“สตาร์ทอัพ” กันมั้ย ?

ว่ากันว่าเด็กจบใหม่เดี๋ยวนี้ไม่ค่อยอยากทำงานในบริษัท มีความคิดเป็นของตัวเองสูง มองเงินเดือน 15,000 บาท (ที่ก็ไม่ค่อยมีบริษัทไหนอยากจ่าย) ว่าไม่เพียงพอต่อการตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ยุคใหม่

startup
ภาพจาก techsauce.co

หลายคนอ่านหนังสือปลุกแรงบันดาลใจ แล้วก็ก้าวเดินไปข้างหน้าอย่างไม่ลังเล บ้างก็ขอเงินก้อนหนึ่งจากพ่อแม่เพื่อสร้างกิจการของตัวเอง บ้างก็เตรียมแผนธุรกิจแล้วนำไปขอเงินทุนแหล่งทุนต่าง ๆ ความฝันที่จะได้เห็นเมืองไทยมีแหล่งทุนสำหรับบริษัทหน้าใหม่ที่เต็มไปด้วยไอเดียแต่ขาดทรัพยากร (ซึ่งผมฝันมาตั้งแต่ก่อนปี 2000) ได้เป็นความจริงขึ้นมาแล้วในวันนี้ และก็กำลังเต็มไปด้วยความคึกคัก ต้อนรับเจ้าของกิจการหน้าใหม่วัยเยาว์ทั้งหลาย

แต่ในฐานะที่ผมอยู่ในแวดวงสื่อสารมวลชนมาตั้งแต่ยุคแรกที่มีเว็บไซต์ ได้เห็นและติดตามสถานการณ์ฟองสบู่ดอตคอมแตกอย่างใกล้ชิด ขออนุญาตตั้งข้อสงสัยว่า เรากำลังย้อนกลับไปเผชิญหน้ากับสถานการณ์แบบเดิมหรือไม่?

ความจริงข้อหนึ่งที่ควรระลึกไว้ก็คือ สตาร์ทอัพส่วนใหญ่ “ล้มเหลว” และหนังสือสร้างแรงบันดาลใจส่วนใหญ่พูดแต่ข้อดี และไม่บ่อยครั้งที่จะเน้นย้ำถึงข้อควรระวัง >> ซึ่งก็คือ โลกแห่งความเป็นจริงในการดำเนินธุรกิจ

สตาร์ทอัพหลายรายสร้างแรงบันดาลใจและช่วยขับเคลื่อนธุรกิจ แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่ต่างกันเท่าไรระหว่างยุคนี้และยุคก่อนปี 2000 ก็คือ โมเดลธุรกิจที่ไม่แข็งแรง

หลายเดือนที่ผ่านมา ผมเห็นสตาร์ทอัพไทยเปิดใหม่หลายราย ก่ายหน้าผากคิดยังไงก็หาเหตุผลไม่ได้ว่า จะนำพาธุรกิจดังกล่าวให้อยู่รอดปลอดภัยไปในอนาคตได้อย่างไร อาจด้วยเพราะปัญญาที่ด้อยกว่าเด็กรุ่นใหม่ หรือหมดวัยหมดไฟ เหตุใดก็แล้วแต่

นิยามธุรกิจของผมคือบริษัทที่สร้างผลประกอบการและกำไรได้ จะในวันนี้หรือในอนาคตก็แล้วแต่ แต่ต้องแข็งแรงพอที่จะยืนหยัดให้ดำรงธุรกิจเอาไว้ มิใช่แค่ Money Game เหมือนกับที่กำลังเกิดขึ้นกับสตาร์ทอัพบางแห่ง CB Insights ได้สำรวจสตาร์ทอัพ 135 ราย และสรุปเหตุผลแห่งความล้มเหลวเอาไว้ให้ เรียงลำดับได้ดังนี้

1) มั่นใจเกินไป ไร้ตลาด ผิดเวลา ขาดโมเดลธุรกิจ

2) มองสั้น ขาดการวางแผน ใช้เงินเกินตัว และขาดเงินทุนหมุนเวียน

3) มองว่าสินค้า/บริการของตัวเองเป็นระดับเทพ อ่อนการตลาด เมินลูกค้า และโดนเทคโนโลยีใหม่แซงหน้า

4) อีโกสูง เคมีของผู้ก่อตั้งไม่ลงตัวระหว่างกัน

5) พลาดพลั้งล้มเหลวเพราะผลิตภัณฑ์ไม่ดีพอ ขาดการโฟกัส และดื้อรั้นลุยต่อทั้งที่รู้ว่าต้องล้มเหลว

Forbes ตีพิมพ์บทความฉบับหนึ่งเมื่อกลางปีที่แล้ว ระบุว่า มีสตาร์ทอัพเพียง 10% เท่านั้นที่อยู่รอด และผมเชื่อว่าตัวเลขของไทยก็คงไม่แตกต่างกัน

การทำธุรกิจให้สำเร็จ ไอเดียที่พุ่งพล่านไม่ใช่ปัจจัยหลักที่การันตีและช่วยคุ้มกันจากความล้มเหลว หากแต่ยังมีส่วนผสมอีกสารพัดที่หลายครั้งก็ยากแก่บริษัทหน้าใหม่ที่จะรับมือทั้งหมดได้ ในมุมของผมแล้ว การจะอยู่รอดหรือไม่ เราวัดกันที่ความสามารถในการแก้ปัญหาที่พบเจอ เพราะอุปสรรคเล็ก ๆ บางอย่างอาจลุกลามกลายเป็นเรื่องใหญ่จนถึงขั้นต้องปิดกิจการก็เป็นได้

บางครั้งก่อนเริ่มลงมือทำ อาจลองถามเจ้าของกิจการรอบข้างก่อนก็ได้ว่า แต่ละคนต้องผ่านอะไรมาบ้าง และเราแข็งแกร่งพอจะรับมือกับเรื่องเหล่านั้นได้หรือไม่ คิดง่าย ๆ ว่า ถ้าการเปิดธุรกิจใหม่เป็นเรื่องที่ใคร ๆ ก็ทำได้ ป่านนี้คนส่วนใหญ่รอบตัวเราคงเป็นเจ้าของธุรกิจไปเรียบร้อยแล้ว

บางคนเกิดมาเพื่อเป็นเจ้าของธุรกิจ แต่บางคนเกิดมาเพื่อเป็นนักบริหารมืออาชีพ โอกาสการเติบโตก้าวหน้าและประสบความสำเร็จในหน้าที่นั้นไม่ได้ด้อยไปกว่ากัน หันไปดูรัฐมนตรีของไทยหลายยุคหลายสมัย หลายรายเป็นนักบริหารจากหน่วยงานหรือองค์กรต่าง ๆ

ด้วยธรรมชาติและลักษณะนิสัยของแต่ละคนที่ต่างกัน ก็สร้างบทบาทหน้าที่ของคนเราให้ต่างกันไป เราไม่เคยมีสูตรสำเร็จว่าทำอย่างไรจึงจะถึงเส้นชัยได้เหมือน Facebook หรือ Google และเรื่องราวของบุคคลแบบ Steve Jobs นั้น ชั่วชีวิตนี้เราอาจได้พบเจอเพียงครั้งเดียวก็เป็นได้

บทความวันนี้มิได้ตั้งใจบั่นทอนกำลังใจของใครแต่อย่างใด เพียงแค่แว็บนึกถึงเหตุการณ์ในอดีตเมื่อยุคดอตคอมรุ่งเรืองจนถึงขีดสุด และมีความรู้สึกแค่ว่ามันกำลังจะกลับมาอีกครั้ง .. เป็นเรื่องของความรู้สึกล้วน ๆ ครับ

เรียบเรียงโดย กิตติพล อัจฉริยากรชัย

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here