ออกตัวก่อนว่าผมเองไม่ได้เป็นแฟนคลับ Sony แต่อย่างใด รีวิวนี้เกิดขึ้นจากความรู้สึกและประสบการณ์ที่เกิดขึ้นจากการลองใช้ Sony Xperia XZs มาเกือบสองสัปดาห์ ส่วนตัวผมมองว่าสมาร์ทโฟน Sony ค่อนข้างมีแนวทางเป็นของตัวเอง หรือพูดง่ายๆ ว่าออกแนว “อินดี้” นั่นเอง หากผู้อ่านลองสำรวจสมาร์ทโฟน Sony ตามร้านขายมือถือ จะพบว่าดีไซน์แทบไม่แตกต่างกันเท่าไหร่ แต่สิ่งที่ Sony พยายามนำเสนอให้ผู้คนรับรู้ ไม่ได้เน้นเรื่องดีไซน์เพียงอย่างเดียว แต่เป็น “ของดี” ที่อยู่ภายใน
Sony Xperia XZs สเปกมีดังนี้
– สัดส่วนตัวเครื่อง 146 mm x 72 mm x 8.1 mm น้ำหนัก 161 กรัม
– หน้าจอขนาด 5.2 นิ้ว ความละเอียด Full HD มาพร้อมเทคโนโลยี TRILUMINOS และ X-Reality ครอบด้วยกระจก Corning Gorilla
– ใช้งานได้ 2 ซิม ประเภท NANO SIM
– ระบบปฏิบัติการ Android 7.1.1 Nougat
– ชิปประมวลผล Qualcomm Snapdragon 820
– แรม 4GB หน่วยความจำภายใน 64GB eMMC เพิ่ม microSD Card สูงสุด 256GB
– กันน้ำได้ด้วยมาตรฐาน IP65 / IP68
– กล้องหลังความละเอียด 19 ล้านพิกเซล เลนส์ G, รูรับแสง f/2.0เซนเซอร์ Exmor RS, ระบบประมวลผลภาพ BIONZ มาพร้อมเทคโนโลยี Motion Eye, SteadyShot ระบบกันสั่นแบบ 5 แกน, ถ่ายวีดีโอ 4K ได้
– กล้องหน้าความละเอียด 13 ล้านพิกเซล เซนเซอร์ Exmor RS, รูรับแสง f/2.0
– เซนเซอร์สแกนลายนิ้วมือที่ปุ่มพาวเวอร์ด้านข้าง
– การเชื่อมต่อ : พอร์ต USB Type-C, มีระบบ Bluetooth 4.2, NFC, WiFi Miracast
– ระบบเสียง Hi-res Audio (LPCM, FLAC, ALAC, DSD) และ Clear Audio+ ลำโพงสเตอริโอ
– แบตเตอรี่ 2900 mAh มาพร้อม Qnovo Adaptive Charging และ Qualcomm Quick Charge 3.0
– มี 3 สีให้เลือก ได้แก่ สีฟ้า, สีเงิน และสีดำ
– ราคา 21,990 บาท
ดีไซน์
ลักษณะของ Xperia XZs ยังคงเอกลักษณะด้วยทรงสี่เหลี่ยมเน้นๆ มุมทั้งสี่โค้งมน หรือศัพท์ภาษาอังกฤษเรียกว่า “Loop Surface”ตัวเครื่องใช้โลหะที่บริสุทธิ์สูงที่เรียกว่า “ALKALEIDO” เปล่งประกายความเงางาม ไม่ลื่นมือ สามารถหยิบถือได้กระชับ ซึ่งส่วนหนึ่งต้องยกความดีความชอบให้กับขนาดหน้าจอ 5.2 นิ้วด้วย ที่ให้ความกะทัดรัด เป็นมิตรกับผู้ใช้
ด้านหน้า หน้าจอขนาด 5.2 นิ้ว ความละเอียด Full HD ยังมีเทคโนโลยี TRILUMINOS และ X-Reality ที่ช่วยให้การแสดงผลคมชัด นอกจากนี้ยังครอบด้วยกระจก Corning Gorilla, ลำโพงสเตอริโอถูกวางในตำแหน่งบนและล่าง เพื่อประสิทธิภาพในการฟังเสียง ครบทุกรายละเอียด แต่ความดังอยู่ในระดับกลางๆ เท่านั้น, บริเวณมุมบนซ้ายด้านหน้าเป็นตำแหน่ง NFC สำหรับการรับส่งข้อมูลด้วยสัญญาณที่มีความเสถียร
ด้านหลัง กล้องหลังที่เห็นภายในนั้นผสานไปด้วยเทคโนโลยี Motion Eye ถัดลงมาจะเป็นเซ็นเซอร์อัจฉริยะ อาทิ Predictive Hybrid Autofocus, Laser Focus และแฟลช LED
ด้านบน เป็นช่องหูฟัง 3.5 mm และไมโครโฟนจิ๋วสำหรับตัดเสียงรบกวนรอบข้าง
ด้านล่าง เป็นพอร์ต USB Type-C และไมโครโฟนจิ๋วตัวที่สอง
ด้านซ้าย เป็นสล็อตสำหรับใส่ซิมการ์ด รองรับประเภท NANO ได้ 2 ซิม และเป็นประเภท Hybrid เพิ่ม microSD Card ได้ นั่นหมายถึงว่า ต้องเลือกระหว่างใช้ซิมเดียวแล้วเพิ่ม microSD หรือจะเลือกใช้ 2 ซิมพร้อมกันอย่างเดียว
ด้านขวา ประกอบไปด้วยปุ่มพาวเวอร์และสแกนลายนิ้วมือได้ในตัว, ปุ่มเพิ่ม-ลดเสียง และปุ่มชัตเตอร์ สำหรับถ่ายภาพในแนวนอน
ภาพรวมภายนอกของ Xperia XZs จะใกล้เคียงกับ Xperia XZ พอสมควร แต่จุดสังเกตอย่างหนึ่งในรุ่น XZs กล้องหลังจะนูนขึ้นมาเล็กน้อย และสำหรับสีฟ้า (Ice Blue) ตัวที่ผมรีวิวนี้ เป็นอีกหนึ่งสีที่มีความโดดเด่น เปล่งประกายความสวยงาม
ซอฟต์แวร์
ภายใต้ระบบปฏิบัติการ Android 7.1.1 Nougat ยังมาพร้อม User Interface (UI) ใช้ธีม Xperia ในสไตล์ Sony ครอบทับ แต่ยังคงไว้ด้วยรูปแบบของ Material design
หน้าล็อคสกรีน สไลด์จอไปด้านข้างเพื่อเข้าถึงหน้าโฮม เมื่อเข้าในหน้าโฮม สไลด์จอด้านซ้ายจะเข้าถึง Google Now มีหน้ารวมแอพ (App Drawer) มาให้เหมือนเคย อื่นๆ เช่น แตะจอค้างเพื่อเรียกวิตเจ็ต, การเรียกแถบแจ้งเตือนและเมนูลัดจากด้านบน ยังเป็นรูปแบบเดิมในสไตล์ Sony ที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงเพิ่มเติม
ธีมของ Sony Xperia มีให้เลือกหลายสไตล์ พร้อมกันนี้ยังสามารถปรับคุณภาพของการแสดงผลได้
กรณีแบตเตอรี่ใกล้หมด ใน Xperia XZs ยังมีโหมด STAMINA และ Ultra STAMINA ตัวช่วยในการยืดชั่วโมงการใช้งานให้นานขึ้น และยังมีโหมด “แบตเตอรี่แคร์” ตัวควบคุมการชาร์จแบตเตอรี่
แป้นพิมพ์ SwiftKey มีให้เลือกปรับแต่งได้หลายแบบ
กล้อง
ตามสเปกของ Xperia XZs บอกเราว่า กล้องหลังเป็นการผสมผสานเทคโนโลยีที่เรียกว่า Motion Eye มีคุณสมบัติตรวจจับการเคลื่อนไหวได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นกว่า Xperia XZ และลดความละเอียดลงมาเหลือเพียง 19 ล้านพิกเซล
ฟีเจอร์สำคัญภายในกล้องหลัง Xperia XZs ยังคงมาพร้อม Predictive Hybrid Autofocus หรือระบบโฟกัสตามวัตถุ ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้ววัตถุที่เราโฟกัส ฟีเจอร์จะทำงานได้ดี มีบางครั้งที่ไม่สามารถแยกวัตถุที่มีสีใกล้เคียงกัน ทำให้เกิดการโฟกัสพลาด แต่ก็ถือว่าไม่ใช่เรื่องที่ต้องกังวลเท่าใดครับ
อีกหนึ่งฟีเจอร์ล่าสุดที่มีมาให้ใน Xperia XZs เรียกว่า “Predictive Capture” ที่จะจดจำวัตถุที่กำลังเคลื่อนไหว และบันทึกภาพวัตถุนั้นไว้ล่วงหน้าก่อน 3 ช็อต ก่อนที่เราจะกดชัตเตอร์ ซึ่งหลังจากกดชัตเตอร์ให้แล้ว ระบบจะคัดกรองภาพออกมาเป็น 4 ช็อต เพื่อให้เราเลือกภาพที่ดีที่สุด เป็นอีกหนึ่งวิธีที่ทำให้เราไม่พลาดช็อตสำคัญนั่นเอง ซึ่งฟีเจอร์นี้จะเปิดใช้งานอัตโนมัติ ทันทีที่เรายกกล้องขึ้นมาเพื่อถ่ายภาพเคลื่อนไหว และจะปิดไม่ทำงานก็ต่อเมื่อถ่ายภาพนิ่ง
การเลือกโหมดถ่ายภาพ ไม่ว่าจะเป็น Manual, ถ่ายวีดีโอ หรือเลือกโหมดอื่นๆ ใช้การสไลด์ไปด้านข้างบนจอได้ทันที ซึ่งนับว่าง่ายดายทีเดียว ขณะที่จุดเปิด-ปิดแฟลช, การตั้งค่า และการสลับกล้องหน้า-กล้องหลัง มีไอคอนแสดงไว้ชัดเจน
ในส่วนโหมด Manual จะมีตัวเลือกในการปรับแต่งเองอยู่ไม่เยอะ ได้แก่ การปรับโฟกัส จากเมนูนี้เราสามารถระยะโฟกัสเพื่อการถ่ายภาพแบบหน้าชัดหลังเบลอได้เล็กน้อย และยังมีเมนูเลือก White Balance, ค่าชดเชยแสง (EV) และสปีดชัตเตอร์ (SS)
โหมดถ่ายวีดีโอ หากเลือกแบบปกติเราสามารถเข้าไปที่การตั้งค่าจากแอพกล้องเพื่อกำหนดความละเอียดได้ ซึ่งความละเอียดจะมีทั้งแบบ Full HD (30fps), Full HD (60fps) รองลงมาก็จะเป็นแบบ HD และ VGA สำหรับถ่ายวีดีโอที่ความละเอียด 4K ต้องสไลด์มาที่โหมดแอพอื่นๆ เพื่อเลือกใช้ โดยโหมดถ่ายวีดีโอ 4K เรายังสามารถปรับ White Balance, เลือกประเภทไฟล์ที่บันทึก (มี H.264 กับ H/265) และเปิดระบบกันสั่น SteadyShot ได้
ตัวอย่างภาพถ่าย
Super Slow Motion 960fps
ยกให้เป็นเป็นฟีเจอร์เด็ดที่สุดใน Xperia XZs เลยครับ เพราะปกติแล้วการถ่ายภาพช้าในระดับ Super ส่วนตัวผมมักจะเคยเห็นการแข่งขันฟุตบอลที่ถ่ายทอดสดทางทีวี ซึ่งเทคโนโลยีในลักษณะที่คล้ายกันนี้ได้ถูกนำมาใช้ร่วมกับสมาร์ทโฟน Xperia XZs ด้วยแล้ว นับเป็นการสร้างจุดเด่นที่น่าสนใจยิ่งนักสำหรับสมาร์ทโฟนรุ่นนี้ มีความละเอียดสูงถึง 960 เฟรมต่อวินาที เรียกได้ว่าเป็นสมาร์ทโฟนเครื่องแรกของโลกที่สามารถบันทึกวีดีโอในแบบ Super Slow Motion ได้
การบันทึกวีดีโอ Super Slow Motion ใช้งานง่าย เพียงเปิดกล้องและเลื่อนไปที่โหมดวีดีโอ เมื่อเข้ามาแล้วจะมีปุ่มบันทึกวีดีโอ Super Slow Motion อยู่ข้างปุ่มบันทึกวีดีโอปกติ เรียกได้ว่าไม่ต้องไปเข้าเมนูการตั้งค่าอื่นๆ ให้ยุ่งยาก โดยภายในโหมด Super Slow Motion ยังสามารถกำหนดได้เองอีกว่าจะเลือกกำหนดช็อต Super Slow Motion เอง หรือกำหนดให้เป็น Super Slow Motion ตั้งแต่บันทึกในครั้งแรก
หากพร้อมแล้วให้เรากดบันทึกปุ่มบันทึกวีดีโอ 1 ครั้ง เมื่อต้องการให้ช็อตต่อไปเป็น Super Slow Motion ให้กดที่ปุ่มบันทึกวีดีโออีกครั้งหนึ่ง ซึ่งหลังจากนี้ตัวกล้องจะทำการบันทึกช็อตที่เราต้องการให้เป็น Super Slow Motion แล้ว และเรายังสามารถบันทึกภาพ Super Slow Motion ช็อตอื่นๆ แบบต่อเนื่องได้อีกด้วย
ตัวอย่างการใช้วีดีโอ Super Slow Motion
ตัวอย่างวีดีโอ Super Slow Motion
แต่สำหรับการถ่ายวีดีโอ Super Slow Motion 960fps ภาพในขณะที่เรากำลังจะถ่ายจะถูกย่อให้เหลือเพียงวัตถุที่เราต้องการถ่าย ขณะเดียวกันข้อจำกัดของการถ่ายวีดีโอ Super Slow Motion 960fps ไม่เหมาะอย่างยิ่งในการถ่ายในสถานที่ที่มีแสงน้อย เพราะภาพที่ปรากฏบนหน้าจอจะมีลักษณะกระพริบอยู่ตลอด และมีจุดบนภาพเต็มไปหมดซึ่งสังเกตได้ทันทีที่เราเปิด Super Slow Motion 960fps แม้เราจะยังไม่ลงมือถ่าย
บทสรุปรีวิว Sony Xperia XZs
ก็ต้องพูดกับตามจริงละครับว่า ดีไซน์ของ Xperia XZs ยังใกล้เคียงมากกับ Xperia XZ การมีสีฟ้า (Ice Blue) อาจไม่ได้ช่วยดึงดูดให้ผู้ใช้ Xperia XZ หรือ Xperia รุ่นอื่นๆ ให้เปลี่ยนมาใช้รุ่นล่าสุดมากเท่าใดนัก
แรมที่ให้มา 4GB ก็ถือว่าเทียบเท่ากับสมาร์ทโฟน Android เรือธงหลายๆ รุ่น เพียงพอต่อการใช้งานส่วนใหญ่ได้แบบสบายๆ แต่ชิปประมวลผล Qualcomm Snapdragon 820 ยังเป็นแบบเดียวกับที่ใช้ใน Xperia XZ ซึ่งอาจดูด้อยลงไปเล็กน้อยเมื่อต้องไปเปรีนบเทียบสมาร์ทโฟน Android เรือธงบางรุ่นที่หันไปใช้ Qualcomm Snapdragon 821 บ้างแล้ว
ส่วนเรื่องกล้องปฏิเสธไม่ได้ครับว่าของ Sony เขาดีจริง ! ดีต่อเนื่องและพัฒนาขึ้นมาเรื่อยๆ การเพิ่มเทคโนโลยี Motion Eye ช่วยให้การถ่ายภาพเคลื่อนไหวมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น รวมไปถึงการมี Predictive Capture เป็นฟีเจอร์ที่ที่ทำให้เราไม่พลาดช็อตสำคัญ แถมไม่ต้องสนใจว่าจะต้องเปิด-ปิดตรงไหน เพราะฟีเจอร์นี้จัดการให้อัตโนมัติ
สำหรับ Super Slow Motion 960fps ส่วนตัวผมมองว่าเป็นเพียงกิมมิคเล็กๆ ที่ช่วยเพิ่มความน่าสนใจให้กับการถ่ายวีดีโอ เนื่องจากในชีวิตประจำวันเราอาจจะใช้จริงน้อยกว่าการถ่ายภาพนิ่ง หรือการถ่ายวีดีโอ 4K ซะอีก นอกจากนี้การใช้งานต้องอาศัยระยะเวลาเล็กน้อยในการจับจังหวะเพื่อให้ได้ช็อต Super Slow Motion ที่ดูเหมาะเจาะ และข้อจำกัดอย่างที่บอกไปครับ ไม่เหมาะเลยกับการถ่าย Super Slow Motion 960fps ในที่แสงน้อย
ทั้งนี้ ราคา 21,990 บาท ว่ากันตามจริงก็แพงพอสมควร หากจะมองข้ามแล้วรอรุ่น Xperia XZ Premium หรือจะเปลี่ยนใจไปหารุ่นอื่นที่ถูกกว่าก็แล้วแต่วิจารณาณของแต่ละคนครับ
ข้อดี
– ดีไซน์สวยงาม น่าจับต้อง
– หน้าจอให้ความคมชัด
– การทำงานระหว่างซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์ ผสมผสานกันได้ลงตัว ลื่นไหลดีเมื่อใช้งานเป็นเวลานานต่อเนื่อง
– กล้องถ่ายภาพให้ความคมชัด ไม่ว่าจะภาพนิ่งหรือเคลื่อนไหว มีระบบกันสั่นเพื่อช่วยในการถ่ายวีดีโอ 4K
– แบตเตอรี่สอบผ่าน ใช้งานแบบเต็มที่ผ่าน 1 วันได้สบาย
ข้อจำกัด
– Super Slow Motion เป็นกิมมิคเล็กๆ ที่ใช้งานได้ดีในที่ที่มีแสงสว่างมากพอ หากเป็นที่แสงน้อยถือว่าทำได้ไม่ดี
– ราคาที่ค่อนข้างแพง