Digital Economy หรือ DE ถือเป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญของรัฐบาล ที่ต้องการผลักดันประเทศไทยไปสู่ประเทศที่มีรายได้สูง หรือประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และวางรากฐานของเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศอย่างจริงจัง เพื่อทำให้ทุกภาคเศรษฐกิจก้าวหน้าไปได้ทันโลก และสามารถแข่งขันในโลกสมัยใหม่ได้
ในการพัฒนาเศรษฐกิจในยุคปัจจุบัน เราจะเห็นได้ว่า ผู้ประกอบการ SMEs ถือเป็นกลไกสำคัญต่อการเติบโตของเศรษฐกิจหลายประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนาเช่นประเทศไทย ซึ่งมีจำนวนผู้ประกอบการ SMEs เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปัจจุบัน จำนวนกิจการที่อยู่ในระดับผู้ประกอบการ SMEs นั้นมีอยู่กว่า 2.78 ล้านราย โดยเป็นผู้ประกอบการ SMEs ในระบบ 1.9 ล้านราย แสดงให้เห็นว่ายังมีผู้ประกอบการ SMEs ที่ยังไม่ได้เข้ามาอยู่ในระบบอีกกว่า 8 แสนกว่าราย ซึ่งจากจำนวนดังกล่าวมีผู้ประกอบการ SMEs ที่สามารถอยู่รอดและเติบโตได้เพียงแค่ 20 เปอร์เซ็นต์
สาเหตุหลักที่มักจะพบคือ การขาดการสนับสนุน มีแหล่งเงินทุนไม่พอ รวมถึงไม่สามารถปรับตัวได้ทันกับยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะในยุคดิจิทัลที่เทคโนโลยีได้เข้ามาเปลี่ยนแปลงหลายสิ่งหลายอย่าง ทั้งในแง่การแข่งขันทางธุรกิจ และในแง่ของพฤติกรรมผู้บริโภค ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลของ สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ ซิป้า พบว่า ผู้ประกอบการ SMEs ส่วนใหญ่ในประเทศไทยยังใช้วิธีการเดิม ๆ ในการทำธุรกิจ เหนื่อยจากขาดความรู้ ความเชื่อมั่น รวมถึงทักษะทางด้านการใช้เทคโนโลยี ไอซีที เข้าไปปรับธุรกิจยุคใหม่
Digital Transformation to Intelligence SMEs
จากสถานการณ์ธุรกิจในปัจจุบัน จะพบว่าผู้ประกอบการ SMEs ไทยยังคงต้องเผชิญกับความท้าทายที่เพิ่มขึ้นทั้งจากปัจจัยภายในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการแข่งขันที่สูงขึ้นจากจำนวนผู้ประกอบการ SMEs ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง การดำเนินนโยบายของภาครัฐ ดังนั้น โจทย์สำคัญของผู้ประกอบการ SMEs ในประเทศไทยในวันนี้คือการเปลี่ยนวีธีการทำตลาด ด้วยการปรับใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเข้าไปปรับเปลี่ยนองค์กรในระดับตั้งแต่หัวใจของธุรกิจจนถึงการส่งมอบคุณค่าให้กับผู้บริโภค และต้องสามารถลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงข้อมูล และความสิ้นเปลืองจากการลงทุนที่ไม่จำเป็นเพื่อสร้างพื้นฐานในการเติบโตอย่างยั่งยืน ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาสินค้าและบริการใหม่ ๆ
แม้ว่าปัจจุบันจะมีหลายหน่วยงานที่สนับสนุนผู้ประกอบการ SMEs ให้มีความสามารถในการแข่งขัน แต่ก็ยังขาดการประสานงานที่สมบูรณ์ โดยเฉพาะเมื่อต้องติดต่อกับหน่วยงานรัฐ จากจุดนี้เอง จึงทำให้ทางสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ ซิป้า ได้เดินหน้ากลยุทธ์ในการพัฒนาผู้ประกอบการ SMEs ด้วยการจัดทำโครงการ “พัฒนาผู้ประกอบการเข้าสู่ระบบการค้าแบบดิจิทัลสู่ภาคอุตสาหกรรม” (Business Transformation to Digital Economy) โดยร่วมกับ 8 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านเศรษฐกิจของประเทศ เพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบการ SMEs ไทยในภาคอุตสาหกรรมสามารถเรียนรู้ในการทำ E-Business ตั้งแต่พื้นฐานไปจนถึงสามารถสร้างห่วงโซ่อุปทานที่เชื่อมโยงกันด้วยเทคโนโลยี หรือ E-Supply Chain ไม่ว่าจะเป็นเป็น E–Catalog, E-Commerce, E-Inventory, E-Invoice รวมถึงระบบสินค้า Stock Online ที่จะช่วยสะท้อนถึงความต้องการซื้อ (Demand) และความต้องการขาย (Supply) ตลอดจนการชำระเงินออนไลน์ หรือ E-Payment ซึ่งจะก่อให้เกิด Market Place ในรูปแบบการแลกเปลี่ยน การซื้อ-การขายสินค้า หรือ Business-to-Business (B2B) อย่างมีประสิทธิภาพ และเหมาะสมกับโครงสร้างธุรกิจ (Business Model) ขององค์กร
โครงการดังกล่าวช่วยสร้างกระบวนการทำงาน (Operation Process) ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นโดยใช้ระบบปฏิบัติการหรือเครื่องมือต่าง ๆ ที่ช่วยด้านการตัดสินใจ หรือพัฒนากระบวนการที่ช่วยให้องค์กรลดต้นทุนด้านค่าใช้จ่ายในการลงทุนระยะยาวที่ทำให้องค์กรมีการจัดการที่ดีขึ้น และยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการแข่งขัน ทั้งยังช่วยเหลือในเรื่องของการวางแผนกลยุทธ์ได้อย่างดี รวมไปถึงช่วยในการสร้างปฏิสัมพันธ์กับคู่ค้า (Customer Experience) ด้วยการส่งมอบประสบการณ์ ความสัมพันธ์ระหว่างองค์กร สินค้า หรือบริการกับคู่ค้า หรือลูกค้า
วันนี้การทำธุรกิจผ่านอิเล็กทรอนิกส์อย่างเป็นรูปธรรม เป็นส่วนสำคัญที่สามารถทำให้ผู้ประกอบการ SMEs สามารถสร้างรายได้ผ่านช่องทางที่รวดเร็ว ลดปัญหา และข้อจำกัดในการเปลี่ยนแปลงธุรกิจแบบเดิม ๆ ไปสู่การทำธุรกิจในรูปแบบของเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy) เพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือ และก้าวทันต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและช่วยพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทยให้มีความเข้มแข็ง และมีศักยภาพในการแข่งขัน ทั้งในและต่างประเทศ ผู้ประกอบการ SMEs จึงจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการทำการตลาดที่เปลี่ยนแปลงไปสู่รูปแบบ “การตลาดอิเล็กทรอนิกส์” (Digital Marketing) ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญในการทำตลาดยุคใหม่ด้วยการเรียนรู้เทคโนโลยีสมัยใหม่ เช่น การโฆษณา ประชาสัมพันธ์บนสื่อออนไลน์ และเครือข่ายสื่อสังคมออนไลน์ เช่น Facebook, Twitter, Instagram, Line หรือ YouTube เข้ามาช่วยส่งเสริมกิจกรรมทางการตลาด
สำหรับแนวทางเพื่อให้ผู้ประกอบการ SMEs เข้าใจประโยชน์จากการใช้เทคโนโลยี ทางสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ ซิป้า ไม่เพียงแต่ให้ความรู้ และความช่วยเหลือพร้อมกับให้คำปรึกษาแนะนำแก่ผู้ประกอบการ ให้สามารถเรียนรู้ในการทำ E-Business ตั้งแต่พื้นฐาน จนถึงสามารถสร้างห่วงโซ่อุปทานที่เชื่อมโยงกันด้วยเทคโนโลยีผ่านการสัมมนา แต่ยังรวมไปถึงการจัดทำคู่มือและจัดอบรมให้ผู้ประกอบการอย่างใกล้ชิด สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ ซิป้า ยังสนับสนุนผู้ประกอบการรายย่อยที่มีความสนใจในการทำธุรกิจผ่านช่องทางการตลาดออนไลน์ กับผู้ให้บริการโซลูชันที่มีศักยภาพของประเทศไทยเข้ามาพูดคุยกัน เพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีที่ไม่แพง แต่มีประสิทธิภาพไม่แพ้เทคโนโลยีจากผู้ให้บริการข้ามชาติอีกด้วย ร่วมไปถึงยังได้ร่วมมือกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยในการสร้างร้านค้าออนไลน์บนเว็บไซต์ www.ftibusiness.com เพื่อเป็นช่องทางให้ ผู้ประกอบการรายเล็ก (SMEs) มีช่องทางในการเชื่อมต่อสู่การตลาดดิจิทัลอีกด้วย
จากแนวทางที่ทางสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ ซิป้า ได้วางแผนในการดำเนินงานไว้จะสร้างในผู้ประกอบการ SMEs ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการขับเคลื่อนธุรกิจเล็ก ๆ ให้เติบโต และกลายเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีความแข็งแกร่งในอนาคต ซึ่งจะก่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจและการส่งออกกลับมาอย่างมหาศาลในอนาคต
[…] post SIPA ติดอาวุธ SMEs ไทย ด้วย Digital Marketing appeared first on […]