SIPA ย้ำจุดยืน ผลักดันอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยยุคดิจิทัล

SIPA จัดงาน  Fostering Thailand’s Digital Economy ซิป้าหนุนไทย ก้าวไกลสู่เศรษฐกิจดิจิทัล ประกาศจุดยืนเน้นย้ำภารกิจอยู่คู่อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย พร้อมขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เติบโตก้าวไกลสู่เศรษฐกิจดิจิทัลอย่างสร้างสรรค์

ภายในงาน Fostering Thailand’s Digital Economy ที่จัดขึ้นโดย SIPA หรือ สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) เป็นการแถลงนโยบายและแสดงโรดแมปในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยสู่เศรษฐกิจดิจิทัลของ SIPA โดยนางจีราวรรณ บุญเพิ่ม ประธานกรรมการบริหาร สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ กล่าวว่า SIPA ยังคงสถานะเป็นสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) ต่อไป เพื่อผลักดันให้ผู้ประกอบการไทย นักธุรกิจไทย ได้ปรับตัวและสามารถทำเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต ซึ่งวัตถุประสงค์ของการจัดงานในครั้งนี้ เพื่อเป็นการตอกย้ำให้พันธมิตรของ SIPA มีความเชื่อมั่นและร่วมเดินหน้าไปกับ SIPA ต่อไป

จีราวรรณ-บุญเพิ่ม-1
นางจีราวรรณ บุญเพิ่ม ประธานกรรมการบริหาร สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ หรือ SIPA

ในภารกิจของ SIPA นอกจากการจัดทำแผนพัฒนาซอฟต์แวร์แล้ว ยังทำหน้าที่ส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทยเพื่อก้าวไปสู่มาตรฐานสากล การหาตลาดให้กับผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ไทย รวมไปถึงการพัฒนาบุคลากร นอกจากนี้ SIPA ยังเข้าไปมีบทบาทร่วมกับ SME ด้านการใช้เทคโนโลยี มีการพัฒนาโค้ชหรือผู้ฝึกสอนการใช้ซอฟต์แวร์เพื่อให้คำแนะนำการใช้ซอฟต์แวร์แก่ผู้ประกอบการ SME อย่างถูกต้อง โดยในการพัฒนาบุคลากรจะเป็นไปในลักษณะของความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยในแต่ละภูมิภาค เพื่อก่อให้เกิดการสนับสนุบ SME ด้านการใช้ซอฟต์แวร์ที่ต่อเนื่องและยั่งยืน

ในส่วนของ Tech Startup เป็นอีกโครงการที่ SIPA ให้การสนับสนุน โดยปัจจุบัน SIPA มองว่ามีนักศึกษาที่เรียนไอทีเป็นจำนวนมาก แต่ยังขาดบรรยากาศที่จะช่วยผลักดันให้นักศึกษาเหล่านี้ได้นำไอเดียด้านไอทีออกมาใช้ ดังนั้น SIPA จึงทำการสำรวจมหาวิทยาลัยกว่า 40 แห่ง ที่มีการสอนด้านไอที โดยพบว่าในมหาวิทยาลัยส่วนใหญ่มีชมรมที่ให้ความรู้การศึกษาไอที ดังนั้น SIPA จึงมีการจัดสัมมนาร่วมกับมหาวิทยาลัย เพื่อยกระดับชมรมไอทีให้มีความก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น จนนำไปสู่การสร้างไอเดียใหม่ๆ ทางเทคโนโลยี

นอกจากนี้ SIPA ยังมุ่งเน้นผลักดันโครงการประจำปีและโครงการ Flagship ในปี 2559 เพื่อเสริมศักยภาพอุตสาหกรรมด้านต่างๆ ทั้งด้านการท่องเที่ยวที่เกี่ยวข้องกับ Thailand Tourism Open Platform โครงการ TECH STARTUP โครงการ HEALTHCARE เกี่ยวกับ Personal Health Record การเชื่อมโยงข้อมูลจากระบบ HIS และข้อมูลสุขภาพจังหวัด เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลได้ ได้ โครงการSMEs ใช้ ICT และทำ E-Business โครงการ Phuket Smart City เพื่อสร้างอุตสาหกรรมดิจิทัลที่จังหวัดภูเก็ตให้เป็นสถานที่ทำงาน และเจรจาธุรกิจของนักทำงานด้านดิจิทัลและนักลงทุน

อีกทั้งการพัฒนาบุคลากรและส่งเสริมผู้ประกอบการทั้งระดับประเทศ และระดับโลกผ่านเวทีประกวดได้แก่  THAILAND ICT AWARDS: การประกวดผลงานซอฟต์แวร์ดีเด่นแห่งชาติ THAILAND DIGI CHALLENGE: การประกวดผลงาน Digital Content ดีเด่นแห่งชาติ, ANGEL IN THE CITY: การประกวดผลงานผู้ประกอบการซอฟต์แวร์รายใหม่แห่งชาติ, ASIA PACIPIC ICT AWARDS, ACM-ICPC ASIA: เจ้าภาพการแข่งขันเขียนโปรแกรมระดับโลก, ASIAN ANIMATION SUMMIT: Pitching ด้านAnimation ที่เกาหลีใต้ ขณะที่การส่งเสริมด้านการตลาดยังมุ่งมั่นในการจัดงาน SOFTWARE EXPO ASIA: มหกรรมการแสดงนวัตกรรมดิจิทัล และซอฟต์แวร์ในภูมิภาคเอเชีย, งานฺBANGKOK ENTERTAINMENT WEEK & BANGKOK INTERNATIONAL DIGITAL CONTENET FESTIVAL งาน BUSINES MATCHING: งานเจรจาธุรกิจด้านเกมส์ เป็นต้น

ภายหลังจากเสร็จสิ้นการแถลงนโยบาย SIPA ได้มีการมอบรางวัลให้แก่บริษัทผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ดีเด่น จำนวน 6 รางวัลได้แก่

sipa-2

1. ประเภท Public Sector จากบริษัท Bollinger & Company (Thailand) Ltd. เป็นผลงานที่ทำให้กับกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ชื่อผลงาน : เว็บไซต์คลังข้อมูลทางการค้าของไทย (Nation Trade Repository : NTR)

2. ประเภท Private Sector จากบริษัท สยามสแควร์ เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด ชื่อผลงาน Stock Radars

3. ประเภท Corporate Social Responsibility จากบริษัท วันทูโกลด์อินเตอร์กรุ๊ป ชื่อผลงาน ระบบบริหารลูกค้าสัมพันธ์ (CRM) & การบริหารจัดการธนาคารเลือด โรงพยาบาลศูนย์ (Smart Blood Bank Management System)

4. ประเภท Digital Content จากบริษัท ทรีนิตี้ โปรเจค จำกัด ชื่อผลงาน MATRIX DSLRs Control Suite

5. ประเภท Start-Up Company จากบริษัท ฟิกซิ จำกัด ชื่อผลงาน FIXZY Application

6. ประเภท Research and Development จากบริษัท ที-เน็ต จำกัด ชื่อผลงาน Drone Jammer

ภายในงาน Fostering Thailand’s Digital Economy ที่จัดขึ้นโดย SIPA ยังได้มีการจัดแสดงนิทรรศการ อันเป็นส่วนหนึ่งของโครงการที่ SIPA ดำเนินโครงการอยู่ในขณะนี้ โดยผมได้มีโอกาสพูดคุยอีกครั้งกับคุณประชา อัศวธีระ ผู้จัดการสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ SIPA สำนักงานภาคใต้ ภูเก็ต เกี่ยวกับความคืบหน้าของโครงการ Smart City ที่จังหวัดภูเก็ต (อ่านข่าวเก่า ภูเก็ต กับแผนการสู่ความเป็น Smart City ในปี 2020 ได้ที่นี่) 

ซึ่งคุณประชา ให้ข้อมูลว่า ความก้าวหน้าของโครงการ Smart City ที่จังหวัดภูเก็ต ขณะนี้มีความชัดเจนมากขึ้นในเรื่องของการติดตั้งกล้อง CCTV เพิ่มเติม, เซนเซอร์ประเภทต่างๆ, จุดกระจายสัญญาณ Wi-Fi เป็นต้น โดยเวลานี้บริเวณป่าตอง มีการติดตั้งเสาสัญญาณปล่อย Wi-Fi ไปแล้ว 120 จุด มีเทคโนโลยี Beacons แล้วกว่า 20 จุด

ขณะที่การพัฒนาแอพพลิเคชั่นสำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ กำลังอยู่ในระหว่างดำเนิน ซึ่งเวลานี้ได้มีการกำหนดกรอบรูปแบบการให้บริการออกเป็น 4 ด้าน ได้แก่ 1. Smart Directory การรับรู้แหล่งท่องเที่ยวในจังหวัดภูเก็ตว่ามีอะไรบ้าง 2. Smart Life การแสดงข้อมูลของวิถีชีวิตในจังหวัดภูเก็ต คนในจังหวัดกำลังให้ความสนใจกับเรื่องอะไรในขณะนั้น พร้อมกับมีการแสดงผลในรูปแบบของโปรโมชันเพื่อให้นักท่องเที่ยวสามารถใช้เป็นส่วนลดเมื่อเข้าไปใช้บริการในร้านอาหาร หรือแหล่งท่องเที่ยวอื่นๆ ได้ 3. เป็นเรื่องของการแจ้งเหตุฉุกเฉิน และ 4. Booking เป็นเชื่อมโยงกับใบจองโรงแรมของนักท่องเที่ยว รวมถึงสามารถมีฟีเจอร์ Return Activity เพื่อให้นักท่องเที่ยวที่เคยมาภูเก็ตและใช้แอพฯ นี้ เมื่อกลับไปต่างประเทศก็ยังสามารถแสดงข้อมูลของจังหวัดภูเก็ตให้รับทราบ เพื่อเชิญชวนให้กลับมาเยือนภูเก็ตอีกครั้งได้

sipa-3

sipa-4

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here