บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน จัดงานประกาศผลการตัดสินผู้ชนะเลิศโครงการแข่งขันสำหรับสตาร์ทอัพเทคโนโลยี “Spark Ignite 2021 – Thailand Start-up Competition” เพื่อสนับสนุนธุรกิจสตาร์ทอัพไทยให้เติบโตในระดับภูมิภาค พร้อมยกระดับบุคลากรที่มีทักษะด้านดิจิทัลในประเทศ ซึ่งถือเป็นพลังสำคัญในการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัล และการฟื้นตัวเศรษฐกิจในยุคหลังโควิด-19 ตามพันธกิจของหัวเว่ยที่จะส่งเสริมประเทศไทยสู่การขึ้นเป็นศูนย์กลางด้านดิจิทัลแห่งอาเซียน โดยผู้ชนะจะได้รับรางวัลเป็น HUAWEI CLOUD Credit มูลค่ากว่า 4 ล้านบาทและการสนับสนุนด้านการให้คำปรึกษา เพื่อเปิดโอกาสให้สตาร์ทอัพไทยได้เข้าร่วมโครงการ Huawei Spark Accelerator ที่ได้รับทุนจาก HUAWEI CLOUD และขุมพลังจากหัวเว่ยซึ่งเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมในระดับโลก ผลักดันสตาร์ทอัพไทยให้ก้าวเข้าสู่ตลาดโลก
นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวถึงโครงการ “Spark Ignite 2021 – Thailand Start-up Competition” ว่า “รัฐบาลไทยเตรียมเปิดตัวโครงการมากมายเพื่อผลักดันเศรษฐกิจของประเทศตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ซึ่งธุรกิจสตาร์ทอัพถือเป็นขุมพลังสำคัญสำหรับการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ ผมต้องขอขอบคุณหัวเว่ยที่ยึดมั่นในพันธกิจเรื่อง “เติบโตในประเทศไทยและสนับสนุนประเทศไทย” มาอย่างยาวนาน ในฐานะที่หัวเว่ยเป็นหนึ่งในบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำระดับโลก เชื่อว่าทรัพยากรและความรู้ด้านเทคโนโลยีระดับโลกของหัวเว่ยจะช่วยยกระดับสตาร์ทอัพ รวมถึงเร่งการเติบโตของสตาร์ทอัพให้กลายเป็นธุรกิจระดับยูนิคอร์นได้ ความร่วมมือในครั้งนี้แสดงให้เห็นถึงรูปแบบความร่วมมือที่ดีระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และพาร์ทเนอร์ในภาคอุตสาหกรรม ในการขับเคลื่อนนวัตกรรมใหม่ๆ รวมถึงสตาร์ทอัพไทยให้เข้าถึงเทคโนโลยีสู่การทำธุรกิจระดับโลกต่อไป ซึ่งโครงการนี้ทำให้ผมมั่นใจว่าประเทศไทยจะสามารถกลายเป็นศูนย์กลางดิจิทัลแห่งอาเซียน รองรับศักยภาพในการเป็นไทยแลนด์ 4.0 ได้อย่างเต็มที่”
ด้าน ผศ. ดร. ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ให้สัมภาษณ์ว่า “ดีป้าให้ความสำคัญกับการส่งเสริมและนำพาประเทศไทยสู่เศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลอย่างรอบด้าน ทั้งการพัฒนากำลังคนดิจิทัล การส่งเสริมให้เกิดการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในภาคธุรกิจ SMEs ร้านค้า โรงงาน รวมถึงชุมชน เกษตรกร และประชาชนอย่างยั่งยืน ตลอดจนการส่งเสริมและสนับสนุนกลุ่มผู้ประกอบการดิจิทัลสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีของไทยให้เติบโตอย่างเข้มแข็ง เพื่อเป็นกลไกสำคัญในการช่วยขับเคลื่อนประเทศ ผ่านการพัฒนาสินค้าและบริการดิจิทัลที่ตอบโจทย์ความต้องการของภาคธุรกิจและประชาชนทั้งในประเทศ และต่างประเทศ สำหรับความร่วมมือในโครงการ Spark Ignite 2021 – Thailand Start-up Competition จากหัวเว่ย ประเทศไทย ถือเป็นองค์ประกอบที่ช่วยผลักดันดิจิทัลสตาร์ทอัพของไทยให้เติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดด ทั้งนี้ขอแสดงความยินดีกับทีมสตาร์ทอัพไทยที่ชนะการแข่งขันครั้งนี้ โดยดีป้าเชื่อมั่นว่าผู้ที่เข้าร่วมแข่งขันจะได้รับประสบการณ์ไปปรับใช้เพื่อเป็นประโยชน์ และเพิ่มโอกาสในการเติบโตทางธุรกิจ ซึ่งต้องขอขอบคุณหัวเว่ยที่ได้ให้ความสำคัญในการเพิ่มขีดความสามารถของดิจิทัลสตาร์ทอัพไทย ให้สามารถก้าวสู่ตลาดโลกได้”
นายอาเบล เติ้ง ประธานกรรมการบริหาร บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด เน้นถึงเป้าหมายของโครงการ Spark Ignite 2021 – Thailand Start-up Competition ว่า “เป็นที่ทราบกันดีว่าสถานการณ์โควิด-19 เร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปสู่ยุคมาตรฐานใหม่ (New Normal) รวมถึงผลักดันประเทศไทยให้เข้าสู่การเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลได้รวดเร็วยิ่งขึ้น โดยนวัตกรรมและเทคโนโลยีต่างๆ เข้ามามีบทบาทในการช่วยฟื้นฟูและสร้างโอกาสใหม่ทั้งในภาคธุรกิจและภาคสังคม อีกทั้งยังช่วยเพิ่มโอกาสในการแข่งขัน ทั้งนี้ หัวเว่ยเชื่อว่าสตาร์ทอัพเป็นขุมพลังสำคัญที่กำลังเติบโตซึ่งจะทำให้เกิดโอกาสใหม่ๆ และยังช่วยขับเคลื่อนนวัตกรรม เรามั่นใจเป็นอย่างยิ่งในศักยภาพของสตาร์ทอัพที่จะสร้างโอกาสงานใหม่ๆ รวมทั้งอัดฉีดพลังงานใหม่ให้แก่ประเทศ เพื่อรองรับการฟื้นตัวของภาคเศรษฐกิจในยุคหลังโควิด-19 หัวเว่ยต้องขอขอบคุณภาครัฐและพาร์ทเนอร์ภาคเอกชนต่างๆ ได้แก่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) กสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป (KBTG) ทัสพาร์ค ดับบลิวเอชเอ (TusPark WHA) และบริษัท แสนรู้ จำกัด ที่ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดีตั้งแต่วันแรกในการรับสมัครสตาร์ทอัพจากทั่วประเทศ การสนับสนุนของรางวัล จนถึงร่วมให้เกียรติเป็นคณะกรรมการตัดสินในรอบชิงชนะเลิศนี้ ซึ่งทุกท่านต่างมีส่วนทำให้เกิดเวทีที่ส่งเสริมการแสดงศักยภาพของสตาร์ทอัพไทยในครั้งนี้”
เขายังกล่าวเพิ่มเติมว่า “โครงการนี้แสดงให้เห็นถึงรูปแบบของความร่วมมือที่ดีระหว่างหัวเว่ยและพาร์ทเนอร์ ซึ่งจะเปิดประตูสู่การแบ่งปันองค์ความรู้และกรณีศึกษาต่าง ๆ ก่อให้เกิดไอเดียใหม่ และร่วมกันสนับสนุนในด้านต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ นอกจากนี้ ด้วยเทคโนโลยีชั้นนำและทรัพยากรจากอีโคซิสเต็มของหัวเว่ย สตาร์ทอัพในประเทศไทยจะได้รับโอกาสทางธุรกิจมากขึ้นและยังเสริมศักยภาพของตัวเองไปสู่การแข่งขันระดับนานาชาติได้ โครงการนี้ยังช่วยผลักดันให้เกิดการเติบโตด้านเศรษฐกิจดิจิทัลและนโยบายไทยแลนด์ 4.0 รวมถึงสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยี ICT ในประเทศไทยผ่านบรรดาพาร์ทเนอร์เพื่อสร้างอีโคซิสเต็มด้านดิจิทัล เราหวังว่าโครงการนี้จะเป็นการประกวดสตาร์ทอัพที่ยิ่งใหญ่และมีอิทธิพลมากที่สุดในประเทศไทย และจะมีบทบาทสำคัญต่อการผลักดันเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อช่วยให้ประเทศไทยก้าวขึ้นเป็นศูนย์กลางดิจิทัลแห่งอาเซียน”
นายอาเบล เติ้ง ให้ข้อมูลเสริมว่าโครงการ “Spark Ignite 2021 – Thailand Start-up Competition” เริ่มต้นขึ้นเมื่อเดือนพฤษภาคม 2564 ที่ผ่านมา ซึ่งมีผู้เข้าแข่งขันรวมกว่า 132 ทีมจากหลากหลายภาคอุตสาหกรรมในประเทศไทย ไม่ว่า จะเป็นภาคอุตสาหกรรมการเงินและการประกันภัย สาธารณสุข การศึกษา โทรคมนาคม อีคอมเมิร์ซ อินเทอร์เน็ต สื่อและเกม ที่ประยุกต์ใช้งานเทคโนโลยีประเภท 5G โซลูชัน Enterprise Intelligent (EI) ระบบการเรียนรู้ และการวิเคราะห์ของอุปกรณ์ อินเทอร์เน็ตทุกสรรพสิ่ง (IoT) การประมวลผลคอมพิวเตอร์แบบ Edge (Edge computing) และบริการ แอปพลิเคชันที่พร้อมใช้งาน (Software as a Service / SaaS) นอกจากนี้ ผู้เข้าร่วมแข่งขันโครงการ Spark Ignite 2021 – Thailand Start-up Competition จะได้เข้าร่วมโปรแกรม Huawei Spark Accelerator ซึ่งเป็นโครงการให้คำปรึกษาและสนับสนุนสตาร์ทอัพระดับโลกในการช่วยค้นหาพาร์ทเนอร์ทางธุรกิจเพื่อการก้าวเข้าสู่ตลาดโลก
“สำหรับหัวเว่ย เรามองว่านวัตกรรมไม่เคยหยุดยั้ง เช่นเดียวกับความมุ่งมั่นของหัวเว่ยในการสนับสนุนอีโคซิสเต็มด้านดิจิทัลของประเทศไทย หัวเว่ยเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่าหัวใจสำคัญที่ช่วยผลักดันการพัฒนาด้านดิจิทัลอย่างยั่งยืนขึ้นอยู่กับการเพิ่มทักษะให้แก่บุคลากร และอีโคซิสเต็มของเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพที่สมบูรณ์ ในฐานะที่หัวเว่ยเป็นพาร์ทเนอร์ ICT ชั้นนำในด้านการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัลและเป็นผู้ให้การสนับสนุนคุณค่าทางสังคมในประเทศไทยมานานกว่า 22 ปี ผมขอย้ำ อีกครั้งว่าเรายังคงมุ่งมั่นในพันธกิจเติบโตในประเทศไทย สนับสนุนประเทศไทย และนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้าหาทุกผู้คน ทุกครัวเรือน และทุกองค์กร เพื่อทำให้ประเทศไทยเชื่อมต่อถึงกันอย่างทั่วถึงและอัจฉริยะ” เขากล่าวปิดท้าย
สำหรับคณะกรรมการที่ให้เกียรติเข้าร่วมการตัดสินรอบชิงชนะเลิศในครั้งนี้ประกอบด้วย ดร.ชินาวุธ ชินะประยูร ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า, นายปริวรรต วงษ์สำราญ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาผู้ประกอบการนวัตกรรม สำนักงานนวัตกรรรมแห่งชาติ (NIA), ดร.มนต์ชัย เลิศสุทธิวงศ์ นักวิจัยและวิศวกร บริษัท กสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป (KBTG), นายไพศาล เจียรอุทัยธำรงค์ ผู้จัดการด้านการส่งเสริมและสนับสนุน ทัสพาร์ค ดับบลิวเอชเอ (TusPark WHA), นายอุดมศักดิ์ ดอนขำไพร ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคโนโลยี บริษัท แสนรู้ จำกัด, นายลีโอ เจียง ประธานบริหารด้านดิจิทัล หัวเว่ย คลาวด์ ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค, ดร.ชวพล จริยาวิโรจน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด และนายสุรศักดิ์ วนิชเวทย์พิบูล หัวหน้าเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคโนโลยี แผนกธุรกิจคลาวด์ บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด ทั้งนี้ คณะกรรมการได้ทำการคัดเลือกสองรอบเพื่อค้นหา 10 ทีมสุดท้ายสู่รอบชิงชนะเลิศนี้ โดยตัดสินผลงานของสตาร์ทอัพแต่ละทีมจากปัจจัยด้านโอกาสในการทำตลาด รูปแบบบริการและธุรกิจ จุดขาย โอกาสทางธุรกิจ รวมไปถึงความแข็งแกร่งของทีมผู้เข้าแข่งขัน
ทั้งนี้ ทีมชนะเลิศอันดับ 1 จะได้รับ HUAWEI CLOUD Credit คิดเป็นมูลค่ากว่า 125,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 4,000,000 บาท รวมถึงสิทธิ์ในการเข้าร่วมโครงการ Huawei Spark โครงการ Huawei Spark Fire และโครงการ Spark Go ในประเทศจีน ส่วนทีมผู้ชนะอันดับ 2 และ 3 จะได้รับ HUAWEI CLOUD Credit มูลค่า 80,000 ดอลลาร์สหรัฐ และสามารถเข้าร่วมโครงการ Spark Go ทีมผู้ชนะอันดับ 4 และ 5 จะได้รับ HUAWEI CLOUD Credit มูลค่า 20,000 ดอลลาร์สหรัฐ ทีมผู้ชนะอันดับ 6 ถึง 10 จะได้รับ HUAWEI CLOUD Credit มูลค่า 5,000 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งทีมที่ชนะการแข่งขัน 3 อันดับแรกยังสามารถเข้าร่วมโครงการ Huawei Spark Accelerator program ที่มีเป้าหมายเพื่อบ่มเพาะและช่วยยกระดับการเติบโตของธุรกิจสตาร์ทอัพเทคโนโลยี เพื่อสร้างอีโคซิสเต็มด้านดิจิทัล โดยหัวเว่ยได้รับความร่วมมือจากผู้นำด้านเทคโนโลยีระดับโลก ผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมต่างๆ ด้านการให้คำแนะนำและคำปรึกษาแก่สตาร์ทอัพไทย เพื่อให้สามารถเข้าถึงแพลตฟอร์มในระดับโลก รวมถึงเพิ่มโอกาสในการสร้างเครือข่ายของพาร์ทเนอร์เพื่อประโยชน์ทางธุรกิจ การขยายเครือข่าย การประชาสัมพันธ์ให้แก่สินค้าและบริการของสตาร์ทอัพไทย รวมไปถึงการให้คำแนะนำด้านเงินทุน การสนับสนุนโซลูชัน และ HUAWEI CLOUD Credit เพื่อช่วยส่งเสริมให้สตาร์ทอัพไทยพัฒนาสินค้าและบริการของตนเองได้
โครงการ Spark Ignite 2021 – Thailand Start-up Competition นับเป็นอีกหนึ่งความมุ่งมั่นของหัวเว่ยในการสนับสนุนนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ผ่านการบ่มเพาะทักษะดิจิทัลให้แก่บุคลากรไทย โดยในปี พ.ศ. 2562 หัวเว่ยได้ลงทุนจำนวน 180 ล้านบาท เพื่อเปิดตัวศูนย์ Huawei ASEAN academy ซึ่งได้จัดฝึกอบรมบุคลากรไปแล้วกว่า 16,500 คน เพื่อช่วยให้ เอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพมีความเข้าใจในเทคโนโลยีมากขึ้น และนำมาประยุกต์ใช้กับแผนธุรกิจได้ ทั้งนี้ หัวเว่ยยังตั้งเป้าฝึกอบรมบุคลากรด้านไอทีให้ได้รับทักษะในระดับโลกเป็นจำนวน 100,000 คน ภายในเวลา 5 ปี