ยุคดิจิทัล ทรานฟอร์เมชั่น เป็นยุคที่กำลังบีบให้บริษัทและองค์กรต่างๆ ต้องปรับตัวลองผิดลองถูกกันใหม่ทุกอย่าง ตั้งแต่การจ้างงานตำแหน่งใหม่ๆ และการเทรนนิ่งพนักงานเดิมให้มีมูลค่ามากขึ้น หรือการวางแผนโมเดลธุรกิจใหม่ แต่สร้างวิชั่นขององค์กรให้ตั้งเป้าหมายเดียว ซึ่งต้องเริ่มจากการให้การศึกษาที่มีคุณภาพมากพอ
และนั่นคือจุดเริ่มต้นที่บริษัท เอพี (ไทยแลนด์) เอไอเอส และ ธนาคารกสิกรไทย ร่วมทุ่มงบกว่า 100 ล้านบาท ร่วมกับมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดและศูนย์พัฒนาและส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตแห่งภูมิภาคอาเซียน (SEAC) เพื่อทำงานวิจัยเชิงลึกนาน 5 ปี ภายใต้ชื่อ The Stanford Thailand Research Consortium เพื่อค้นหาองค์กรแนวร่วมและศึกษาถึงแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนให้กับประเทศไทยต่อไปในอนาคต
พอล มาร์คา ผู้บริหารระดับสูง Stanford Center for Professional Development (SCPD) มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ประเทศสหรัฐอเมริกา กล่าวว่า “มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด เล็งเห็นการเปลี่ยนแปลงในอนาคตที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก เจึงได้เร่งคิดค้นกลวิธีเพื่อหาทางออกให้กับปัญหาดังกล่าว จนพบว่านวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่เป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนองค์กรต่างๆ ในแต่ละประเทศให้สามารถปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก ยุคดิสรัปชั่นได้อย่างทันท่วงที
จากการเฝ้าสังเกตสถานการณ์โลกมาอย่างยาวนาน ทำให้เราเห็นข้อเท็จจริงที่ว่า ประเทศที่เจริญก้าวหน้าอย่างรวดเร็วนั้น ส่วนใหญ่เป็นประเทศที่มีการทำวิจัยอย่างเจาะลึก เป็นจำนวนหลายหมื่นวิจัยต่อปี เพื่อวิเคราะห์ถึงต้นตอของปัญหาที่องค์กรกำลังเผชิญ หรือการคิดค้นและเร่งพัฒนาองค์กรสู่ “ความท้าทายใหม่” (Challenges) ที่กำลังเข้ามา จนเกิดเป็นนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ ประสิทธิภาพสูง พร้อมประสิทธิผลที่เป็นรูปธรรม ทำให้สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างตรงจุดและรวดเร็ว
สำหรับประเทศไทย มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดมองเห็นถึงความเป็นไปได้ในการพัฒนาและยกระดับศักยภาพของคนไทย รวมไปถึงขีดความสามารถในการแข่งขันขององค์กรไทย ล่าสุดเราได้เข้ามาเริ่มดำเนินการเพื่อศึกษาระบบต่างๆ ทั้งด้านเศรษฐศาสตร์ สังคมศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ และธรรมชาติวิทยา เป็นต้น โดยได้รับความดูแลและสนับสนุนจาก เอสอีเอซี (SEAC) ศูนย์พัฒนาและส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตแห่งภูมิภาคอาเซียน เป็นเสมือนผู้แทนและศูนย์กลางในการเชื่อมต่อความสัมพันธ์กับหน่วยงานและองค์กรต่างๆ ในประเทศไทย
โดย The Stanford Thailand Research Consortium เป็นการรวมกลุ่มทำวิจัยระดับโลกที่เจาะลึกเต็มรูปแบบแห่งแรกของประเทศไทย เกิดจากความร่วมมือครั้งสำคัญขององค์กรที่เล็งเห็นถึงโอกาสในการยกระดับศักยภาพของประเทศไทยในอนาคต ได้แก่ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ AIS บริษัท เอพี ไทยแลนด์ จำกัด (มหาชน) หรือ AP และธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ทุ่มงบประมาณกว่า 100 ล้านบาท ร่วมสนับสนุนงานวิจัย มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด โดยมี เอสอีเอซี (SEAC) ศูนย์พัฒนาและส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตแห่งภูมิภาคอาเซียนเป็นผู้ดูแลและสนับสนุนการดำเนินการหัวข้อวิจัย
โดยแบ่งเป็น 4 วัตถุประสงค์หลักที่สำคัญได้แก่ 1.การยกระดับความสามารถของคนไทยให้เท่าทันโลก 2.การนำเทคโนโลยีและความคิดสร้างสรรค์มาพัฒนาธุรกิจและเศรษฐกิจไทย 3.เสริมสร้างมาตรฐานคุณภาพชีวิตของคนไทยให้สูงขึ้นอย่างยั่งยืน 4.ส่งเสริมการพัฒนาสังคมเมืองที่คำนึงสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน
ภายใต้โครงการวิจัยและพัฒนาหลากหลายโครงการ นับได้ว่าเป็นครั้งแรกของประวัติศาสตร์โลกและประเทศไทยที่ได้ร่วมมือกับศาสตราจารย์และผู้เชี่ยวชาญระดับสูงของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดมากกว่า 20 คน จาก 9 สาขาวิชา อาทิ คณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะวิศวกรรมโยธาและสิ่งแวดล้อม คณะบริหารวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ คณะวิศวกรรมชีวเวช คณะวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ คณะบริหารธรุกิจ คณะภูมิศาสตร์ พลังงานและวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม คณะแพทยศาสตร์ และคณะจิตวิทยา ในการดำเนินการศึกษา ค้นคว้า และวิจัยเจาะลึกอย่างเต็มรูปแบบต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 5 ปี
เมื่อสำเร็จโครงการแล้ว จะนำข้อสรุปและผลสำเร็จของงานวิจัยมาต่อยอดในการพัฒนาและยกระดับมาตรฐานของประเทศไทย เพื่อนำ “คุณค่า” กลับคืนสู่ประเทศไทยในบริบทใหม่ ฟื้นฟูและผลักดันศักยภาพ “ทรัพยากรมนุษย์” เรื่ององค์ความรู้และต่อยอดความคิดสร้างสรรค์ เพื่อก้าวข้ามขีดความสามารถครั้งสำคัญขององค์กรไทยสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0 อย่างเต็มภาคภูมิ และพร้อมเข้าสู่การแข่งขันเชิงธุรกิจที่จะนำไปสู่การขยายศักยภาพและการเติบโตขององค์กรบนเวทีเศรษฐกิจระดับโลกตอ่ไปในอนาคต
ด้านนางอริญญา เถลิงศรี กรรมการผู้จัดการ SEAC กล่าวว่า “ปัจจุบัน สภาวะเศรษฐกิจทั่วโลกยังส่งผลเชิงลบอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจากบทสรุปของ “เวิลด์ อีโคโนมิก ฟอรัม” (World Economic Forum: WEF) ประจำปี พ.ศ. 2562 ประเมินสถานการณ์ตลาดแรงงานในอีก 4 ปีข้างหน้า ว่าจะมีจำนวนงานกว่า 75 ล้านตำแหน่งหายไป และจะมีตำแหน่งงานใหม่ๆ เกิดขึ้น ถึง 113 ล้านตำแหน่ง ซึ่งนับว่าเป็นการส่งสัญญาณเตือนให้ทรัพยากรมนุษย์ปรับตัวสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ โดยเฉพาะโซนพื้นที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจโลกเป็นจำนวนมาก เพราะ “คน” ในตลาดแรงงานส่วนใหญ่ยังคงทำงานในกลุ่มเกษตรกรรม
และถ้าต้องการก้าวให้ทันตามกระแสเศรษฐกิจโลก กลุ่มประเทศเหล่านี้จำเป็นต้องปรับตัวจากธุรกิจเกษตรกรรมไปสู่ธุรกิจบริการหรือนำเทคโนโลยีมาเพิ่มผลผลิตและผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ (Productivity) ให้เพิ่มมากขึ้น ซึ่งอาจทำให้ “คน” มากกว่า 28 ล้านคนใน 10 ประเทศสูญเสียตำแหน่งงานเดิมภายใน 10 ปี ดังนั้น เพื่อเป็นการป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นกับประเทศไทย หลายองค์กรและบริษัทชั้นนำต่างร่วมมือศึกษาและวิจัย เพื่อหาแนวทางในการพัฒนาทรัพยากรคนและองค์กร รวมทั้งพัฒนาขีดความสามารถทางธุรกิจเพื่อแข่งขันบนเวทีโลก”
ความร่วมมือในครั้งนี้ SEAC จะเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนและช่วยเหลือการดูแลหัวข้อวิจัยในทุกๆ ด้านตลอดระยะเวลา 5 ปี เราจึงเป็นเหมือนสะพานเชื่อมสำคัญ ระหว่าง 3 องค์กร และมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด สู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่ของประเทศชาติในภายภาคหน้า
นอกจากนั้น SEAC ยังเล็งเห็นถึงความสำคัญของการทำวิจัยโดยเฉพาะที่เป็นในระดับประเทศเช่นนี้ เพราะจากข้อมูลสถิติทั่วโลก พบว่าประเทศที่ลงทุนและให้ความสำคัญเรื่องการทำวิจัยมากเท่าไหร่ จะส่งผลโดยตรงต่ออัตราผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) สูงขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ SEAC จึงต้องการร่วมกับมหาวิทยาลัยระดับโลกอย่างสแตนฟอร์ดทำให้ The Stanford Thailand Research Consortium เกิดขึ้นมาในประเทศไทย โดยเราอยากผลักดันการทำวิจัยทั้งในส่วนที่เป็นการพัฒนาความสามารถขององค์กร และเพิ่มศักยภาพของคนไทยและประเทศไทยในระยะยาวเพื่อสร้างให้เกิดการเติบโตของประเทศอย่างยั่งยืน
ด้านนายอนุพงษ์ อัศวโภคิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ เอพี ไทยแลนด์ จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงความร่วมมือในครั้งนี้ว่า “วันนี้ถือเป็นช่วงเวลาสำคัญอย่างยิ่ง สำหรับ เอพี ไทยแลนด์ ที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการร่วมขับเคลื่อน เพื่อยกระดับศักยภาพประเทศไทย กับการก่อตั้ง “The Stanford Thailand Research Consortium” ซึ่งเป็นการทำวิจัยระดับโลกครั้งแรกของไทย ในการนำความรู้ ความสามารถ ตลอดจนทรัพยากรต่างๆ ที่มีมาช่วยพัฒนาศักยภาพประเทศไทยของเราในหลากหลายมิติ ท่ามกลางความท้าทายที่เกิดขึ้นมากมาย “คุณภาพของคน” คือ ประเด็นสำคัญที่โลกธุรกิจกำลังเผชิญอยู่
ดังนั้น ประเด็นเรื่อง การยกระดับความสามารถของคนไทยให้เท่าทันโลกนี้เองจะเป็นหัวข้อหนึ่งในงานวิจัยที่ทาง The Stanford Thailand Research Consortium จะหยิบขึ้นมาทำการศึกษา ค้นคว้า และวิจัยเจาะลึกอย่างเต็มรูปแบบ เพื่อสร้างการพัฒนาอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน สำหรับประเทศของเรา ผมเชื่อมั่นว่าด้วยการจัดตั้ง The Stanford Thailand Research Consortium ในครั้งนี้ ซึ่งมีความพร้อมในทุกๆ ด้าน ที่ได้รับการสนับสนุน อันดีจากสมาชิกในปัจจุบันและอนาคต รวมถึง องค์ความรู้ที่ประเทศไทยเราจะได้รับจากศาสตราจารย์และผู้เชี่ยวชาญระดับโลกของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิต พัฒนาศักยภาพคนไทย ตลอดจนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน นำประเทศก้าวเดินไปสู่มาตรฐานใหม่ ให้เท่าทันกับบริบทของโลกธุรกิจและสังคมที่เปลี่ยนไป”
ด้านนางสาวกานติมา เลอเลิศยุติธรรม หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านทรัพยากรบุคคล บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “ในวันนี้ คำว่า Digital Disruption ไม่ใช่เพียงกระแสที่พัดเข้ามาแล้วจากไป แต่เอไอเอส เชื่อว่า สิ่งที่ท้าทายมากไปกว่าการปรับตัวให้ทันกระแสโลกยุคดิจิตอล นั่นคือการเตรียมพร้อมให้คนไทยมีความเข้าใจ ตื่นตัว และเสริมสร้างองค์ความรู้ ตลอดจนเกิดเป็นความสามารถใหม่ (New Ability) ที่จะสามารถต่อยอดทำสิ่งใหม่ๆ โดยมีพื้นฐานจากความคิดสร้างสรรค์และการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอย่างเหมาะสม เพื่อก่อให้เกิดเป็นนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมไทยในวงกว้าง
โดยการเตรียมความพร้อมในประเทศไทยมีมิติที่หลากหลายในการพัฒนา เอไอเอสในฐานะภาคเอกชน และการเป็นคนดีของสังคมไทย มิได้ละเลยในการเร่งเป็นส่วนสำคัญของการรับมือกับกระแส Disruption ที่จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงคน และสังคมอยู่ตลอดเวลา โดยเราเชื่อมั่นว่าการเติบโตแต่เพียงผู้เดียว มิใช่การเติบโตอย่างแท้จริงและยั่งยืน พร้อมทั้งเชื่อมั่นในการสร้างสังคมเพื่อเติบโตไปพร้อมกัน ซึ่งการเข้าร่วมศึกษาวิจัยกับผู้เชี่ยวชาญระดับโลกอย่างมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด และ SEAC ในครั้งนี้ จึงถือเป็นรากฐานสำคัญที่จะช่วยยกระดับองค์ความรู้ของคนไทยได้อย่างชัดเจนมากยิ่งขึ้น ตลอดจนช่วยยกระดับสังคม และเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาวต่อไป”
นางสาวขัตติยา อินทรวิชัย กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “ธนาคารกสิกรไทยมีความมุ่งมั่นในการช่วยแก้ไขปัญหาและร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย โดยเน้นสร้างความร่วมมือกับภาครัฐและประชาสังคมเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ทั้งในมิติของเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม อาทิ โครงการรักษ์ป่าน่าน โดยร่วมขับเคลื่อนโครงการ Nan Sandbox เพื่อปฏิรูปและหาวิธีแก้ปัญหารากฐานของความถดถอยของทรัพยากรธรรมชาติของประเทศอย่างยั่งยืน พร้อมทั้งเป็นการพัฒนาเป็นต้นแบบในการแก้ปัญหากับจังหวัดอื่นๆ ในอนาคต
สำหรับโครงการ The Stanford Thailand Research Consortium ครั้งนี้ จะเป็นการทำวิจัยเพื่อยกระดับการแก้ปัญหาของประเทศไทยให้เป็นที่ตระหนักและเข้าใจมากขึ้น และด้วย DNA ของ Stanford ที่มีความแข็งแกร่งในเรื่องการพัฒนาผู้นำให้พร้อมรับมือการเปลี่ยนแปลงจะเป็นกลไกสำคัญในการสร้าง DNA ให้กับทีมงานและผู้นำในทุกภาคส่วน เพื่อพร้อมผลักดันให้สังคมไทยเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืนต่อไป และผลลัพธ์จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศทั้งในเรื่องของ “Doing Good” และ “Doing Well”