นวัตกรรมสุดเจ๋ง แก้หม้อแปลงระเบิด

ต้องยอมรับว่าทุกวันนี้ หม้อแปลงไฟฟ้าเหมือนระเบิดเวลาที่อยู่ใกล้ตัว ไม่มีใครคาดเดาได้ว่าเมื่อไหร่ที่หม้อแปลงไฟฟ้าจะระเบิด จนเกิดอุบัติเหตุไฟใหม้ตามมา

Techhub insight พาไปคุยกับนักวิจัยไทยที่ค้นพบวิธีป้องกันไฟไหม้หม้อแปลงไฟฟ้า แบบที่ไม่มีใครคิดมาก่อน กับ “ดร.บุญญาวัณย์ อยู่สุข” หัวหน้าทีมวิจัยศูนย์เทคโนโลยีพลังงานแห่งชาติ ผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของนวัตกรรมสุดเจ๋ง ENPAT น้ำมันหม้อแปลงไฟฟ้าปลอดภัย ที่กำลังมาแทนที่น้ำมันจากปิโตรเลียมที่ลุกติดไฟง่าย ช่วยลดอุบัติเหตุร้ายแรงที่ตามมา

: ต้นตอหม้อแปลงระเบิด

เหตุการณ์ไฟไหม้จากหม้อแปลงไฟฟ้าระเบิดที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า ส่วนหนึ่งมาจากความเสื่อมของอุปกรณ์ภายในรวมถึงการใช้ไฟเกิน จนทำให้เกิดความร้อน อีกหนึ่งปัจจัยคือน้ำมันในหม้อแปลง ซึ่งทำหน้าที่เป็นตัวหล่อเย็น เมื่อโดนความร้อนสะสมเป็นเวลานาน อาจเกิดลุกติดไฟทำให้ระเบิดออกมา และสร้างความเสียหายให้พื้นที่โดยรอบ อย่างเหตุการณ์หม้อแปลงไฟฟ้าระเบิดที่สำเพ็ง ในปี 2565 ที่เคยสร้างความเสียหายหนักจากเหตุการณ์ไฟไหม้ลุกลามในพื้นที่ชุมชน

“ตัวหม้อแปลงไฟฟ้าระเบิดไม่ได้อันตราย สิ่งที่อันตรายมากๆ คืออัคคีภัย ตัวน้ำมันที่อยู่ในหม้อแปลงที่เราเรียกว่าน้ำมันหม้อแปลงไฟฟ้า เมื่อมีการระเบิดน้ำมันที่อยู่ในหม้อแปลงไฟฟ้าจะเกิดการลุกติดไฟ พอระเบิดปุ๊ป ตัวน้ำมันที่ติดไฟก็จะกระจายไปที่บ้านเรือนของประชาชน ทำให้ไฟลามไปที่บ้านเรือนของประชาชนด้วย” นักวิจัยอธิบายถึงสาเหตุของเหตุการณ์ไฟไหม้ และยอมรับว่า ทุกวันนี้หม้อแปลงไฟฟ้ายังคงติดตั้งอยู่ทั่วไปตามท้องถนน ยิ่งในสังคมเมืองที่มีความต้องการใช้พลังงานไฟฟ้าเป็นจำนวนมาก ก็จะยิ่งเห็นปริมาณของหม้อแปลงไฟฟ้ามากขึ้นเรื่อยๆ 

ยิ่งในตอนนี้ประเทศไทยส่งเสริมนโยบายการใช้พลังงานสะอาด สนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า ยิ่งทำให้ความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น ทำให้ปริมาณหม้อแปลงไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย


: น
วัตกรรมคือทางออก

ในมุมของนักวิจัย สิ่งที่ทีมวิจัยเทคโนโลยีเชื้อเพลิงสะอาดและเคมีขั้นสูง ศูนย์เทคโนโลยีพลังงานแห่งชาติ หรือ ENTEC ทำได้ คือการทดลองปรับคุณภาพของน้ำมันปาล์มเพื่อใช้แทนน้ำมันในหม้อแปลงไฟฟ้า เพื่อช่วยเพิ่มความปลอดภัยได้อีกขั้น 

นักวิจัย เล่าว่า นวัตกรรมที่พัฒนาขึ้นใช้ชื่อว่าชื่อ ENPAT หรือน้ำมันหม้อแปลงไฟฟ้าที่มีส่วนผสมจากปาล์มน้ำมัน มีอุณหภูมิจุดติดไฟสูงถึง 2 เท่า ทำให้การติดไฟเกิดขึ้นได้ยากกว่า น้ำมันหม้อแปลงไฟฟ้าทั่วไปที่ติดไฟได้ภายใต้อุณหภูมิไม่สูงมากนัก ประมาณ 150-170 องศาเซลเซียล ทำให้เกิดอุบัติเหตุขึ้นได้ง่ายกว่า

“ปกติน้ำมันหม้อแปลงไฟฟ้าใช้ไปสักพักจะเสื่อมอายุการใช้งาน ต้องเอาออกมาเพื่อกำจัดในรูปของสารพิษ ในขณะที่ปาล์มน้ำมันย่อยสลายได้ทางชีวภาพ ไม่เป็นพิษต่อสิ่งมีชีวิต และการเสื่อมสภาพของ ENPAT ยังเอาไปผลิตเป็นน้ำมันไบโอดีเซลได้ด้วย เรียกได้ว่ามีการใช้ประโยชน์ถึง 2 ต่อ ขณะที่ในอนาคตความต้องการใช้พลังงานไฟฟ้ามีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น” นักวิจัยอธิบาย

: อนาคตน้ำมันชีวภาพ 

ปาล์มน้ำมันไทย เป็น 1 ใน 5 พืชเศรษฐกิจของไทย ที่มีการผลิตน้ำมันปาล์มดิบเป็นอันดับ 3 ของโลกรองจากอินโดเนเซีย และมาเลเซีย ไทยอยู่ในอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันไทยมานานมาก แต่เกษตรกรยังคงประสบปัญหาความผันผวนของราคามาโดยตลอด

นักวิจัยเล่าว่า งานวิจัยนี้เริ่มพัฒนาต้นแบบในห้องปฏิบัติการมาตั้งแต่ปี 2563 เป็นช่วงเวลาเดียวกับที่รัฐบาลกำหนด 8 ผลิตภัณฑ์โอลีโอเคมี (Oleochemical) ที่เป็นเป้าหมาย หลังจากประสบปัญหาราคาปาล์มตกต่ำ รัฐบาลต้องขอความร่วมมือจากการไฟฟ้าเอาน้ำมันปาล์มดิบมาเผาและผลิตไฟฟ้าเพื่อพยุงราคาของปาล์ม

“ปาล์มน้ำมันที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ครึ่งหนึ่งเราใช้เป็นน้ำมันบริโภค อีกครึ่งหนึ่งเป็นไบโอดีเซล หากที่อนาคตมีการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้ามากขึ้นแล้ว ส่วนที่จะเป็นน้ำมันไบโอดีเซลคาดว่าจะเหลือค่อนข้างมากเพราะปริมาณการใช้ลดลง ไทยจำเป็นต้องหาแนวทางในการแปรรูปน้ำมันปาล์มดิบ เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้นให้ได้ ” นักวิจัยกล่าว

น้ำมันหม้อแปลงชีวภาพ จึงเป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์เป้าหมาย รัฐบาลมีแนวโน้มที่จะส่งเสริมที่จะให้เกิดการใช้งานเชิงพาณิชย์ในประเทศ


ที่ผ่านมาทีมวิจัยได้รับความร่วมมือสนับสนุนจากหลายๆ หน่วยงาน ที่เป็นหน่วยงานหลักในอุตสาหกรรมหม้อแปลงไฟฟ้าของประเทศ โดยเฉพาะการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค การไฟฟ้านครหลวง การไฟฟ้าฝ่ายผลิต รวมถึงความร่วมมือจาก สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เข้ามาร่วมโครงการเพื่อผลักดันมาตรฐานอุตสาหกรรม (มอก.) ของน้ำมันหม้อแปลงไฟฟ้าชีวภาพฉบับแรกของประเทศด้วย

นอกจากนี้ยังได้ร่วมกับ 8 หน่วยงานพันธมิตร ติดตั้งหม้อแปลงไฟฟ้าบรรจุ ENPAT เพื่อทดสอบการใช้งานจริง โดยปล่อยประแสไฟฟ้าให้กับอาคารสำนักงาน และบ้านเรือน ที่เกาะเสม็ด จ.ชลบุรี ซึ่งนับเป็นการนำร่องติดตั้งใช้งานจริงในหม้อแปลงไฟฟ้าเครื่องแรกของประเทศ และมีแผนดำเนินการติดตั้งอีก 8 เครื่อง ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ รวมถึงกรุงเทพด้วย 

นักวิจัยเชื่อว่าในอนาคตจะสามารถผลักดันผลงานวิจัย ENPAT เพื่อใช้งานเชิงพาณิชย์ผลิตเชิงอุตสาหกรรม โดยอาศัยแรงสนับสนุนโยบายของรัฐ และความร่วมมือจากหลายหน่วยงาน ผลักดันให้ผลิตภัณฑ์ของคนไทย สนับสนุนเกษตรกรชาวไทย ผลิตมาเพื่อคนไทยใช้งานได้จริง