เราต่างรู้กันดีว่าโลกมีการเปลี่ยนแปลง จากที่เราได้เห็นตามสื่อต่างๆ และเริ่มรับรู้ได้ถึงความเปลี่ยนไปของโลก ในการก้าวเข้าสู่ “ยุคโลกเดือด” แล้วเราสามารถเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือได้อย่างไร รวมถึงจะอยู่อย่างไรให้ใจเป็นสุข บนเวทีแลกเปลี่ยนความคิดในงาน Sustainability Expo 2023 มหกรรมด้านความยั่งยืนที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน ซึ่งจัดขึ้น ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ มีการเปิดประเด็น “HOW TO LIVE BETTER LIFE IN AN EVER CHANGING WORLD? อยู่อย่างไร…ให้เป็นสุข? บนโลกที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา”
โดยมี 4 แขกรับเชิญที่มาร่วมแชร์แนวคิดจากประสบการณ์ของตัวเองในหลากหลายมุมมอง เริ่มที่ คุณโน๊ต-วัชรบูล ลี้สุวรรณ นักแสดงหนุ่มหล่อและนักกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อม ได้กล่าวถึงผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศสำหรับคนในเมืองที่มีแนวโน้มดีขึ้น เพราะเทคโนโลยีต่างๆ ที่ถูกคิดค้นมาเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลง แต่ยังกระจุกตัวในกรุงเทพฯ ขณะที่ผลกระทบกลับเกิดขึ้นเป็นวงกว้าง โดยจากที่ทำงานด้านสิ่งแวดล้อมให้มูลนิธิสืบนาคะเสถียรมา 8 ปี พบ 3 ปัญหาเรื้อรัง ทั้งการสร้างอ่างเก็บน้ำบนพื้นที่ป่าอนุรักษ์ การค้าสัตว์ป่า และผลกระทบของโลกร้อนที่ยังแก้ไม่ตก “ทุกวันนี้ ผมเริ่มเปลี่ยนแปลงตัวเองเพื่อให้หลานของผม (ซึ่งตอนนี้อายุ 5 ขวบ) อยู่บนโลกนี้ได้ต่อไปโดยไม่ลำบาก โดยส่วนตัวผมไม่เชื่อว่าเราทุกคนจะมีพลังพอให้เกิดการเปลี่ยนแปลง แต่เราทุกคนสามารถร่วมมือร่วมใจกันทำเพื่อกดดันรัฐบาลให้ร่วมผลักดัน สิ่งต่างๆ จึงจะเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว” คุณโน้ตกล่าวในฐานะนักกิจกรรมที่ร่วมขับเคลื่อนงานด้านสิ่งแวดล้อม
ก่อนจะทิ้งท้ายด้วยคำแนะนำในเรื่องของการใส่ใจดูแลสุขภาพ โดยแนะนำให้ทุกคนออกกำลังกาย เพราะมนุษย์วิวัฒนาการมาเพื่อเคลื่อนไหว เราควรหาเวลาไปสัมผัสกับป่ากับธรรมชาติ สำหรับร่างกายของคนเปรียบเหมือนสังคมแบคทีเรีย ซึ่งบางอย่างเราต้องไปรับจากธรรมชาติ แล้วจะช่วยให้เรามีสุขภาพกาย สุขภาพจิตที่ดี นี่แหละวิธีอยู่ให้เป็นสุข
ขณะที่คุณพิภู พุ่มแก้ว ผู้ประกาศข่าว ได้กล่าวให้ทุกคนตระหนักถึงปัญหาที่น่ากังวล ว่าทุกวันนี้มันสายเกินไปแล้ว มันเป็นยุคของโลกเดือด อย่างที่ไต้หวันเพิ่งเจอพายุที่ลมแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ น้ำท่วม ภัยพิบัติทางธรรมชาติ และอีกเรื่องที่หลายคนมองข้ามไป คือเรื่องของโรคภัย อย่างโควิด-19 ที่ธรรมชาติจะปลดปล่อยไวรัสเพื่อคร่าชีวิตมนุษย์หรือลดอัตราการเกิด เพราะยิ่งมนุษย์มีมาก ธรรมชาติก็จะถูกทำลายมาก เกิดการใช้พลังงานมาก โควิด-19 ทำให้การเดินทางหยุดชะงักเพื่อให้โลกได้ฟื้นตัว ถ้าเราสังเกตเมื่อก่อนสถิติโรคร้ายจะมาในรอบ 50 ปี แต่เราจะเริ่มเห็นว่ามันลดลงเรื่อยๆ เป็น 25 ปี 10 ปี และปัจจุบันเหลือเพียง 5 ปี “ตั้งแต่มีมนุษย์เกิดขึ้นมา มนุษย์ทำลายสายพันธุ์อื่นๆ ให้สูญพันธุ์ไปมหาศาล ทุกๆ วันที่ใช้ชีวิต คิดให้ตระหนัก ตระหนักถึงการใช้ทรัพยากร ลดการผลิตก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เพราะวันนี้เรื่องของโลกเดือดมันไม่ใช่แค่กระแส แต่เป็นสิ่งที่เราทุกคนต้อง ‘ต้องทำ’ เพื่อยืดระยะเวลา ไม่ใช้มันสายเกินไป”
ก่อนจบด้วยคำคมทิ้งท้ายให้คิดว่า “โลกต้องอยู่ต่อไป เจนเจอเรชั่นใหม่ต้องได้โอกาส ทุกคนก็แค่ต้องคิด ต้องทำเพื่อคนอื่นมากกว่าตัวเองให้มากกว่าเดิม”
ทางด้านตัวแทนผู้ผลิตอย่าง คุณชเล วุทธานันท์ ผู้สร้างแบรนด์ PASAYA กล่าวถึงผลกระทบของปัญหาโลกร้อนว่า ไม่ใช่สิ่งที่น่ายินดี โลกร้อนกลายเป็นกระแสหลักที่อาจมีทางรอดหากทุกคนตระหนักและช่วยกันลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ ถ้าเราทำได้มวลมนุษย์อาจอยู่ต่อไปอีก 2,000 ปี แต่ถ้าเราทำไม่สำเร็จ อนาคตของมนุษยชาติอาจสั้นลงจนไม่ถึง 200 ปีก็เป็นได้
“อย่าส่งต่อภัยพิบัติไปให้ลูกหลานเรา” วลีสั้นๆ ที่ถ่ายทอดเรื่องราวมากมายพร้อมแฝงแง่คิดนานัปการ ต่อด้วยการเผยถึงเห็นความจริงบางเรื่องในระบบอุตสาหกรรม โดย คุณชเล ชี้ว่าทุกชีวิตต้องมีการบริโภค ซึ่งนำมาสู่การปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ แต่ผู้บริโภคเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของความต้องการในการผลิต ผู้ผลิตต่างหากที่เป็นผู้กำหนดวิธีการทำว่าจะทำลายโลกมากน้อยแค่ไหน ดังนั้น ผู้หากผู้ผลิตสินค้าอุตสาหกรรมปล่อยคาร์บอนฯ ให้น้อยที่สุดก็จะเกิดข้อดีมากที่สุด และสุดท้าย ภาครัฐต้องมีนโยบายมาสนับสนุนและส่งเสริมผู้ที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อให้เกิดการปฏิบัติในวงกว้างอันจะเกิดผลดีตามมาอีกมากมาย“ทุกวันนี้เราเพิ่งเข้าสู่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมมาแค่ประมาณ 150 กว่าปีเท่านั้นเอง แต่เรากลับทำลายโลกไปจนถึงจุดที่เรียกว่า Point of no return หรือจุดที่ย้อนกลับไม่ได้แล้ว ถ้าหากเราจะเอามันกลับมา เราต้องใช้สปีดที่เร็วกว่านี้ ดังนี้ ทุกคนจะต้องพยายามมากกว่าที่ทำ ลงมือทำทันที ทำชีวิตของเราให้เป็นประโยชน์ ไม่ใช่แค่ไม่ปลดปล่อยคาร์บอนฯ แต่เราต้องช่วยลดคาร์บอนฯ ด้วย”
ปิดท้ายที่ คุณวิชชุลดา ปัณฑรานุวงศ์ ผู้ก่อตั้งแบรนด์ วิชชุลดา ที่เผยผลกระทบที่ทุกคนกำลังได้รับผลจากวิกฤตโลกรวน โดยเฉพาะชุมชนภาคการเกษตรที่ได้รับผลกระทบโดยตรง เมื่อผลผลิตไม่ออกตามฤดูกาล ชุมชนขาดรายได้ การประมงที่ไม่สามารถจับปลาได้เท่าเมื่อก่อนจนเกิดผลกระทบความมั่นคงทางอาหาร “แม้เรารับรู้ว่ามันสายเกินไปแล้ว แต่คำว่าสายเกินไปไม่ได้แปลว่าคุณต้องทิ้งและละเลยไป เรายังสามารถชะลอไม่ให้มันเกิดขึ้น เราต้องเริ่มทำเลย ทำให้ดีที่สุด ทำอย่างมีสติ บริโภคอย่างพอประมาณ ใช้ชีวิตอยู่บนความพอเพียง ในมุมของวิชชุลดา พอเพียงไม่ได้หมายความว่าห้ามใช้ ไม่ต้องใช้ แต่คือมีสติในการบริโภค ลองดู ลองใช้สิ่งที่เรามี ทำสิ่งที่เราทำได้ก่อน แล้วจะเกิดความสมดุลตามมา อย่างเช่น ทุกคนมีเสื้อผ้า มีโต๊ะ เก้าอี้ หรือข้าวของที่ไม่ได้ใช้แล้ว เราลองเอาสิ่งเหล่านี้มามิกซ์แอนด์แมตช์ให้เกิดการนำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ ของทุกอย่างไม่จำเป็นต้องซื้อใหม่หรือตามเทรนด์เสมอไป ทุกคนสามารถอัพไซเคิลนำของที่มีอยู่มาทำให้เกิดสิ่งใหม่ เป็นการลดขยะ ช่วยโลกได้อีกทางหนึ่งนั่นเอง”