ในปัจจุบันที่แนวคิดของการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมถูกหยิบยกมาปฏิบัติในธุรกิจต่างๆ มากขึ้นไปทั่วโลกรวมถึงในประเทศไทย จนเกิดเป็นกระแสให้ใครต่อใครรับรู้และทำตามมากขึ้น ไม่เว้นแม้แต่วงการศิลปะ แฟชั่น และการออกแบบที่ไม่พลาดการปรับตัวให้เข้ากับเทรนด์นี้ด้วย ซึ่งในขณะที่นับว่าการเปลี่ยนแปลงนี้เป็นเรื่องน่ายินดี แต่หลายคนก็อดตั้งคำถามไม่ได้ว่า อุตสาหกรรมที่มีภาพลักษณ์รุ่มรวยด้วยความงามและความฟุ่มเฟือยในการสร้างสรรค์ชิ้นงานให้ดูวิจิตรตระการตามาโดยตลอด จะสามารถสนับสนุนแนวคิดนี้ได้อย่างยั่งยืนจริง หรือเป็นแค่เพียงอิงไปตามกระแสกันแน่
เวที Betterism Design Talk จึงเชิญผู้เชี่ยวชาญแห่งวงการออกแบบไทย 3 ท่าน คือคุณธีรชัย ศุภเมธีกูลวัฒน์ ผู้ผลิตและส่งออกสินค้าไลฟ์สไตล์แบรนด์ Qualy คุณวิชชุลดา ปัณฑรานุวงศ์ ศิลปินและ Social Activist ผู้สร้างผลงานจากขยะและวัสดุเหลือใช้ และคุณอมรเทพ คัชชานนท์ ผู้ก่อตั้งและดีไซน์ไดเร็คเตอร์แบรนด์เฟอร์นิเจอร์ไม้ไผ่และไม้ตาล Amo Arte ผู้นับได้ว่าเป็นตัวอย่างที่ดี ในการใช้ความยั่งยืนมาเป็นแกนในการดำเนินธุรกิจที่ประสบความสำเร็จได้จริง มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์ในงาน SX2022 วันที่ 2 ตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา
ผู้ที่ให้ความคิดเห็นจากมุมมองของนักออกแบบคนแรก คือ คุณธีรชัย ศุภเมธีกูลวัฒน์ ผู้ก่อตั้งและส่งออกสินค้าไลฟ์สไตล์แบรนด์ Qualy ที่เปลี่ยนจุดยืนทางการตลาด มาทำเพื่อสิ่งแวดล้อมชนิดเต็มตัว “ครอบครัวผมอยู่ในธุรกิจทำพลาสติกมานาน จนมาถึงยุคที่จู่ๆ พลาสติกกลายเป็นผู้ร้าย เป็นสิ่งที่ตรงข้ามกับความยั่งยืน เราเลยตัดสินใจจัดจุดยืนของตัวเองใหม่ ว่าต่อไปนี้เราจะเป็นนักออกแบบเพื่อความยั่งยืนของโลก เราจะช่วยลูกค้าที่เป็นผู้ผลิตโดยใช้นวัตกรรมและความสร้างสรรค์ ให้พวกเขารับผิดชอบต่อสังคมได้ง่ายขึ้น เริ่มจากคิดว่า ออกแบบยังไงให้โดนใจ ใช้วัสดุอะไรที่ทิ้งแล้วไม่เป็นภาระ ผมว่าลูกค้าก็สบายใจ”
การเปลี่ยนแปลงชนิดหน้ามือเป็นหลังมือเช่นนั้น ไม่ได้ทำให้คุณธีรชัยมองว่าเป็นภาระแต่อย่างใด ตรงกันข้าม เขากลับมองว่าเป็นการลงทุนที่ต้องจ่ายอยู่แล้วและได้ช่วยเหลือโลกไปพร้อมกันอีกด้วย เช่น การซื้อวัตถุดิบก็รับซื้อจากมูลนิธิที่เก็บขยะในทะเล หรือจากชุมชนต่างๆ ที่เก็บขยะเป็นอาชีพ เขาลงทุนกับเครื่องมือที่จะแปรรูปขยะเหล่านี้ให้เป็นวัตถุดิบเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ และชะลอการใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติ เพราะธรรมชาติต้องการเวลาในการฟื้นตัว เพียงเลือกสิ่งเหล่านี้มาอยู่ในการลงทุน ก็ได้ช่วยชุมชนและสิ่งแวดล้อมได้แล้ว ส่วนกำไรในการทำธุรกิจก็จะมาจากดีไซน์ว่าทำได้ถูกใจลูกค้าแค่ไหน โดยดีไซน์ก็ต้องมีสตอรี่ที่สื่อสารเรื่องการนำกลับมาใช้ใหม่ได้ชัดเจนด้วยการพิมพ์ข้อความลงไปบนกล่อง คนที่เห็นมีตั้งแต่คนส่งของ ไปจนถึงคนที่เพียงแค่ไถฟีดดูในโทรศัพท์เฉยๆ แต่ไม่ได้ซื้อ เขาก็มองว่าเขาประสบความสำเร็จในการสื่อสารหัวใจของแบรนด์ออกไปได้แล้ว
นอกจากนี้ ธุรกิจของคุณธีรชัยยังเปิดโอกาสให้กับผู้บริโภคได้มีส่วนร่วมในความยั่งยืน ด้วยการมีจุดรับบริจาคบรรจุภัณฑ์ที่ใช้แล้วกลับมา โดยแลกกับส่วนลดในการซื้อสินค้าของ QUALY “ปัจจุบันนี้ยังไม่มีธุรกิจที่รับคืนขยะมากนัก แต่เรารับทำ เพื่อเอากลับไปเป็นวัตถุดิบผลิตใหม่ และจะทำจนกว่าวันหนึ่งจะมีวัสดุที่ดีกว่านี้มาทดแทนได้ บรรจุภัณฑ์ที่เราทำดีแค่ไหน วันหนึ่งก็ต้องเป็นขยะ ซึ่งเราต้องรับผิดชอบด้วยการให้ผู้บริโภคสามารถส่งคืนมาที่เราได้ และเมื่อเอากลับคืนมา ก็ต้องสร้างประโยชน์ได้อีก“
กูรูคนถัดมาบนเวทีคือ คุณวิชชุลดา ปัณฑรานุวงศ์ ศิลปินและผู้ก่อตั้งบริษัท Turn To Art ที่โด่งดังจากการสร้างผลงานศิลปะจากวัสดุเหลือใช้ และมีผลงานที่ร่วมสร้างสรรค์กับบริษัทและแบรนด์ชั้นนำมามากมาย ตั้งคำถามถึงผู้ผลิตสินค้าต่างๆ ว่า “ถึงเวลาแล้วหรือยังที่จะคิดถึงต้นทางของขยะ เพื่อที่จะลดขยะและคาร์บอนฟุตพริ้นต์ให้มากที่สุด” ซึ่งทั้งผู้ประกอบการและผู้บริโภคควรนำแนวคิด 4Rs มาใช้ นั่นคือการ RETHINK คิดตั้งแต่ต้นทางเพื่อลดภาระในการทิ้งในปลายทาง REDUCE ลดการใช้ REUSE นำกลับมาใช้ซ้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด และ RECYCLE ด้วยการคัดแยกอย่างถูกวิธีเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ได้อีก
นอกจากนี้ เธอยังเล่าถึงประสบการณ์ในการลงพื้นที่ตามชุมชนต่างๆ ว่าไม่ได้เป็นไปแค่สรรหาวัสดุเหลือใช้มาเป็นวัตถุดิบในการทำงานศิลปะเท่านั้น แต่เป็นการเข้าถึงผู้คนเพื่อชักชวนให้มีส่วนร่วมในการแยกขยะ ซึ่งเขาเห็นว่าเราสามารถนำเอาไปทำงานต่อ เช่นเอาไปจัดนิทรรศการ หรือทำเสื้อผ้าแฟชั่นได้ ซึ่งเมื่อเสร็จสิ้นการจัดแสดงงานแล้ว ก็ยังสามารถนำไปใช้ใหม่หรือส่งต่อได้ เช่น ของเล่นเหลือใช้ที่นำไปจัดบูธให้กับองค์กรยูนิเซฟ ก็ถูกส่งมอบต่อให้กับเด็กๆ ตามชุมชนต่างๆ เธอทิ้งท้ายว่า “ความยั่งยืนคือการบาลานซ์ระหว่างแพชชั่นของตนเองในเชิงธุรกิจเพื่อให้อยู่รอด และดูแลสิ่งแวดล้อมไปด้วยในเวลาเดียวกัน เพราะถ้าคิดถึงแค่ตนเองแต่ไม่สนใจสังคม สุดท้ายธุรกิจก็จะไปไม่รอดอยู่ดี”
และท่านสุดท้ายที่ขึ้นมาบนเวทีคือ คุณอมรเทพ คัชชานนท์ ผู้ก่อตั้งและดีไซน์ไดเร็คเตอร์แบรนด์เฟอร์นิเจอร์ไม้ไผ่และไม้ตาล Amo Arte ที่ก่อตั้งธุรกิจจากความชอบไม้ไผ่มาเป็นสิบปี และเพิ่งกลับมาจากการนำผลงานเฟอร์นิเจอร์ของแบรนด์ไปแสดงที่ปารีส และได้รับความสนใจอย่างสูงจากชาวฝรั่งเศส ยืนยันว่า “ดีไซน์คือสิ่งสำคัญที่ช่วยส่งต่อเรื่องสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน พอเราสามารถออกแบบให้คนสนใจว่าไม้ไผ่ ไม้ตาลทำโต๊ะเก้าอี้ออกมาได้สวยขนาดนี้เลยหรือ เราก็มีโอกาสได้เล่าเรื่องราวความเป็นมา ซึ่งมันมากกว่าการขายสินค้า”
ความเป็นมาที่เขาอยากชี้ให้ทุกคนรับรู้คือ ไผ่เป็นไม้ที่มีความยั่งยืนสูงมาก เพราะเป็นไม้ประจำถิ่นที่โตให้ใช้งานได้ไว ปลูกทดแทนได้ง่าย ยิ่งผ่านกระบวนการทรีตเมนต์เนื้อไม้ที่ถูกต้อง ก็ช่วยกำจัดปัญหาเรื่องเชื้อราและมอดได้ ก็ยิ่งเหนียวแข็งแรงทนทาน เมื่อนำมาใส่ดีไซน์สมัยใหม่ที่บางชิ้นเราผสมผสานกับแบบดั้งเดิมตามภูมิปัญญาชาวบ้าน ก็ยิ่งสวยแปลกตา พอขายไผ่ได้เป็นกอบเป็นกำ ความยั่งยืนก็เกิดขึ้นในชุมชนต่างๆ ที่ทางแบรนด์เข้าไปรับซื้อ คือแทนที่จะปลูกทีละเล็กน้อยแล้วขายในราคาถูกเหมือนที่ผ่านมา ชาวบ้านก็มีแรงบันดาลใจปลูกไผ่เพื่อการค้ามากขึ้นเพื่อขายแล้วมีกำไร เช่นเดียวกับไม้ตาลที่มีมากทางใต้ของไทย อมรเทพเล่าว่างานของแบรนด์ทั้งหมดทำมาจากซากต้นตาลที่ ”สูญเปล่า” เช่นโดนฟ้าผ่าหรือถูกด้วงกัดกินจนตาลไม่ออกผลอีกต่อไป และชาวบ้านก็มักจะทิ้งไว้อย่างนั้น ไม่ได้นำไปทำประโยชน์อะไร ที่ผ่านมา เรามักจะเห็นคนนำไม้ตาลมาทำเป็นของชิ้นเล็กเช่นถ้วยกาแฟตามร้านขายของที่ระลึก แต่เมื่อไปสัมผัสวิถีชีวิตของชาวสวนตาล อมรเทพจึงได้รู้ว่าไม้ตาลนั้นแข็งแรงมากจนถึงขนาดนำมาทำเสาบ้าน หรือถ้าต้นใหญ่ก็สามารถขุดเป็นเรือได้ เขาจึงมั่นใจว่าจะสามารถนำมาทำเป็นเฟอร์นิเจอร์ได้เช่นอย่างแน่นอน และด้วยวิธีการเดียวกันที่เขารับซื้อไม้ไผ่จากชาวบ้าน อมรเทพเชื่อว่านี่คือการต่อลมหายใจให้กับวัสดุที่ถูกทิ้งให้เสียเปล่าอย่างรู้คุณค่า พร้อมกับสร้างความยั่งยืนให้กับอาชีพและชีวิตของผู้คนในชุมชนนั้นด้วย
เมื่อมาถึงตอนท้ายของการสนทนาบนเวที ผู้เชี่ยวชาญการออกแบบทั้งสาม ดูจะเห็นตรงกันว่า ความยั่งยืนที่แท้จริงจะเกิดได้ ก็ต้องมาจากทุกคนในสังคมช่วยกันลงมือทำไปพร้อมๆ กัน โดยคุณธีรชัยมองว่า “การตื่นรู้ก่อนจากฝ่ายผู้ประกอบการนั้นคือกุญแจสำคัญ เพราะผู้บริโภคยุคนี้กำลังเรียกร้องหาความรับผิดชอบด้านสิ่งแวดล้อมจากผู้ผลิตมากขึ้นเรื่อยๆ เจ้าของธุรกิจต่างๆ ก็ควรพิจารณาว่าสิ่งที่ทำอยู่นั้น สามารถปรับได้ตามมากน้อยเพียงใด พร้อมกับแนะนำให้บรรดาผู้ประกอบการทุกรายเร่งเป็นฝ่ายลงมือแสดงความรับผิดชอบขึ้นมาเอง ก่อนที่จะถูกสังคมบังคับให้ต้องทำในที่สุด”
ส่วนคุณวิชชุลดากล่าวว่า “เป็นเรื่องน่าดีใจที่ศิลปินรุ่นใหม่และผู้ประกอบการธุรกิจต่างๆ ให้ความสนใจเรื่องของสิ่งแวดล้อมและการลดขยะมากขึ้น แต่อยากจะวิงวอนให้ผู้ประกอบการที่เป็นต้นทางของวัสดุทั้งหลายมองที่กระบวนการการผลิตที่จะช่วยลดขยะได้จริงตั้งแต่ต้นทาง ไม่ใช่มองแค่ผลผลิตปลายทางว่าเป็นผลิตภัณฑ์ “เพื่อสิ่งแวดล้อม” แล้วหยุดความสนใจอยู่เท่านั้น และควรแสดงความจริงจังด้วยการบรรจุให้ความยั่งยืนเป็นดีเอ็นเอทางธุรกิจ และนำมาลงมือปฏิบัติอย่างจริงจัง ไม่ใช่แค่ทำตามกระแส”
ปิดท้ายด้วยความคิดเห็นจากคุณอมรเทพ ว่าผู้ประกอบการควรสนใจเรื่องความยั่งยืนให้มากขึ้น และในขณะเดียวกัน หากสังคมเข้าใจและขับเคลื่อนให้เป็นกระแสก่อน ผู้ประกอบการทั้งรายเล็กและใหญ่ก็จะหันมาเปลี่ยนแปลงตามไปเอง และที่สำคัญที่สุด ความเปลี่ยนแปลงทั้งหมดเริ่มต้นที่สังคมซึ่งก็คือตัวเราทุกคน ต้องตระหนักรู้ว่าวัสดุทุกอย่างบนโลกนี้มันมีวันหมดลงไปได้ เราจึงควรเริ่มจากการใช้สิ่งของต่างๆ ซ้ำ ดูแลเพื่อใช้งานให้นานที่สุด ความยั่งยืนก็จะเกิดขึ้นได้