มะละกอ, ส้มเขียวหวาน, มะนาว และสวนส้มเช้ง ตลอดเส้นทางมีการพัฒนาเพื่อแก้ปัญหาอย่างต่อเนื่องทั้งตัวฮาร์ดแวร์ และซอฟต์แวร์ รวมถึงวัสดุที่ในอนาคตที่เป็นไปได้อย่าง ไฟเบอร์กลาสที่มีน้ำหนักเบา ทนทานต่อการกัดกร่อนได้ดีขึ้น รวมถึงเปลี่ยนมาใช้พลังงานจากแบตเตอรี่ไฟฟ้าแทนน้ำมัน ซึ่งจะทำให้ต้นทุนถูกลง และคืนทุนได้เร็ว เมื่อเทียบกับการจ้างแรงงานรายวัน
สายธาร ทิ้งท้ายว่า ตอนนี้หัวใจสำคัญอยู่ที่การออกแบบซอฟต์แวร์ และกล่องควบคุม ที่ต้องปรับเปลี่ยนไปตามพื้นที่และรูปแบบการใช้งาน ในอนาคตถ้ามีโรงงานประกอบเป็นเรือของตัวเอง คาดว่าจะขยายกำลังการผลิตได้ด้วยต้นทุนที่ต่ำลง ช่วยให้คืนทุนได้เร็วขึ้น
ดูข้อมูลเพิ่มเติม RIMBOTIC
ดูตอนอื่นๆ ของ Techhub Insight