อนันต์ วาร์ม่า เคยเป็นเด็กชายตัวน้อยที่ชอบทำกิจกรรมกลางแจ้ง และใฝ่ฝันที่จะเป็นนักวิทยาศาสตร์ตั้งแต่อายุ 8 ขวบ เพราะเชื่อว่ามันคืออาชีพที่จะช่วยให้เขาได้ใช้ชีวิตอยู่กับกิจกรรมกลางแจ้งอยู่เสมอ แต่อนันต์ไม่เคยคาดคิดว่าเขาจะไม่ได้ทำงานทำการทดลองหรือค้นคว้าด้านวิทยาศาสตร์ใด ๆ ทว่า เขากลายมาเป็นช่างภาพประจำเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก เอ็กซ์พลอเรอร์ที่หาตัวจับยาก
อนันต์เป็นหนึ่งในวิทยากรที่มาเล่าถึงพลังของการเล่าเรื่องในแบบเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ในงาน Sustainability Expo 2023 มหกรรมด้านความยั่งยืนที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในอาเซียน ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 29 กันยายน ถึง 8 ตุลาคม 2566 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ และได้หยิบยกประเด็นนี้ขึ้นมาพูดถึงในเช้าวันสุดท้ายก่อนปิดงาน ตลอดชีวิตการทำงานที่ผ่านมา อนันต์เลือกเล่าเรื่องที่ยากและซับซ้อนอย่างชีวิตสัตว์ ผ่านภาพนิ่งหรือวิดีโอ และริเริ่ม WonderLab ซึ่งเป็นการเล่าเรื่องในรูปแบบใหม่ที่ใช้เทคนิคการถ่ายภาพและวิดีโอแบบสร้างสรรค์เพื่อสร้างแรงบันดาลใจและความเข้าใจใหม่ ๆ ของโลกเรา โดยเวทีนี้ได้รับเกียรติจากวิทยากรที่มีประสบการณ์อันเข้มข้นจากเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก อีกท่านอย่าง เคทลิน ยาร์แนล (Kaitlin Yarnall) ซึ่งมีตำแหน่งเป็น Chief Storytelling Officer ที่ National Geographic Society ที่ส่งคลิปเล่าเรื่องพลังแห่งการเล่าเรื่องมาทางวิดีโอ
ทุกอย่างเริ่มขึ้นเมื่อเขาได้มีโอกาสหยิบกล้องของพ่อเป็นครั้งแรกเมื่อตอนมัธยมปลายเพื่อนำมาถ่ายรูปงูที่บังเอิญเจอพร้อมกับเพื่อน “ภาพงูช็อตนั้นไม่ได้สวยงามน่าประทับใจอะไรเลย แต่ผมประทับใจกับรายละเอียดที่เพื่อนผมเห็นจากภาพนั้นต่างหาก” อนันต์เล่าถึงภาพงูที่มีองค์ประกอบภาพ แสงเงาลงตัวมากที่สุดภาพหนึ่ง เขากลับไม่ได้ประทับใจองค์ประกอบใด ๆ ของภาพ แต่สนใจปฏิกิริยาของเพื่อนที่มองเห็นรายละเอียดต่าง ๆ ในภาพ “มันทำให้ผมรู้ว่าภาพช่วงเวลานั้นมีเรื่องราว”
ในวันที่เขาไปเรียนต่อระดับมหาวิทยาลัยก็ยังไม่เลิกล้มความตั้งใจ วิ่งตามฝันอาชีพนักวิทยาศาสตร์ จนกระทั่งเขาได้มีโอกาสลงไปสำรวจถ้ำแห่งหนึ่ง และค้นพบว่าการค้นหาทางวิทยาศาสตร์นั้นสามารถทำได้ผ่านการถ่ายภาพ เขาจึงเริ่มส่งประเด็นเกี่ยวกับ “ไร” เสนอไปยังเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ซึ่งเป็นการนำเสนอเรื่องราวของวิทยาศาสตร์ผ่านรูปถ่ายเป็นครั้งแรกของเขา และนั่นจึงกลายเป็นจุดเริ่มต้นความพลิกผันจากเส้นทางนักวิทยาศาสตร์เข้าสู่เส้นทางช่างภาพ
หลังจากนั้นเขาเริ่มโปรเจ็กต์ถ่ายภาพเคลื่อนไหวของผึ้ง และสัตว์บางประเภทที่มีการเคลื่อนไหวรวดเร็วอย่างนกฮัมมิงเบิร์ด ซึ่งกลายเป็นโจทย์ใหม่ของการนำเสนอ เนื่องจากภาพชีวิตสัตว์บางประเภทมีความน่าสนใจมากกว่าแค่การเผยแพร่เป็นภาพนิ่ง นั่นจึงเป็นที่มาของการนำเสนอการเคลื่อนไหวหรือชีวิตของสัตว์บางประเภทในรูปแบบวิดีโอ วิดีโอเหล่านี้มีทั้งการย่นชีวิตภาพการเจริญเติบโตของผึ้งตลอด 21 วันแรกให้เหลือเพียง 1 นาทีในรูปแบบของ Time lapse หรือวิดีโอภาพเคลื่อนไหวของนกขนาดเล็กที่สุดในโลกที่บินด้วยความเร็วสูงอย่างนกฮัมมิงเบิร์ด ที่ต้องใช้กล้องที่สามารถจับความเร็วได้สูงเพื่อจับภาพให้เราได้เห็นจังหวะการบินช้าลงถึง 100 เท่าเพื่อให้เห็นจังหวะที่นกตัวน้อยบินลงมากินน้ำจากปลายหลอดเข็มฉีดยา หรือแม้แต่จังหวะกะพริบตาอย่างชัดเจน
“มีนักวิทยาศาสตร์บางคนบอกผมว่าเขาได้เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ จากวิดีโอ Time lapse การเจริญเติบโตของผึ้ง” อนันต์เล่าถึงความเห็นจากนักวิทยาศาสตร์หลังจากที่วิดีโอผึ้งถูกเผยแพร่อออกไป ทำให้เขามั่นใจว่า การเป็นช่างภาพในแบบของเขาก็ช่วยสร้างประโยชน์ให้กับวงการวิทยาศาสตร์ได้เช่นกัน
อีกหนึ่งโปรเจ็กต์ที่อนันต์ภูมิใจมากคือการทำวิดีโอแมงกะพรุน ที่เขาต้องสร้างแล็บขนาดย่อมด้วยการติดตั้งตู้ปลาในโรงรถเฝ้าดูการเติบโตของแมงกะพรุน ตั้งแต่การเริ่มต้นจากตัวอ่อนเกาะที่ดอกไม้ทะเลก่อนจะเริ่มเติบโตและแบ่งตัวออกจากกันไปเจริญเติบโตในท้องทะเล
“บางสิ่งบางอย่างนั้นไม่ได้เหมาะกับการเผยแพร่ในรูปแบบภาพพิมพ์” อนันต์เล่าถึงที่มาของการจัดนิทรรศการการเจริญเติบโตของแมงกระพรุน ที่นำเอาวิดีโอที่เล่าถึงการเริ่มต้นชีวิตของแมงกะพรุนให้ผู้เข้าชมนิทรรศการดูโดยไม่มีคำอธิบายใด ๆ จนกระทั่งจบ เมื่อเดินออกจากห้องฉายวิดีโอที่ทำให้ผู้เยี่ยมชมนิทรรศการรู้สึกราวกับเพิ่งเดินออกจากพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์จึงมีโอกาสได้เห็นคำอธิบายขั้นตอนต่าง ๆ ที่เขาเพิ่งชมจากวิดีโอ
ปัจจุบันเขาทำโครงการ WonderLab (https://www.nationalgeographic.org/society/our-programs/wonderlab/) ที่สร้างความร่วมมือระหว่างแล็บของเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก สตูดิโอถ่ายภาพ และสถานศึกษา เปิดโอกาสให้เด็กนักเรียนได้เข้ามาเรียนรู้ชีวิตและการเคลื่อนไหวของสัตว์ผ่านเลนส์ด้วยการมีส่วนร่วมในการลงมือถ่ายทำเอง ทั้งนี้ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจและมุมมองใหม่ ๆ ของการเล่าเรื่องผ่านภาพถ่ายและวิดีโอ