ในการผลักดันให้ประเทศไทยสามารถก้าวสู่ยุค Thailand 4.0 ได้นั้น อีกหนึ่งกลไกทื่สำคัญคือการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการสามารถมีแหล่งเงินทุนที่เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจได้ในระยะยาว…
ด้วยเหตุนี้ ทาง สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หน่วยงานในสังกัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และได้ดำเนินโครงการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนของสถาบันการเงิน ซึ่งในอดีตแหล่งเงินทุนเป็นอุปสรรคสำหรับอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ และดิจิทัลคอนเทนท์ประเทศไทย เนื่องจากผู้ประกอบการขาดการเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อนำมาใช้พัฒนาผลิตภัณฑ์หรือบริการ รวมทั้งการบริหารจัดการธุรกิจ และทำให้ธุรกิจไม่สามารถเติบโตได้ โดยสาเหตุหลักคือการที่ แหล่งเงินทุน หรือสถาบันการเงิน ส่วนใหญ่ไม่เข้าใจ และไม่ตีมูลค่าภูมิปัญญาเหล่านี้เป็นสินทรัพย์ ซึ่งแตกต่างจากธุรกิจอื่นๆที่เป็นรูปธรรมชัดเจน เห็นภาพได้ง่ายกว่า และสามารถใช้เป็นหลักประกันของธุรกิจได้
ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) กล่าวว่า เพื่อให้ประเทศไทยสามารถก้าวสู่สังคมที่สามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยดิจิทัลได้ โดยดำเนินโครงการการผลักดันให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ และดิจิทัลคอนเทนต์รวมถึงผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมอื่นๆ ได้ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลในเชิงธุรกิจเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจได้อย่างหยั่งยืน ทางสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลจึงร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตรต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย หรือ SME Development Bank ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม หรือ บสย. ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) และธนาคารออมสิน จัดทำมาตรการหรือสิทธิประโยชน์ด้านการเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อส่งเสริมให้เกิดการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพิ่มมากขึ้น
3 แนวทางสนับสนุนธุรกิจ
ซึ่งโครงการการผลักดันให้ผู้ประกอบการให้สามารถเข้าถึงแหล้งเงินทุนนั้น ทางสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล ได้วางแนวทางส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งเงินทุนแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ประกอบด้วย 1.สิทธิ์ประโยชน์ทางภาษีโดยร่วมมือกับคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ในการผลักดันผู้ประกอบการเข้าถึงสิทธิ์ประโยชน์ทาง BOI ซึ่งผู้ประกอบการที่ได้สิทธิ์นี้จะได้ประโยชน์หลายด้าน อาทิ เมื่อประกอบธุรกิจได้กำไรยังไม่ต้องเสียภาษีประจำปี ผู้ประกอบการยังมีเงินสดอยู่ในมือมีสภาพคล่องที่จะดำเนินธุรกิจต่อไปได้ 2. เรื่องการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา โดยทางสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลจะมีทีมคอยให้คำแนะนำเกี่ยวกับกับจดแจ้งลิขสิทธิ์เพื่อป้องกันการถูกระเมิด
โดยระยะเวลาในการดำเนินการผ่านสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลจะใช้เวลาเพียง 1-2 สัปดาห์ จากระยะเวลาปกติจะใช้เวลา 1-2 เดือน และจะมีการให้ความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมายต่างๆ แก่ผู้ประกอบการที่เรียกว่าศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ และ 3.การสนับสนุน ผู้ประกอบการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ซึ่งเป็นความร่วมมือกับทางสถาบันการเงินพันธมิตร ในการอำนวยความสะดวก ลดความยุ่งยากสำหรับการกู้เงินโดยไม่จำเป็นต้องมีหลักทรัพย์มาค้ำประกัน ซึ่งในปีที่ผ่านมามีผู้ประกอบการสนใจกว่า 311 ราย คิดเป็นมูลค่าวงเงินที่ได้รับกว่า 1,077 ล้านบาท
ซึ่งในปีแรกอาจจะได้ผลไม่มากและไม่สามารถสนับสนุนได้ครอบคลุมหมด แต่เมื่อผ่านไปปีที่ 2 และปีที่ 3 เชื่อว่าโครงการจะมีขนาดใหญ่ขึ้นและจะสามารถตอบโจทย์ผู้ประกอบการที่มีอยู่ทั้งหมดประมาณ 1,000 รายได้ นอกจากนี้ความร่วมมือที่เกิดขึ้นระหว่างสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลกับสถาบันการเงินพันธมิตรครั้งนี้ จะช่วยพัฒนาอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ของประเทศ และสอดรับกับนโยบายของรัฐบาลที่จะช่วยเพิ่มศักยภาพเศรษฐกิจของประเทศโดยการบูรณาการความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน โดยผู้ประกอบการที่สนใจสามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.sipa.or.th/th/services
สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ฝ่ายส่งเสริมการตลาด 2 สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือที่เบอร์โทรศัพท์ 0-2141-7162 อีเมล์ mpd2@sipa.or.th และสามารถเข้าเยี่ยมชมโครงการประจำปี ร่วมถึงโครงการ Flagship อื่นๆของสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลกว่า 20 โครงการ ได้ที่เว็ปไซต์ www.sipa.or.th/th/projects