สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ SIPA ได้ดำเนินการสำรวจการใช้ซอฟต์แวร์ของภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยว โลจิสติกส์ และบริการสุขภาพ เผยยังคงต้องการใช้ซอฟต์แวร์ไทยที่ตอบสนองความต้องการได้ในทุกมิติของการทำงาน ทั้งซอฟต์แวร์เฉพาะด้านของแต่ละธุรกิจ และซอฟต์แวร์บริหารงานในองค์กร ทั้งในกลุ่มผู้ประกอบการขนาดกลาง-เล็ก
นายไตรรัตน์ ฉัตรแก้ว ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ หรือ ซิป้า
ส่วนกลุ่มผู้ประกอบการรายใหญ่ยังควรมีการศึกษาความต้องการใช้ในเชิงลึก รวมถึงเสริมกิจกรรมการอบรมและให้ความรู้ในเรื่องประโยชน์การใช้ไอที เพื่อให้สามารถนำไปต่อยอดการดำเนินธุรกิจ พัฒนาการให้บริการ รวมถึงใช้ในการปรับกลยุทธ์ทางธุรกิจให้เหมาะสมกับสถานการณ์ เพิ่มศักยภาพในการแข่งขันได้ดียิ่งขึ้น
นายไตรรัตน์ ฉัตรแก้ว ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ หรือ ซิป้า กล่าวว่า โครงการสำรวจการใช้ซอฟต์แวร์ในภาคอุตสาหกรรม ประจำปี 2556 นี้ จัดทำขึ้น เพื่อศึกษา รวบรวม และวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับสถานะภาพ และความต้องการใช้ซอฟต์แวร์ในอุตสาหกรรมหลักของประเทศ เพื่อนำไปวางกรอบนโยบายในการส่งเสริมการใช้ และการผลิตซอฟต์แวร์ต่อไปในอนาคต
“จากผลการสำรวจทำให้เห็นภาพของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเหล่านี้ว่า แม้จะมีการใช้ซอฟต์แวร์อยู่ และยังคงมีความต้องการใช้ซอฟต์แวร์อยู่ค่อนข้างสูง จึงควรส่งเสริม และอบรมให้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเป้าหมายทั้งขนาดกลาง-เล็ก ได้มีพื้นความรู้ในการใช้ซอฟต์แวร์อย่างถูกต้อง เพื่อให้การดำเนินงานมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น นอกจากนั้น ซิป้ายังมุ่งส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาบุคลากร เพื่อรองรับความต้องการพัฒนาซอฟต์แวร์ใช้งานเองในกลุ่มผู้ประกอบการขนาดใหญ่ ที่มีความต้องการเฉพาะตามแต่อุตสาหกรรมหลักต่างๆ ของประเทศอีกด้วย” นายไตรรัตน์กล่าว
สำหรับผลการสำรวจพบว่า อุตสาหกรรมท่องเที่ยว (Tourism) แม้ว่ากลุ่มผู้ประกอบการมีการใช้ซอฟต์แวร์ในการดำเนินธุรกิจในทุกขนาดธุรกิจ แต่อย่างไรก็ตามจากผลการสำรวจยังพบข้อมูลบ่งชี้สำคัญว่า ผู้ประกอบการกลุ่มอุตสาหกรรมท่องเที่ยวทุกขนาดยังคงมีความต้องการใช้ซอฟต์แวร์อยู่เนื่องจาก ซอฟต์แวร์ที่ใช้อยู่ยังไม่ตอบสนองความต้องการในการใช้งานได้ทั้งหมด โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการขนาดเล็กที่ยังขาดความรู้ ความเข้าใจในการใช้งานซอฟต์แวร์ ตลอดจนการใช้งานซอฟต์แวร์ที่มีอยู่ยังพบปัญหาในการใช้งาน บางโมดูลยังมีความซับซ้อน ทั้งนี้ผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ควรปรับให้มีรูปแบบการใช้งานที่ง่ายยิ่งขึ้น หรือควรจัดอบรมการใช้งานเพื่อพัฒนาความพร้อมให้แก่ผู้ใช้งาน (user)
ด้านอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ (Logistics) พบว่า ผู้ประกอบการมีการใช้ซอฟต์แวร์ในการดำเนินธุรกิจเช่นกัน โดยในกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจขนาดเล็กยังคงมีการใช้ซอฟต์แวร์ในจำนวนที่น้อยกว่าอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดใหญ่ และยังมีความต้องการใช้ซอฟต์แวร์ระบบบริหารการขนส่ง รวมถึงแนวโน้มความต้องการซอฟต์แวร์บริหารการซ่อมบำรุงตัวรถ นอกจากนี้ผู้ประกอบการในทุกขนาดยังคงมีความต้องการใช้ซอฟต์แวร์บริหารงานในองค์กรอีกด้วย ซึ่งแสดงให้เห็นถึงโอกาสทางตลาดที่ยังคงเปิดรอรับอยู่ หากมีการพัฒนาซอฟต์แวร์บริหารองค์กร เพื่อช่วยแก้ปัญหา และเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจในอุตสาหกรรมกลุ่มนี้
เช่นเดียวกับ อุตสาหกรรมบริการสุขภาพ (Healthcare Services) ที่ผลการสำรวจ พบว่า ผู้ประกอบการขนาดกลาง และขนาดใหญ่ มีการใช้ซอฟต์แวร์ในการดำเนินธุรกิจ แต่ผู้ประกอบการขนาดเล็กยังมีการใช้ซอฟต์แวร์อยู่ไม่มากนัก และผลสำรวจในภาคอุตสาหกรรมบริการสุขภาพผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังคงมีความต้องการซอฟต์แวร์ด้านโรงพยาบาลที่มีมาตรฐานการแลกเปลี่ยนข้อมูล ซึ่งนักพัฒนาซอฟต์แวร์จำเป็นต้องพัฒนาซอฟต์แวร์ให้มีมาตรฐาน พร้อมการให้บริการหลังการขาย ที่ถือเป็นสิ่งสำคัญ
อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการทั้ง 3 กลุ่มอุตสาหกรรม มีข้อพิจารณาในการเลือกซื้อซอฟต์แวร์ คือ ซอฟต์แวร์ใช้งานได้ครอบคลุม ใช้งานได้ง่าย และมีราคาที่สมเหตุสมผล นอกจากนี้ แหล่งที่ใช้ในการหาข้อมูลเพื่อประกอบการตัดสินใจซื้อ พบว่าทั้ง 3 กลุ่มอุตสาหกรรม หาข้อมูลผ่านอินเทอร์เน็ตสูงถึงร้อยละ 67 และจากคำแนะนำของผู้มีประสบการณ์ใช้งาน ร้อยละ 60 ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าระบบอินเทอร์เน็ตกลายเป็นสิ่งจำเป็นของคนยุคปัจจุบัน ส่วนการแนะนำจากผู้ใช้งานโดยตรง (Words of mouth) ก็ยังคงเป็นช่องทางที่ทรงพลังในการหาข้อมูลของผู้บริโภคซอฟต์แวร์ในสังคมออนไลน์อีกด้วย