นักวิทยาศาสตร์เกาหลีใต้ พัฒนาเทคโนโลยีโซลาร์เซลล์แบบใหม่ ที่สามารถดักจับพลังงานแสงอาทิตย์ทั้งที่มองเห็นและมองไม่เห็นได้ ซึ่งอาจปฏิวัติวงการพลังงานแสงอาทิตย์ไปอย่างสิ้นเชิง
นวัตกรรมนี้เกิดจากการผสมผสานวัสดุสองชนิดคือ เพอรอฟสไกต์และสารกึ่งตัวนำอินทรีย์เข้าด้วยกัน เพื่อสร้างโซลาร์เซลล์ไฮบริด ที่สามารถดักจับรังสีอินฟราเรดใกล้ โดยเป็นพลังงานแสงอาทิตย์ที่มองไม่เห็นและมีสัดส่วนมากกว่าครึ่งหนึ่งของพลังงานทั้งหมดที่ดวงอาทิตย์ปล่อยออกมา ซึ่งโซลาร์เซลล์แบบเดิมไม่สามารถดักจับพลังงานส่วนนี้ได้
เซลล์แสงอาทิตย์แบบใหม่นี้ สามารถรักษาประสิทธิภาพการทำงานได้มากกว่า 80% เป็นเวลานานกว่า 800 ชั่วโมง แม้ในสภาพแวดล้อมที่มีความชื้นสูง เปรียบเสมือนนักวิ่งมาราธอนที่สามารถรักษาความเร็วได้ แม้จะวิ่งฝ่าสายฝน
นอกจากนี้ นักวิทยาศาสตร์ยังได้เพิ่มชั้นไดโพล ซึ่งทำหน้าที่เหมือนผู้กำกับการจราจรในระดับจุลภาค ช่วยให้เซลล์สามารถประมวลผลพลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเซลล์นี้มีประสิทธิภาพภายในสูงถึง 78% ในการดักจับแสงอินฟราเรดใกล้ โดยเซลล์ไฮบริดนี้ สามารถแปลงพลังงานไฟฟ้าเพิ่มขึ้นเป็น 24% (จากเดิม 20.4%)เปรียบเสมือนการอัพเกรดเครื่องยนต์จาก 4 สูบเป็น 6 สูบโดยใช้เชื้อเพลิงในปริมาณเท่าเดิม
นวัตกรรมนี้อาจเปลี่ยนแปลงการใช้พลังงานไปอย่างสิ้นเชิง โซลาร์เซลล์ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น หมายถึงการผลิตพลังงานได้มากขึ้นจากแสงแดดในปริมาณเท่าเดิม ช่วยลดค่าไฟฟ้า และคืนทุนได้เร็วขึ้น นอกจากนี้การทำงานที่ดีขึ้นในสภาพแวดล้อมที่มีความชื้น ทำให้สามารถใช้งานโซลาร์เซลล์นี้ได้ในหลายพื้นที่มากขึ้น
แม้ว่าเทคโนโลยีนี้จะยังอยู่ในขั้นตอนการวิจัย แต่ก็นับเป็นก้าวสำคัญ ในการทำให้พลังงานแสงอาทิตย์เข้าถึงได้ง่ายขึ้นและมีราคาถูกลง ซึ่งคาดว่าโซลาร์เซลล์แบบใหม่นี้จะเข้าสู่ตลาดในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าและจะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการประหยัดค่าใช้จ่ายและสร้างอนาคตที่สะอาดขึ้น
ที่มา
thecooldown