องค์การสหประชาชาติ คาดการณ์ว่าในปี พ.ศ. 2593 จำนวนประชากรที่อาศัยอยู่ในเมือง จะมีสัดส่วนคิดเป็นเกือบ 70% ของจำนวนประชากรโลก หรือราว 6.4 พันล้านคน เพิ่มขึ้นจาก 54% หรือเกือบ 4 พันล้านคนในปี 2558 ขณะที่จำนวนคนเมืองในกลุ่มประเทศเอเชีย คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเกือบสองเท่า จาก 1.6 พันล้าน เป็น 3 พันล้านคนในปี 2593 มหานครทั่วโลกต้องเตรียมรับมือกับความท้าทายใหม่ๆ ที่จะมาพร้อมกับจำนวนประชาการที่เพิ่มขึ้น เช่น คุณภาพชีวิต การจัดการขยะ ระบบขนส่งสาธารณะ ขณะเดียวกันก็ต้องบริหารจัดการปัญหาที่รอการแก้ไข และริเริ่มโครงการใหม่ๆ ที่ทำให้เมืองมีความน่าอยู่และประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวในงานมหกรรมความยั่งยืนที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน (Sustainability Expo 2023) ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ว่าประเด็นเรื่องความยั่งยืนดูยังเป็นเรื่องไกลตัวคนทั่วไป แต่หากพูดถึงคุณภาพชีวิต คนจำนวนมากจะเชื่อมโยงกับประเด็นนี้ได้มากกว่า แม้ กทม. จะเป็นเมืองที่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติมาเที่ยวเป็นอันดับ 1 ของโลก แต่ในการจัดอันดับความเป็นเมืองน่าอยู่ (Global Liveability Index) ปี 2566 จาก 140 เมืองทั่วโลก ที่จัดทำโดย Economic Intelligence Unit (EIU) กทม. อยู่ในอันดับที่ 98 ตัวเลขดังกล่าวจึงยังเป็นสิ่งที่น่ากังวล เพราะสะท้อนถึงคุณภาพชีวิตและความยั่งยืนที่ไม่สู้ดีนักของเมือง กทม.
“เมื่อเราพูดถึงความยั่งยืนหรือคุณภาพชีวิต เราจะพูดในมิติเดียวไม่ได้ เพราะเมือง (กทม.) ยังต้องเผชิญกับความท้าทายอีกมากมาย ดังนั้น เป้าหมายของเราคือ ต้องยกอันดับตัวเลขนี้ (98) ให้สูงขึ้น” ปัญหาต่างๆ ของ กทม.ที่ยังต้องปรับปรุง เช่น ปริมาณขยะวันละ 10,000 ตัน ซึ่งส่วนใหญ่ถูกขนย้ายไปยังสถานที่ทิ้งขยะ ยังไม่มีการรีไซเคิลมากนัก กทม. ต้องพัฒนาการจัดการกับขยะอย่างยั่งยืน เรื่องคุณภาพน้ำ กรุงเทพฯ อาจดูตัวอย่างจากสิงคโปร์ เรื่องการนำน้ำกลับมาใช้ซ้ำให้ดีขึ้นกว่าในปัจจุบัน
“ผมคิดว่าเรามีพื้นที่มากกว่าสิงคโปร์สองเท่า แต่กลับมีพื้นที่สีเขียวน้อยกว่าสิงคโปร์ เรามี 1,500 ตร.กม. สิงคโปร์น่าจะมี 600 ตร.กม. เราจึงต้องปรับปรุงเรื่องนี้ด้วย ทั้งหมดนี้เกี่ยวข้องกับคุณภาพชีวิตและความยั่งยืน และในท้ายที่สุด ผมมองว่าทุกเรื่องจะโยงไปเรื่องความไม่เท่าเทียม ผมไม่แน่ใจว่าอะไรมาก่อน ความเสมอภาค หรือความยั่งยืน แต่ผมแน่ใจว่าสองสิ่งนี้เชื่อมโยงกัน ต้องไปด้วยกัน”
“ความยั่งยืนไม่ใช่แค่ลดคาร์บอนไดออกไซด์ แต่การพัฒนาการศึกษาจะนำไปสู่ความยั่งยืนที่ดีขึ้น วิสัยทัศน์ของผู้บริหารกทม. คือ ทำให้กทม. เป็นเมืองที่น่าอยู่สำหรับทุกคน ผ่านนโยบาย 9 ด้าน คือ สภาพแวดล้อม สุขภาพ ระบบขนส่ง ความปลอดภัย การบริหารจัดการ สาธารณูปโภค เศรษฐกิจ ความคิดสร้างสรรค์ และการเรียนรู้ โดยหน้าที่ของกทม. พุ่งเป้าไปที่การเพิ่มผลิตภาพ ปรับปรุงคุณภาพชีวิต สร้างโอกาสสำหรับทุกคน และสร้างความเชื่อมั่นระหว่างผู้บริหารกทม.กับชาวเมืองกว่า 10 ล้านคน เพื่อร่วมมือกันทำงาน” นายชัชชาติ กล่าวว่า
ผู้ว่าฯ กทม. ย้ำว่าการพัฒนาเมืองเปรียบเสมือนระบบหมุนเวียนเลือดในร่างกาย เมกะโปรเจ็กต์ต่างๆ เปรียบเป็นเส้นเลือดแดง และการพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกขั้นพื้นฐานต่างๆ เปรียบเป็นเส้นเลือดฝอย ทั้งสองระบบจะต้องทำงานอย่างดีไปพร้อมกัน
“ลองดูแผนพัฒนาระบบขนส่งในอนาคตของเรา เรามีรถไฟฟ้า 11 สาย เกือบ 500 กิโลเมตร ไปทุกหนแห่งใน กทม. มีสีมากราวกับสายรุ้ง นี่คือระบบหลอดเลือดแดง แต่พอมาดูหลอดเลือดฝอย พอจะถึงบ้าน ยังต้องมารอขึ้นมอเตอไซค์รับจ้าง เดินบนฟุตปาธแย่ๆ ฉะนั้น ถ้าระบบหลอดเลือดฝอยยังแย่ คุณภาพชีวิตที่ดีหรือเมืองที่ยั่งยืนจะยังเกิดไม่ได้”
นายฮิวจ์ ลิม ผู้บริหารของศูนย์เมืองน่าอยู่ (Centre for Liveable Cities) ในสิงคโปร์ ร่วมแชร์ประสบการณ์เกี่ยวกับความพยายามสร้างความเติบโตของเมืองแบบรวมทุกฝ่าย และการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ “ประชากรในสิงคโปร์ เพิ่มขึ้นเป็น 5.9 ล้านคน แผนพัฒนาเมืองและสังคม รวมถึงนโยบายระดับเทศบาล ต้องมุ่งตอบสนองความต้องการของผู้ด้อยโอกาสและกลุ่มเปราะบางด้วย เราต้องเข้าใจปัญหาที่พวกเขาเผชิญ ต้องแน่ใจว่าพวกเขายังสามารถเข้าถึงโอกาสทางเศรษฐกิจและบริการต่างๆ ได้ เช่น ที่อยู่อาศัย บริการด้านสาธารณสุข การศึกษา และระบบขนส่งสาธารณะ”
นายลิม กล่าวว่า ในปี 2573 ชาวสิงคโปร์ทุกๆ 1 ใน 4 คน จะมีอายุมากกว่า 65 ปี ทำให้สิงคโปร์เป็นสังคมผู้สูงอายุระดับสุดยอด (Super-aging Society) การจัดนโยบายด้านที่อยู่อาศัยโดยออกแบบฟังก์ชั่นต่างๆ ให้เหมาะกับความต้องการของกลุ่มผู้สูงวัย โครงการที่เพิ่งเปิดตัวเมื่อไม่นานมานี้คือ คอมนูนิตี้ แคร์ อพาร์ตเมนต์ ที่เน้นออกแบบมาให้เป็นมิตรต่อการใช้ชีวิตของผู้สูงวัยได้อย่างอิสระและมีความสุขในชุมชนของตัวเอง ไม่ต้องไปอยู่ในบ้านพักคนชรา เข้าถึงได้ง่าย และราคาย่อมเยา มีบริการด้านต่างๆ เช่น การตรวจเยี่ยมบ้าน บริการช่วยเหลือฉุกเฉิน 24 ชั่วโมง อาหาร ซักรีดเสื้อผ้า นอกจากนี้ ยังมีการจัดพื้นที่และกิจกรรมทางสังคมให้ผู้สูงวัยได้เข้าร่วมด้วย
รัฐบาลสิงคโปร์เป็นผู้นำในการวางแผนพัฒนาเมืองในระยะยาว แต่เปิดโอกาสให้เยาวชนและคนในชุมชนต่างๆ ได้มีส่วนร่วมวางแผนและออกแบบนโยบายที่เกี่ยวกับการพัฒนาอย่างยั่งยืนภายในชุมชนของตนเอง ความที่มีที่ตั้งเป็นเกาะ สิงคโปร์คาดว่าอาจต้องใช้งบประมาณมากถึง 1 แสนล้านดอลลาร์ เพื่อตระเตรียมแผนรับมือระยะยาวสำหรับภัยพิบัติจากระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้นในช่วง 50-100 ปีข้างหน้า ควบคู่กับการใช้วิธีการทางธรรมชาติ อย่างการใช้ป่าชายเลน ป่าโกงกาง เป็นแนวกันชน ช่วยซับแรงของคลื่นไม่ให้เข้ากัดเซาะชายฝั่ง และการจัดตั้งโครงการวิจัย Marine Climate Change Science (MCCS) เพื่อรักษาระบบนิเวศชายฝั่งทะเล และศึกษาเรื่องการดักจับคาร์บอนในทะเล
ผู้บริหารของศูนย์เมืองน่าอยู่ กล่าวว่า ในส่วนของความพยายามลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แผนแม่บทอาคารสีเขียวของสิงคโปร์ กำหนดให้ 80% ของอาคารสร้างใหม่ทั้งหมดต้องใช้พลังงานระดับต่ำสุดยอด (Super low energy) ภายในปี 2573 ซึ่งจะช่วยประหยัดพลังงานได้ราว 80% ช่วยลดคาร์บอนฟุตพริ้นต์ให้แก่เมือง
มาร่วมเปลี่ยนโลก เพื่อสมดุลที่ดี เพื่อโลกที่ดีกว่า Good Balance, Better World ภายใต้มหกรรมด้านความยั่งยืนที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน SUSTAINABILITY EXPO 2023 (SX2023) ตั้งแต่วันนี้ถึง 8 ตุลาคม 2566 เวลา 10.00 – 20.00 น. ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ชั้น G และ LG งานนี้เข้าชมฟรี!