รายงานของคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการสื่สารมวลชน สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ หรือสปท. เสนอแนวทางปฏิรูปโซเชียลมีเดีย พร้อมส่งต่อครม. ให้พิจารณาต่อไป
รายงานฉบับดังกล่าวระบุถึงปัญหาที่เกิดขึ้นจากโซเชียลมีเดีย ก่อให้เกิดสภาพ “สังคมก้มหน้า” ผู้ใช้สื่อขาดความรู้เท่าทันสื่อ ขาดความรู้ความเข้าใจในการใช้สิทธิเสรีภาพการสื่อสารบนพื้นฐานของความรับผิดชอบต่อสังคม หรือขาดมาตรฐานจริยธรรมในการใช้สื่อออนไลน์ และขาดประสิทธิภาพในการกำกับดูแลจากผู้ที่เกี่ยวข้อง จนส่งผลกระทบต่อสังคม การเมือง เศรษฐกิจ และสถาบันหลักของประเทศ จึงจำเป็นต้องมีการปฏิรูปในเรื่องนี้เป็นวาระเร่งด่วน
ด้วยความวิตกกังวล ความเป็นห่วงเป็นใย และความหวังดี ….. ฯลฯ ? สปท. จึงเสนอแนวทางปฏิรูปโซเชียลมีเดียออกเป็น 2 ระยะ ได้แก่ ระยะเร่งด่วน และระยะยาวตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี
ในการปฏิรูปในระยะเร่งด่วน จะแบ่งออกเป็น
– การเพิ่มมาตรการจัดระเบียบการลงทะเบียนโทรศัพท์มือถือโดยเฉพาะ โดยการใช้ลายนิ้วมือ ใบหน้า ควบคู่กับการลงทะเบียนโทรศัพท์มือถือด้วยบัตรประชาชน
– จัดตั้งศูนย์กลางบริหารจัดการข้อมูลผู้ใช้โทรศัพท์มือถือ บริษัทที่ให้บริการโทรศัพท์มือถือต้องดำเนินการส่งข้อมูลให้กับศูนย์กลางบริหารข้อมูลโทรศัพท์มือถือทุกครั้งที่มีการจดทะเบียนและยกเลิกการใช้งาน เพื่อให้ศูนย์กลางบริหารข้อมูลผู้ใช้โทรศัพท์มือถือ เป็นที่รวมข้อมูลการใช้งานจากทุก Operator
– การจำกัดจำนวนการลงทะเบียนการใช้งานของแต่ละบุคคลที่เหมาะสม เป็นการกำหนดหลักเกณฑ์ให้บุคคลแต่ละคนสามารถลงทะเบียนการใช้งานโทรศัพท์มือถือประเภทเติมเงินตามที่เหมาะสม
– การเปิดเผยข้อมูลพื้นฐานของผู้ครอบครองโทรศัพท์มือถือ
– การเร่งรัดให้ใช้มาตรการทางภาษีกับผู้ให้บริการสื่อออนไลน์ต่างประเทศโดยเร็ว
– การจัดตั้งศูนย์กลางเฝ้าระวัง เพื่อทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางข้อมูลและ การประสานงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการต่อการกระทำความผิดทางเทคโนโลยี ทำหน้าที่เฝ้าระวังตลอด 24 ชั่วโมงทุกวัน
ฯลฯ
การปฏิรูปในระยะยาว
– การสร้างจิตสำนึกด้านศีลธรรม คุณธรรม และจริยธรรม เป็นหัวใจสำคัญยิ่งในการที่จะทำให้เกิดการหล่อหลอมทางความคิดในทางที่ดีให้กับผู้ใช้สื่อออนไลน์
– การให้ความรู้ทางด้านเทคโนโลยี การสร้างภูมิคุ้มกัน และความตระหนักรู้ เพื่อให้ผู้ใช้สื่อออนไลน์ไม่ตกเป็นเหยื่อของเทคโนโลยี หรือข้อมูลข่าวสารเท็จ
– การรู้เท่าทันสื่อ เพื่อให้เยาวชนใช้อินเทอร์เน็ตได้อย่างปลอดภัย, การป้องกันข้อมูลส่วนตัว, การรักษาความสัมพันธ์และการสื่อสารในเชิงบวก, การป้องกันและแก้ไขปัญหาการถูกกลั่นแกล้งทางออนไลน์ (CyberBullying)
ฯลฯ
ทั้งนี้แนวทางทั้งหมดได้ผ่านการเห็นชอบจากที่ประชุมเป็นที่เรียบร้อย และเตรียมนำเสนอครม. เพื่อการพิจารณาต่อไป
สำหรับแนวทางปฏิรูปโซเชียลมีเดียในครั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นทางเทคนิคหรือทางปฏิบัติด้านจริยธรรมจะสามารถให้ผลลัพธ์ที่ดีอย่างที่ สปท. หรือแม้แต่ครม. มุ่งหวังไว้เพียงใด จะเป็นการขัดต่อสิทธิมนุษยชนด้วยหรือไม่
อ่านรายงานฉบับเต็มได้ ที่นี่