[ไม่ย่อท้อ] ย้อนกลับไปในปี 2015 ญี่ปุ่นประสบความสำเร็จในการส่งพลังงานไฟฟ้า 1.8 กิโลวัตต์แบบไร้สาย จากตัวรับที่อยู่ห่างออกไป 55 เมตร นับเป็นก้าวแรกของการรับส่งพลังงานแสงอาทิตย์จากอวกาศ ที่เชื่อว่าเป็นแหล่งพลังงานอันมหาศาล ซึ่งมนุษย์ยังไม่สามารถเอื้อมถึงในตอนนี้
ล่าสุดทาง Nikkei รายงานว่า ญี่ปุ่นร่วมกับ JAXA หน่วยงานบริหารด้านอวกาศของประเทศ เตรียมพัฒนา Space Solar Power Systems หรือ SSPS โครงการรับส่งพลังงานแสงอาทิตย์จากอวกาศ โดยจะพยายามให้เสร็จเร็วที่สุด (จนพอเห็นเป็นรูปเป็นร่าง) ภายในปี 2025 นี้
โครงการดังกล่าวนำโดย Naoki Shinohara (นาโอกิ ชิโนฮาระ) ศาสตราจารย์ประจำมหาวิทยาลัยเกียวโต ซึ่งเป็นผู้ที่เคยวิจัยในด้านนี้มาตั้งแต่ปี 2009 แล้ว
จุดมุ่งหมายของโครงการนี้คือ [การทำฟาร์มสุริยะ] ที่จะเป็นเหมือนดาวเทียมติดแผงโซล่าเซลล์ขนาดใหญ่ ซึ่งจะโคจรอยู่รอบโลก คอยรวบรวมและควบคุมการจ่ายพลังงานแสงอาทิตย์ในอวกาศอย่างต่อเนื่อง หลังได้รับพลังงานตามที่ต้องการแล้ว ก็จะทำการแปลงเป็นแสงไมโครเวฟ ฉายกลับมายังตัวรับ หรือสถานีรับสัญญาณภาคพื้นดินในโลก จากนั้นก็แปลงเป็นพลังงานไฟฟ้าให้ใช้งานกันต่อไป
แนวคิดการใช้แผงโซล่าเซลล์แบบวงโคจรนี้ เคยได้รับการเสนอมาตั้งแต่ปี 1968 แล้ว หลังจากนั้นก็มีเพียงไม่กี่ประเทศอย่าง จีน และ สหรัฐฯ ที่ลองพัฒนาแนวคิดดังกล่าว ซึ่งแน่นอนว่าหากสำเร็จ ก็จะได้แหล่งพลังงานหมุนเวียนที่ไม่จำกัดในอวกาศ แต่ก็ต้องแลกกับงบประมาณที่มหาศาล และปัจุบันยังมีความเป็นไปได้น้อยมาก ๆ เสมือนยังเป็นเพียงนิยายวิทยาศาสตร์
อนึ่งการผลิตแผงโซล่าเซลล์ ระดับที่สามารถสร้างพลังงานได้ 1 กิกะวัตต์ หรือประมาณเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์หนึ่งเครื่อง ด้วยเทคโนโลยีที่มีอยู่ในปัจจุบันนั้น ก็อาจต้องใช้งบประมาณ 7 พันล้านดอลลาร์ฯ กันเลย
ที่มา : Engadget