การวางแผนขับเคลื่อนเมืองอัจฉริยะที่ยั่งยืน (Smart Sustainable City) ต้องอาศัยการร่วมกันระดมสมอง แลกเปลี่ยนความรู้-ความเชี่ยวชาญจากทุกภาคส่วนของสังคม เพื่อให้การพัฒนาตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนน้อยที่สุด และบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนได้จริง ขณะเดียวกันการเรียนรู้แนวคิดหรือโครงการพัฒนาใหม่ๆ จากการริเริ่มของภาคธุรกิจ ภาคประชาสังคม อาจกลายเป็นต้นแบบของการวางแผนพัฒนา-ปรับปรุงมหานครกรุงเทพ ให้เป็นเมืองที่น่าอยู่มากขึ้นได้เช่นกัน
นายนิธิศ สถาปิตานนท์ กรรมการบริหาร บริษัท สถาปนิก 49 จำกัด พูดถึงความเคลื่อนไหวในแวดวงออกแบบสถาปัตยกรรมกับการพัฒนาเมืองที่ยั่งยืน ภายในงาน Sustainability Expo 2023 มหกรรมเพื่อความยั่งยืนที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในอาเซียน ว่าไม่นานมานี้ได้ทำหน้าที่เป็นกรรมการตัดสินการประกวดงานออกแบบสถาปัตยกรรม ซึ่งมีผู้ส่งผลงานเข้าร่วมมากถึง 400 โครงการจากทั่วเอเชีย การพิจารณาผลงานทำให้เห็นว่าทุกประเทศมีความตระหนักรู้ถึงแนวคิดการพัฒนาที่ยั่งยืน จนกลายเป็นเรื่องปกติไปแล้ว อย่างไรก็ตาม ยังมองว่าปัจจุบันผลงานจากประเทศไทยยังไม่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากเท่าที่ควร
“การวางตำแหน่งของนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์มีความสำคัญ เรื่องระดับของความยั่งยืนนั้น เราจะทำในระดับต่ำสุด จะทำตามมาตรฐาน หรือจะทำให้สูงกว่ามาตรฐาน” นายนิธิศ ตั้งคำถาม “ส่วนเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคม สำหรับผมคือการทำให้ทุกคนที่มีส่วนร่วมกับโครงการและทุกคนที่อยู่รอบ ๆ บริเวณนั้นมีความสุข”
สถาปนิกหนุ่มยกตัวอย่างโครงการที่ชนะการประกวดในหลายๆ ประเทศว่า มีการออกแบบพื้นที่สีเขียวตลอดตัวอาคาร คำนึงเรื่องความยั่งยืน สามารถผลิตพลังงานหมุนเวียนมาใช้เอง ใช้วัสดุและเทคโนโลยีที่ช่วยดูดซับคาร์บอนมากกว่าปริมาณที่ปล่อยออกมาในกระบวนการก่อสร้าง (Carbon-Negative Building) ซึ่งถือว่าล้ำหน้ากว่าอาคารประหยัดพลังงานทั่วไป รวมไปถึงการทำให้ทุกคนในโครงการมีความสุข และการเปิดพื้นที่ส่วนกลางให้ทุกคนทำกิจกรรมต่างๆ (Placemaking Space)
สำหรับโครงการในประเทศไทย นายนิธิศ ยกตัวอย่าง “วัน แบงค็อก” โครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่ใจกลางกรุงเทพฯ ซึ่งพัฒนาโดยกลุ่มบริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ โดยระบุว่าเป็นโครงการที่มีการกำหนดมาตรฐานต่างๆ ในระดับสูง เห็นได้จากแผนแม่บทของวัน แบงค็อก ที่ตั้งเป้าจะเป็นโครงการที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน LEED Platinum และ WELL Platinum ซึ่งเป็นอันดับสูงสุดของเกณฑ์การประเมินอาคารสีเขียวของสหรัฐอเมริกา เน้นเรื่องความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาวะของผู้อยู่อาศัยและผู้ใช้อาคาร
“วัน แบงค็อก ตั้งเป้าไว้สูงในทุก ๆ เรื่อง มีการนำสมาร์ทเทคโนโลยีเข้ามาใช้ พร้อมให้ความสำคัญกับบริบทโดยรอบ รวมทั้งคนที่จะเข้ามาอยู่ในละแวกนั้น โครงการนี้ถ้าเสร็จแล้วจะมีศักยภาพมากพอที่จะไปประกวดเวทีไหนก็ได้ในโลก และผมก็เชื่อว่าจะได้หลายรางวัล” นายนิธิศ กล่าว พร้อมกระตุ้นให้โครงการพัฒนาอสังหาฯ ในไทยตั้งมาตรฐานให้สูงเข้าไว้เพื่อแข่งขันกับนานาประเทศ
นายวรวรรต ศรีสอ้าน รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร โครงการ วัน แบงค็อก กล่าวถึงแนวคิดในการพัฒนาเมืองที่ยั่งยืนว่า ในมุมของผู้พัฒนาอสังหาฯ แผนพัฒนาต้องสอดคล้องกับรูปแบบการพัฒนาเมืองที่มีอยู่และวางแผนไว้ในอนาคต ภาคอสังหาฯ ต้องหาวิธีแก้ไขปัญหาอันเป็นผลพวงจากกระบวนการกลายเป็นเมือง (Urbanization) การขยายตัวของมหานคร จำนวนประชากรสูงวัยที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการจัดการขยะ รวมถึงหาวิธีการทำให้คนที่มีความแตกต่างด้านเชื้อชาติ อายุ พื้นเพ อาชีพ มาอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข
ในการนี้ได้ยกตัวอย่างโครงการ Hudson Yards ในนครนิวยอร์ก โครงการ King’s Cross ในกรุงลอนดอน และโครงการ Todoroki Hill ในกรุงโตเกียว โดยระบุว่าทั้งสามโครงการมีการออกแบบแผนแม่บทที่นำไปสู่การพัฒนาอย่างชัดเจนในรูปแบบต่าง ๆ เช่น ฟื้นฟูพื้นที่รกร้างหรือเขตอุตสาหกรรมเดิมให้กลายเป็นย่านธุรกิจและชุมชนแห่งใหม่ที่มีพื้นที่สีเขียวอย่างเพียงพอ พื้นที่เปิดโล่งเพื่อสาธารณประโยชน์ แหล่งรวมร้านอาหาร ศิลปะและวัฒนธรรม
“ทำอย่างไรให้การพัฒนาเมืองไปสู่เมกะซิตี้กับเรื่องความยั่งยืนมันสามารถไปด้วยกันได้ เป็นการฟื้นฟูกรุงเทพฯ เพื่อความยั่งยืน โดยอาศัยระบบขนส่งมวลชนเชื่อมต่อการเดินทาง ลดการใช้ทรัพยากรอย่างสิ้นเปลือง สิ่งที่เราพัฒนาในโครงการวัน แบงค็อก เพื่อตอบโจทย์เหล่านี้ เรามองเรื่องของการสร้างชุมชนที่สามารถอยู่ได้เอง มีความหลากหลาย รองรับคนกลุ่มมาก และมีบริการพื้นฐานที่ครบครัน มีพื้นที่พาณิชยกรรม พื้นที่ส่งเสริมศิลปะวัฒนธรรม ทั้งภายในและภายนอกอาคาร ในส่วนการก่อสร้างเราได้พาร์ทเนอร์อย่างเอสซีจีเข้ามาตั้งแต่แรกเริ่ม เพื่อช่วยพัฒนาเทคโนโลยีและวัสดุที่ช่วยลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ในช่วงการก่อสร้าง โครงการมีการเปลี่ยนระบบกำจัดของเสียที่เกิดจากไซต์งานและนำกลับมาใช้ประโยชน์ในงานก่อสร้างอาคาร สอดคล้องกับระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน” ผู้บริหารโครงการ วัน แบงค็อก กล่าว
“สิ่งที่เราทำ (ในโครงการ วัน แบงค็อก) สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับสเกลของการพัฒนาเมือง อยากเห็นเป็นภาพใหญ่ของกรุงเทพมหานคร แล้วเราช่วยต่อยอด ช่วยขับเคลื่อน เกิดเป็นชุมชนที่แข็งแรงและเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนที่เราอยู่ด้วย หากเราใช้รูปแบบการพูดคุย การทำงาน การประสานงานตั้งแต่แรกเริ่ม มองตั้งแต่การพัฒนาจุดเริ่มต้นไปจนถึงปลายทาง คือการบริหารจัดการเมื่ออาคารสิ่งปลูกสร้างแล้วเสร็จ ถ้าเรามีส่วนร่วมกันตั้งแต่แรกเริ่ม ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมด เช่น ผู้พัฒนาอสังหาฯ ได้พูดคุยกับนักออกแบบตั้งแต่วันแรก คนที่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านวัสดุก่อสร้าง เทคโนโลยีการก่อสร้าง ภูมิสถาปนิก สิ่งที่ได้ก็จะเป็นรูปแบบที่มีความสมดุล ความลงตัว ผมว่าการมีส่วนร่วมเป็นสาระสำคัญ และความสุขในการพัฒนาจะเป็นหัวใจสำคัญในการพัฒนาที่ยั่งยืนและมั่นคงต่อไปในอนาคต”
มาร่วมเปลี่ยนโลก เพื่อสมดุลที่ดี เพื่อโลกที่ดีกว่า Good Balance, Better World ภายใต้มหกรรมด้านความยั่งยืนที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน SUSTAINABILITY EXPO 2023 (SX2023) ตั้งแต่วันนี้ถึง 8 ตุลาคม 2566 เวลา 10.00 – 20.00 น. ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ชั้น G และ LG งานนี้เข้าชมฟรี!