ประกาศรางวัล Trash to Treasure Art & Design Contest ครั้งที่ 4 “สร้างสรรค์ สร้างค่า สร้างสมดุลโลก”

โครงการประกวดเพื่อสร้างสรรค์ผลงานศิลปะและการออกแบบ Trash to Treasure Art & Design Contest: “สร้างสรรค์ สร้างค่า สร้างสมดุลโลก” จัดขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 4 โดยมีแนวคิดให้กลุ่มเยาวชนสร้างสรรค์และออกแบบผลงานจากจุดตั้งต้นมาจากวัสดุเหลือใช้ในชีวิตประจำวัน โดยนำกลับมาสร้างสรรค์ ให้มีคุณค่า สร้างประโยชน์ได้ทั้งในเชิงสุนทรียภาพทางศิลปะ และความสามารถในการนำเสนอแนวคิดตีความด้านความยั่งยืนผ่านการประกวด ผลงานศิลปะ และงานออกแบบแบบสองมิติ (2D) และแบบสามมิติ (3D) โดยได้คัดเลือกผลงานเข้ารอบสุดท้าย จำนวน 19 ชิ้นงาน ซึ่งได้ตัดสินและจัดแสดงภายในงานมหกรรมด้านความยั่งยืนที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในอาเซียน Sustainability Expo 2023 (SX2023)  ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

ทั้งนี้ ผลงานต้องสามารถสะท้อนให้เห็นถึงการใช้ความคิดสร้างสรรค์  สร้างคุณค่าให้กับวัสดุเหลือใช้ และสามารถสร้างประโยชน์ได้ตามประเภทของงานที่สร้างสรรค์หรือออกแบบ  ซึ่งมีเจตนารมณ์ที่ต้องการส่งต่อความคิดด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน และสร้างแรงบันดาลใจเพื่อเปลี่ยนพฤติกรรมตนเองเพื่อสร้างสมดุลสิ่งแวดล้อมโลก ภายใต้แนวคิด “พอเพียง ยั่งยืน เพื่อโลก” โดยคณะกรรมการตัดสิน 7 ท่าน ประกอบด้วย ศาสตราจารย์เกียรติคุณถาวร โกอุดมวิทย์ คุณนิติกร กรัยวิเชียร คุณเพลินจันทร์ วิญญรัตน์ อาจารย์วุฒิกร  คงคา คุณเจรมัย พิทักษ์วงศ์  คุณวิชชุลดา ปัณฑรานุวงศ์ และคุณพอใจ อัครธนกุล

โดยผลงานที่ได้รับรางวัลประเภท 2D รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ ผลงาน “E-waste for save Hornbill” จากมหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ รับเงินรางวัล 15,000 บาท รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ผลงาน “สัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์ในไทย” จากทีม The World A จากมหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ รับเงินรางวัล 12,000 บาท รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ ผลงาน “ปัญญาขยะ” จากนางสาวจิดาพร สอนอาจ มหาวิทยาลัยศิลปากร รับเงินรางวัล 10,000 บาท และรางวัลประเภท 3D รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ ผลงาน “นกน้อยทำรังแต่พอตัว” จากทีม New Thing โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายมัธยม รับเงินรางวัล 30,000 บาท รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ผลงาน “เต่ามะเฟือง” จากทีม Beautiful Friendship จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รับเงินรางวัล 25,000 บาท รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ผลงาน “ช่วงเวลาแห่งการผจญภัยกับเหล่าผองเพื่อน” จากนายเกียรติศักดิ์ ไพราม มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา รับเงินรางวัล 20,000 บาท

คุณเพลินจันทร์ วิญญรัตน์ กรรมการตัดสินโครงการ Trash to Treasure เผยว่า “ความหมายหรือมุมมอง Trash to Treasure ส่วนตัวของพี่คือสิ่งที่ถูกมองข้ามไป สิ่งที่โยนทิ้ง แต่เรานำกลับมาสร้างให้เกิดคุณค่า และเป็นงานศิลปะ สำหรับปีนี้เป็นปีที่ 2 ที่มีโอกาสได้เป็นหนึ่งในคณะกรรมการตัดสิน ซึ่งเห็นได้ชัดว่าเยาวชนมีความสามารถพัฒนางานได้ดีขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ตัดสินผลงานค่อนข้างยาก สำหรับเกณฑ์ในการตัดสินคือ สิ่งสำคัญนอกจากงานจะสวยงามแล้ว เจ้าของงานจะต้องมีความเข้าใจในชิ้นงาน และสามารถอธิบายงานได้อย่างละเอียด โดยผลงานที่ได้รับรางวัลชนะเลิศประเภท 3D รู้สึกประทับใจมากในเรื่องการพรีเซนต์ แสดงให้เห็นถึงความเข้าใจถึงคอนเซปต์งาน และวิธีการทำงานจริงๆ ทุกอย่างลงตัว ส่วนรางวัลชนะเลิศประเภท 2D น้องๆ สามารถนำวัตถุดิบที่แข็ง สายไฟที่ดูเป็นพลาสติก แต่สามารถทำให้ชิ้นงานดูอ่อนช้อย และสื่อถึงความหมายได้ดี เรียกว่าเก่งกันจริงๆค่ะ

นางสาวติณณา ผลเจริญ ชั้นปีที่ 1 คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม สาขาสถาปัตยกรรมมหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์  ทีมมหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ ตัวแทนทีมชนะเลิศประเภท 2 D เผยความรู้สึกว่า “สำหรับผลงาน “E-waste for save Hornbill” คอนเซปต์ของเราสื่อถึงนกเงือก เพราะสัตว์ชนิดนี้เป็นตัวชี้วัดของความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่า แต่ว่าตอนนี้นกเงือกได้รับผลกระทบจากขยะและสารเคมี ที่ปนเปื้อนเข้าไปในพื้นที่ป่า เรามองว่า ณ ปัจจุบันนี้เรากำจัดขยะได้ถูกวิธีเพียง 20% จึงนำ 2 ส่วนนี้มารวมกันเพื่อเป็นคอนเซปต์ของงานนี้ คือการนำวัสดุที่ใช้งาน เช่น แผงวงจรคอมพิวเตอร์ คีร์บอร์ด สายไฟ โปรเจกเตอร์ และใช้ส่วนประกอบอื่นๆมาตกแต่งให้สวยงามขึ้น วันนี้รู้สึกดีใจมากๆ ค่ะที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ เป็นประสบการณ์ที่ดีมากๆ คิดว่าศิลปะสร้างคุณค่าให้แก่โลกในหลายๆด้าน และสามารถพัฒนาได้ไปเรื่อยๆ เช่น การนำขยะที่ไม่มีมูลค่านำมาสร้างสรรค์ให้เกิดคุณค่าได้ค่ะ”

นางสาวโปรดปราน ธรรมาภรณ์พิลาศ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายมัธยม ทีมNew Things ตัวแทนทีมรางวัลชนะเลิศประเภท 3D เผยความรู้สึกว่า “รู้สึกตื่นเต้นมากๆค่ะที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ ถือว่าเป็นงานประกวดด้านศิลปะงานแรกของพวกเรา เป็นประสบการณ์ที่ดีมากๆค่ะ สำหรับคอนเซปต์งานคือโลกปัจจุบันได้ถูกทำลายด้วยฝีมือมนุษย์และมลภาวะต่างๆ และความฟุ่มเฟือยของมนุษย์และความไม่พอเพียง เราจึงนำไปโยงกับสุภาษิตไทย นกน้อยทำรังแต่พอตัว แปลคร่าวๆคือทำอะไรควรทำแต่พอดี เราจึงสร้างสรรค์งานรังนกกระจาบ ซึ่งมีนกที่โอบอุ้มโลกอยู่ข้างใน โดยโครงสร้างที่ซับซ้อน นกกระจาบกว่าจะสร้างรังให้สำเร็จต้องบินไปกลับกว่า 500 เที่ยว ส่วนนกสีแดงเป็นสัญลักษณ์เตือนว่าเราควรตระหนักถึงโลกร้อน โลกที่เป็นสีดำแสดงถึงโลกมีความย้ำแย่ขึ้นเรื่อยๆ วัสดุหลักๆคือลัง ขวดพลาสติก ในส่วนของนกกับโลก คือลูกบอลเก่าๆ ที่ถูกใช้แล้วค่ะ”

ติดตามข่าวสาร และกิจกรรมของ SX ได้ทาง Website SX : https://bit.ly/web_sx_pr Facebook SX : https://bit.ly/fb_sx_pr  iOS App Store : https://bit.ly/iOS_SX_PR  Play Store SX : https://bit.ly/Android_SX_PR และ @sxofficial